พิเศษ
10 วิธีเตรียมตัว เที่ยวป่า ดูนก
การดูนกเป็นกิจกรรมที่ให้ความสุข ความเพลิดเพลิน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงานหรือสภาพแวดล้อมที่จำเจ สภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์ ช่วยให้เราได้รับอากาศบริสุทธิ์และเสริมสุขภาพให้แข็งแรง รวมทั้งยังนำเราไปรู้จักสิ่งแวดล้อมรอบตัว ได้เรียนรู้ชีวิตและประโยชน์ของนกที่มีต่อธรรมชาติการดูนกยังช่วยสร้างความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตให้เราตระหนักถึงคุณค่าของนกที่มีมากกว่าที่เคยคิด
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตตะวันออก (ORIENTAL REGION) มีลักษณะเด่นทางชีวภูมิศาสตร์หลายประการ และได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางชีวภาพ (ZOOLOGICAL CROSSROAD)
ชนิดของนกที่พบในประเทศไทย มีหลายกลุ่มย่อย (SUB-REGION) ของเขตตะวันออก มีกลุ่มอินโด-พม่า (INDO-BURMESE) ที่มีถิ่นอาศัยครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ตะวันออกของอินเดียจนถึงพม่า, กลุ่มอินโดจีน (INDO-CHINESE) เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ทางอัสสัม พม่า ไทย ประเทศกลุ่มอินโดจีน (กัมพูชา ลาว เวียดนาม) จีนตอนใต้ เกาะฟอโมซา เกาะในทะเลอันดามัน รวมทั้งเกาะนิโคบา,กลุ่มซุนดา (SUNDAIC) หรือ กลุ่มมาเลเซียน (MALAYSIAN) ที่พบทางภาคใต้ของไทยจรดมาเลเซียเกาะซุนดา สุมาตรา ชวา บอร์เนียว, กลุ่มจีนหิมาลัย (AINO-HIMALAYAN) ชนิดที่พบตามภูเขาสูงในภาคเหนือ พบได้ตั้งแต่แคว้นแคชเมียร์ ทิเบต จนถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งมีนกที่ย้ายถิ่นเข้ามาในฤดูหนาว จากตอนเหนือของทวีปเอเชีย หรือเรียกว่า เขตพาลีอาร์คติค (PALEARCTIC-REGION) อีกหลายชนิด
ปัจจุบันนกที่พบในประเทศไทยมี 962 ชนิด ประมาณร้อยละ 10 เป็นชนิดของนกที่มีอยู่ทั่วไปในโลกแต่มีนกเฉพาะถิ่นที่ไม่พบที่ใดในโลก (ENDEMICS) เพียง 2 ชนิด คือ นกเจ้าฟ้าสิรินธร (WHITE-EYEDRIVER MARTIN) และนกกินแมลงแดกแนน (DEIGNAN'S BABBLER)
สภาพภูมิอากาศในแต่ละภาคของประเทศไทย มีความแตกต่างกัน เช่น ภาคใต้และภาคตะวันออกมีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ลมมรสุมพัดผ่านเพราะอยู่ใกล้ทะเล ทำให้มีฝนตกตลอดปี ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีภูมิอากาศแบบชื้นกึ่งเขตร้อน ชนิดนกและแหล่งดูนกจึงขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และความสมบูรณ์ของป่าในแต่ละพื้นที่ แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์จะถูกบุกรุกในแทบทุกภาคของประเทศ
ภาคกลาง เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่ราบลุ่ม ทุ่งน้ำขัง ชายทะเลโคลน แหล่งดูนกรอบกรุงเทพ ฯและชายฝั่งอ่าวไทย เช่น ปทุมธานี กำแพงแสน สุพรรณบุรี บางปู สมุทรสาคร เพชรบุรี นครนายก
ภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง พื้นที่สูงที่สุด 2,565 เมตร อยู่ที่ดอยอินทนนท์ ประกอบด้วย ป่าเต็งรังป่าโปร่ง ป่าดิบชื้น ป่าสน ป่าดิบเขา ปัจจุบันพื้นที่บนภูเขาหลายแห่งถูกบุกรุกเป็นจำนวนมากแหล่งดูนก เช่น ดอยอินทนนท์ ดอยปุย-สุเทพ ดอยเชียงดาว ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก แม่ฝาง ท่าตอน เชียงแสน ดอยม่อนจอง แม่ปิง ลุ่มน้ำปาย สาละวิน แม่เมย ดอยขุนตาล ดอยผาเมือง ดอยผาช้าง ดอยลังกา ดอยภูคา
ภาคตะวันตก มีผืนป่าที่สมบูรณ์และกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศ มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นเขตแดนจนถึงภาคใต้ พื้นที่สูงน้อยกว่าภาคเหนือ ภูเขาสูง 1,811 เมตร ประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ แหล่งดูนก เช่น อุ้มผาง ทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง เกริงกะเวีย ทองผาภูมิ แก่งกระจาน แม่น้ำภาชี เขาสามร้อยยอด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ราบสูงมีพื้นที่สูงสุดที่บริเวณดงพญาเย็น สูงประมาณ 1,200-1,500 เมตร ประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าดิบบางส่วน แหล่งดูนก เช่น เขาใหญ่ ปางสีดา ทับลาน ภูหลวงน้ำหนาว ภูหินร่องกล้า ภูเขียว
ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ราบและภูเขาสูงอยู่ที่เขาสอยดาว สูงประมาณ 1,670 เมตร ประกอบด้วย ป่าดิบฝน ดิบแล้งบางส่วน และป่าชายเลนริมชายฝั่งทะเล แหล่งดูนก เช่น เขาสอยดาว เขาอ่างฤาไน เขาเขียว บางพระ
ภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำและภูเขา พื้นที่สูงสุด 1,835 เมตร อยู่ที่เขาหลวง ฝนตกชุกทำให้พื้นที่ประกอบไปด้วย ป่าดิบฝน และป่าชายเลนริมฝั่งทะเล ปัจจุบันพื้นที่สมบูรณ์หลายแห่งถูกตัดถางเป็นสวนยาง ปาล์ม แหล่งดูนก เช่น คลองนาคา คลองแสง เขาสก เขาหลวง คลองพระยา เขาพนมเบญจาเขานอจู้จี้ บ้านไนช่อง เขาปู่-เขาย่า เขาช่อง โตนงาช้าง ทะเลบัน บูโด-สุไหงปาดี ฮาลาบาลา เกาะลิบงทะเลน้อย
แหล่งดูนกใกล้กรุงเทพ ฯ
สำหรับคนกรุงเทพ ฯ ที่อยากดูนกแต่ไม่อยากเดินทางไกล เราขอแนะนำสถานที่ใกล้ๆ 4 แห่ง ได้แก่
- สถานที่ตากอากาศบางปู จ. สมุทรปราการ ส่วนใหญ่เป็นนกชายเลนและนกทะเลมีบ้างที่เป็นนกป่าโกงกาง นกที่น่าสนใจคือ นกนางนวล นกซ่อมทะเลอกแดง นกยางเขียว นกกระจ้อยป่าโกงกาง และนกนางนวลแกลบ
การเดินทาง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางปูใหม่ ริมถนนสุขุมวิท ประมาณกิโลเมตรที่ 37ตรงข้ามกับนิคมอุตสาหกรรมบางปู
- ชายทะเลบ้านกาหลง จ. สมุทรสาคร กลางเดือนกันยายนจะเริ่มมีนกชายเลนทยอยย้ายถิ่นฐานมาที่นี่นกที่พบได้แก่ นกตีนเทียน นกหัวโตทรายเล็ก นกอีก๋อยเล็ก นกทะเลขาแดงลายจุด นกชายเลนปากโค้งนกพลิกหิน และฝูงนกนางนวลแกลบ (TERNS) นอกจากนี้ หาดโคลนที่นี่ยังเป็นทำเลที่พบนกหายากของโลก 3 ใน 51 ชนิด ที่ขึ้นบัญชีไว้ใน RED DATA BOOK คือ นกชายเลนปากช้อน นกทะเลเขาเขียวลายจุด และนกซ่อมทะเลอกแดง
