พิเศษ
ร่วมแรงสร้าง "โป่งเทียม"
"เขาแผงม้า" เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาภูหลวง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ในอดีตเคยเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าน้อยใหญ่นานาชนิดอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เป็นป่าผืนเดียวกับ "ดงพญาไฟ" ที่ทอดยาวมาจากจังหวัดสระบุรี มีเขตพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่วนด้านทิศตะวันออกติดกับอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นต้นน้ำของลำห้วยหลายสาย ที่ไหลรวมกันเป็น "ลำพระเพลิง" ก่อนลงสู่แม่น้ำมูล สายน้ำแห่งชีวิตของผู้คนบนผืนแผ่นดินอีสาน ในการดำรงชีพมาหลายชั่วคน
เมื่อมีการสัมปทานป่าไม้ ทำให้ชาวบ้านจากที่ต่างๆ อพยพเข้ามาบุกเบิก หักร้างถางพง ล่าสัตว์ถือครองที่ดิน ในบริเวณเขาแผงม้ามากขึ้น ผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ จึงกลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้นต้นน้ำที่เคยชุ่มช่ำกลับแห้งผาก ประกอบกับทุ่งหญ้าที่ขึ้นปกคลุม เมื่อหน้าแล้งมาเยือน จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ไฟป่าโหมไหม้ทั้งกลางวันและกลางคืน จนผู้คนขนานนามว่า "ภูเขาไฟ"
ปี 2537 มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าดำเนินการ "โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบปีที่ 50 บริเวณเขาแผงม้าบนเนื้อที่ 5,000 ไร่ ทำให้สภาพของเขาแผงม้าเริ่มฟื้นตัวจากภูเขาหัวโล้น กลับมาเป็นพื้นที่เขียวชอุ่ม สัตว์ป่าหลายชนิดเริ่มกลับเข้ามาอาศัยหากิน
เขาแผงม้าจึงเริ่มคืนสู่สภาพป่าต้นน้ำดังเดิม
ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ที่ยืนยันถึงการฟื้นตัวของสภาพป่าเขาแผงม้า คือ การกลับมาของฝูงกระทิงป่า ในช่วงปี 2538 กระทิง 4-10 ตัว ฝูงนั้นได้ออกลูกออกหลาน ขยายพันธุ์ จนปัจจุบันนับได้ประมาณ 90-100 ตัว เมื่อฝูงกระทิงเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี "โป่งดิน" สำหรับสัตว์ที่มีไว้กินเพิ่มแคลเซียม สร้างเขา กระดูก รวมถึงช่วยในระบบย่อยอาหารและขับถ่าย เริ่มไม่พอเพียง
ด้วยความร่วมมือร่วมใจจาก กลุ่มรักษ์กระทิงเขาใหญ่, KCB CLUB, กลุ่มกำหมุน, กลุ่มชมลมชมไทย,กลุ่มเพื่อนกระทิง รวมถึงมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช ฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่และเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของกระทิงฝูงนี้ จึงได้ร่วมสร้างโป่งเทียมขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งแห่ง...