การเดินทาง จากกรุงเทพ ฯ มุ่งหน้าไปมหาชัย ทางแยกเข้าทะเลกาหลงผ่านสะพานข้ามคลองสุนัขหอน มีทางกลับรถเลี้ยวไปตามทางประมาณ 2 กิโลเมตร จะเจอวัดกาหลง จากวัดกาหลงจะมีทางแยกเล็กๆ ด้านขวามือ ข้ามทางรถไฟจะเห็นนาเกลือ เริ่มต้นดูนกได้จากจุดนี้ถึงชายทะเล ระยะทางราว 3 กิโลเมตร
- วัดไผ่ล้อม จ. ปทุมธานี เป็นแหล่งที่นกปากห่างทำรังวางไข่ นอกจากนี้ยังพบนกกระเต็นหัวนกเด้าลมดง นกเค้าจุด บางครั้งอาจจะพบ นกกระทุง และนกกุลา
การเดินทาง ใช้เส้นทางถนนสายปทุมธานี-สามโคก เลยที่ว่าการอำเภอสามโคกถึงวัดสามัคคียารามลงเรือข้ามฝากไปวัดไผ่ล้อม หรือจะนั่งรถสองแถวไปวัดไผ่ล้อมจากหัวถนนติวานนท์ (ทางหลวงหมายเลข 306) ถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 346 ทางซ้ายมือมีทางราดยางเข้าสู่วัดเสด็จและวัดไผ่ล้อม ระยะทาง 15 กิโลเมตร ไปลงที่หน้าวัดไผ่ล้อม
- อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์ พบนกในราว 296 ชนิดอาศัยหากินในพื้นที่อุทยาน ฯ โดยเฉพาะบริเวณทุ่งสามร้อยยอด เช่น นกกาบบัว (นกกระสาแดง) เป็ดหางแหลม นกอินทรีปีกลาย รวมไปถึง นกจาบคาหัวสีส้ม นกกะรางหัวขาน เหยี่ยวนกออก อีกด้วย
การเดินทาง จากกรุงเทพ ฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถึงสี่แยกปราณบุรีเลี้ยวซ้าย ประมาณ 4 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางไปอุทยาน ฯ ให้เลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. อีกประมาณ 31 กิโลเมตรจะถึงที่ทำการ ฯ อีกเส้นทางหนึ่งคือ จากทางหลวงหมายเลข 4 เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 276.5 (บ้านสำโหรง) ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนน รพช. อีก 14 กิโลเมตร ถ้าเดินทางโดยรถทัวร์หรือรถไฟ ลงรถที่อำเภอปราณบุรี จากนั้นขึ้นรถรับจ้างในบริเวณที่ทำการ ฯ
คู่มือสำหรับนักดูนกมือใหม่
อุปกรณ์ดูนก
ส่วนใหญ่นกที่พบเห็นในธรรมชาติล้วนมีขนาดเล็ก และยังตกใจง่ายจนแทบไม่มีทางเข้าใกล้ได้เลยดังนั้นการดูนกคงไม่สนุกแน่หากนักดูนกไม่มีโอกาสเห็นนกอย่างชัดเจนอุปกรณ์ดูนกจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้ดูนกได้อย่างเพลิดเพลิน
1. กล้องส่องทางไกล เป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุด กล้องส่องทางไกลจะช่วยขยายภาพนกที่อยู่ระยะไกลให้เห็นได้ชัดเจน
2. คู่มือดูนก เป็นหนังสือที่ให้รายละเอียดและภาพประกอบของนกแต่ละชนิดไว้อย่างชัดเจนช่วยให้นักดูนกจำแนกชนิดนกที่พบได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว มีให้เลือกหลายเล่ม แต่ขอแนะนำA GUIDE TO THE BIRDS OF THAILAND คู่มือดูนกฉบับสมบูรณ์
ในเล่มจะมีข้อมูลและลักษณะต่างๆของนกแต่ละชนิด
3. สมุดบันทึก การจดบันทึกช่วยนักดูนกเก็บรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับนกและธรรมชาติที่พบเห็นแล้วนำมาทบทวนในภายหลังได้
อุปกรณ์เสริม เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาจากความเหมาะสมและประโยชน์ใช้สอยในการดูนกแต่ละครั้ง เช่น กล้องถ่ายภาพ เครื่องบันทึกเสียง เข็มทิศ รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานที่และสภาพอากาศ
เตรียมตัวก่อนไปดูนก
4. การแต่งกาย
การแต่งตัวเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการเตรียมตัวออกไปดูนกเพราะนกในธรรมชาติย่อมคิดว่าคนเป็นศัตรูและคอยหลบหนีอยู่เสมอ นักดูนกจึงต้องแต่งกายพรางตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ จนนกไม่ตื่นกลัวและสามารถเข้าใกล้ได้มากที่สุด
เสื้อผ้าที่นักดูนกสวมใส่ต้องกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เช่น สีเขียวเข้ม สีเทา หรือสีน้ำตาลควรแต่งกายให้รัดกุม สวมเสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันหนามขีดข่วน และควรเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ เช่น หากไปดูนกบนเขาสูงมีอากาศหนาวเย็น ก็ควรนำเสื้อกันหนาวไปด้วย
5. หมวก เป็นสิ่งที่สามารถช่วยเราพรางตัวได้ เพราะหน้าผากและผมเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ง่ายนอกจากนั้นหมวกยังช่วยป้องกันศีรษะ ช่วยบังแดดไม่ให้เข้าตา และป้องกันสัตว์พวกแมลงที่บินได้อีกด้วย
6. รองเท้า ควรเป็นชนิดใส่สบายและหุ้มส้นกระชับพอดี พื้นรองเท้าควรจะยึดเกาะพื้นได้ดี โดยเฉพาะเมื่อเราต้องไปดูนกในป่า หรือตามลำธาร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และควรสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีจากการเดินมากๆ นอกจากนี้การไปดูนกบางแห่งก็จำเป็นต้องมีเครื่องแต่งกายเพิ่มเติม เช่น ถุงกันทากซึ่งจะช่วยเราป้องกันทากดูดเลือดที่มักจะพบโดยทั่วไปตามป่าในบ้านเรา
7. กระเป๋าเล็กๆ สักใบ เนื่องจากการดูนกเป็นกิจกรรมที่ต้องออกไปอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ บางทีก็ตั้งแต่เช้ามืด กว่าจะกลับที่พักก็ค่ำ เราจึงควรมีกระเป๋าเล็กๆ สักใบสำหรับใส่ของใช้ต่างๆ ที่จำเป็นระหว่างออกไปดูนก โดยเฉพาะถ้าเป็นเป้เล็กๆ หรือที่เรียกว่า DAYPACK จะเหมาะมาก
ในเป้ต้องมีอะไร ?
เสื้อกันฝน หรือร่ม เสื้อกันฝนมีหลายแบบ ทั้งแบบตัดเป็นตัวคล้ายกับเสื้อที่เราสวมใส่กันหรือจะเป็นแบบค้างคาว ซึ่งเป็นผ้าสี่เหลี่ยมพับครึ่งเว้นช่องให้ศีรษะ บางทีก็เรียกว่า ผ้าปันโจที่ค่อนข้างจะเหมาะสมกับการดูนกมากกว่า เพราะมีขนาดเล็กและเบากว่าเสื้อกันฝแบบเป็นตัว และยังนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง เป็นฟลายชีทก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องสะพายเป้เสื้อกันฝนแบบนี้ก็จะคลุมเป้ของเราด้วย ข้อเสียคือ เมื่อใส่แล้วจะร้อน เนื่องจากทำจากผ้าใบทึบ อากาศจึงไม่ถ่ายเท ส่วนเสื้อกันฝนแบบชั่วคราวก็เหมาะกับการดูนกในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูฝน เพราะน้ำหนักเบา แต่ไม่ค่อยทนทาน ส่วนร่มอุปกรณ์กันฝนที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น ก็สามารถใช้ได้ดี ไม่ร้อนเหมือนเสื้อกันฝน และยังสามารถใช้บังแดดอีกด้วย
8. มีด เหมือนเครื่องมือสารพัดประโยชน์ ถ้าเป็นไปได้ควรมีมีดพก หรือมีดเดินป่าขนาดกลางสักเล่มเพราะมีดสามารถช่วยเราได้หลายๆ อย่าง
9. อาหาร ทั้งของกินหลักอย่างข้าวกลางวัน และของกินเล่น พวกขนมต่างๆ และควรจะมีขวดน้ำสักใบขนาดตามแต่ละคน นอกจากนั้นควรมีถุงพลาสติคสัก 2-3 ใบ เอาไว้ใส่ขยะ
10. ยา สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่าลืม แต่ถึงอย่างไรก็ควรจะต้องพก พลาสเตอร์ยา ยาหม่องยาแก้ปวด ยาดม ไปด้วย เพราะมีโอกาสใช้ตลอดเวลา
ดูนกที่ไหน ?นักดูนกหน้าใหม่ควรเริ่มต้นดูนกใกล้บ้านก่อน เช่น ตามบริเวณสวนที่มีต้นไม้ร่มครึ้มหรือบึงน้ำใสเพราะนกสวนและนกทุ่งไม่ค่อยตื่นกลัวคน จึงดูและจำแนกชนิดได้ง่ายกว่านกป่า เมื่อมีความชำนาญเพิ่มขึ้นจึงค่อยไปดูนกป่าและนกชายเลนที่จำแนกชนิดได้ยากขึ้น
นักดูนกไม่ควรจำกัดการดูอยู่เฉพาะในสถานที่เพียงแห่งเดียว เพราะนกมีมากมายหลายชนิดและอาศัยในถิ่นอาศัยหลากหลาย นักดูนกจะมีโอกาสพบนกมากชนิดยิ่งขึ้น
ฤดูกาลมีส่วนช่วยให้พบนกชนิดใหม่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีนกย้ายถิ่นอพยพเข้ามาการออกไปดูนกจึงควรกำหนดสถานที่และเวลาให้สัมพันธ์กัน เช่น ช่วงฤดูหนาวควรออกไปดูนกอพยพตามชายทะเล ช่วงฤดูฝนควรไปดูนกประจำถิ่นในป่า นักดูนกควรศึกษาหารายละเอียดของพื้นที่ๆจะไป เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นด้วย
ดูนกเวลาไหนดี ?เวลาเช้าเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการดูนก เพราะนกส่วนใหญ่ออกหากินตั้งแต่เช้ามืด ทันทีที่ดวงอาทิตย์เริ่มส่องแสงเรื่อยไปจนสายจึงหลบพักผ่อน แล้วจะออกหากินอีกครั้งเมื่อแสงแดดอ่อนในยามบ่ายคล้อยช่วงเวลาทั้งสองนี้ นกค่อนข้างกระฉับกระเฉง ไม่หลบซ่อนตัว ทำให้พบเห็นนกได้ไม่ยาก
การดูนกกลุ่มเล็กๆ เพียง 2-3 คน จะทำให้มีโอกาสเห็นนกมากกว่ากลุ่มใหญ่และช่วยกันจำแนกชนิดนกได้ง่ายกว่าไปตามลำพัง หากสามารถชวนผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกไปด้วย ก็จะช่วยเสริมความรู้ได้มากขึ้น
เมื่อถึงที่หมาย ต้องพยายามทำตัวให้เงียบที่สุด งดเว้นการส่งเสียงดังหลีกเลี่ยงการดูนกในบริเวณที่เป็นจุดเด่น อาจซุ่มดูนกโดยหาต้นไม้กำบังตัว ไม่ควรตื่นเต้นเกินไปจนทำให้นกบินหนี
เมื่อพบแล้วพยายามจดจำรายละเอียดให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสีสัน ลักษณะ พฤติกรรม ฯลฯแล้วเปิดคู่มือพิจารณาว่าเป็นนกชนิดใด พร้อมทั้งบันทึกรายละเอียดที่สำคัญลงสมุดบันทึกไว้
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักดูนกไม่ใช่การพบนกหายากแต่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อนกและธรรมชาติต้องละเว้นการกระทำใดๆ ที่เป็นการรบกวนหรือทำอันตรายแก่นก พึงระลึกไว้เสมอว่า "ความสุขของนกต้องมาก่อน"
ABOUT THE AUTHOR
ถ
ถาวร
ภาพโดย : -นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2549
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)