หลังจากที่วางกำหนดการแล้ว เช้าวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม ผมและทีมงานอีก 2 คน ประกอบไปด้วย"น้าเขียว ร้อยป่า" ผู้ช่ำชองผืนป่ามากกว่ารัชดาซอย 4 และ "จ่า กระทิง" ช่างภาพมือฉมังพลังโรนัลโดจึงออกเดินทางมุ่งสู่เขาแผงม้า บ่ายคล้อยเริ่มมีสมาชิกกลุ่มต่างๆ ทยอยขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆโดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ฯ ได้รออยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว
บนเขาแผงม้ามีจุดดูกระทิงอยู่ทั้งหมด 9 จุด แต่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้เพียง 2 จุดส่วนจุดที่เหลือใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานด้านวิจัยรวมไปถึงใช้เป็นจุดนับจำนวนกระทิง
เมื่อกางเทนท์เสร็จสรรพ เจ้าหน้าที่ได้พาเราเข้าไปที่จุดดูกระทิงจุดที่ 1 "เรือนช้างป่า" ท่ามกลางอากาศที่ครึ้มฝนมาตั้งแต่ก่อนเที่ยง สายลมเย็นที่พัดโชยมาตลอด บางครั้งระคนเม็ดฝนมาบ้างพอให้ชุ่มชื่น
ลุงจำนงค์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิ ฯ ได้เอ่ยบอกพวกเรา "อากาศแบบนี้กระทิงมันชอบนัก กระทิงมันไม่ชอบแสงแดด ถ้าหากวันไหนแดดแรง กระทิงมักนอนอยู่ใต้พุ่มไม้ ซึ่งจะเห็นตัวได้ยาก"
ไม่นานนัก กระทิงแม่ลูกคู่หนึ่งก็ได้ปรากฏตัวออกจากพุ่มไม้ สาละวนอยู่กับพื้นดินที่เต็มไปด้วยอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ไม่ถึง 10 นาทีต่อมา กระทิงหนุ่มร่างกายกำยำก็โผล่มาจากพุ่มไม้อีกฝั่งเขา หากินหญ้าและยอดใบไม้ที่ตอนนี้กำลังแตกยอดอ่อนได้ที่
เวลาผ่านล่วงเลยไปร่วมชั่วโมง บัดนี้เบื้องล่างของพวกเราเต็มไปด้วยกระทิงน้อยใหญ่กว่า 10 ตัวและเริ่มทยอยลงไปกินดินโป่ง ซึ่งมีอยู่ที่เดียวในบริเวณนี้ แต่วันพรุ่งนี้จะมีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งที่ไม่ห่างจากโป่งเดิมมากนักด้วยน้ำมือของพวกเรา
หลังจากจัดการกับอาหารเช้าเสร็จสรรพ เราก็เริ่มทยอยขนของที่ต้องใช้ในการทำโป่งขึ้นรถ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้นำรถเข้าได้ 2 คัน เพื่อใช้บรรทุกเกลือและเครื่องมือ ส่วนที่เหลือกว่า 20 ชีวิต ต้องอาศัยลำแข้งเดินฝ่าทุ่งหญ้าลัดเลาะไปตามไหล่เขา รวมระยะทากว่า 2 กิโลเมตร เพื่อเข้าไปยังตำแหน่งที่จะทำโป่ง
ตลอดระยะทางที่เดินสามารถพบเห็นรอยเท้าและมูลของกระทิงอยู่ทั่วบริเวณ ไม่นานนักก็มาถึงจุดที่ทำโป่ง เมื่อเครื่องมือมาพร้อม ทุกคนต่างช่วยกันขุดดินคนละไม้คนละมือ คลุกเคล้าดินผสมกับเกลือ ราดน้ำพอสมควรเพื่อให้เกลือละลาย ราดน้ำปลาไว้ให้ทั่วบริเวณ เพื่อให้เกิดกลิ่นเค็มไว้ดึงดูดสัตว์ให้เข้ามากินโป่ง
เวลาผ่านล่วงเลยไปกว่า 2 ชั่วโมง ทุกอย่างก็เป็นอันเสร็จสิ้น เหงื่อท่วมตัวเสื้อผ้ามอมแมม แต่ยังคงเห็นรอยยิ้มที่แฝงอยู่บนใบหน้าอันอิ่มเอิบทั่วกัน
เราจึงทยอยเดินกลับ ผม และ "จ่า กระทิง" รุดหน้าออกมาก่อน เพื่อเก็บภาพบรรยากาศ แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อกระทิงหนุ่ม 2 ตัว โผล่พ้นพุ่มไม้ของไหล่เขาอีกฟากฝั่งออกมา ผมยังคงตะลึงกับภาพที่เห็นเบื้องหน้า ส่วน "จ่า กระทิง" ด้วยความเป็นมืออาชีพ ทำให้การประกอบเลนส์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ชั่วอึดใจ เสียงกดชัทเตอร์ก็รั่วสนั่นยิ่งกว่าเสียงปืนไรเฟิลจากนายพรานเจ้ากระทิงหนุ่มทั้ง 2 ตัว ยังคงเดินอ่อยอิ่ง อวดโฉมให้เราได้เห็นอยู่พักใหญ่ แล้วมันก็ค่อยๆ หายเข้าไปในดงพุ่มไม้
นี่เป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่น้อยคนจะได้สัมผัส การเห็นกระทิงช่วงเวลากลางวันที่ระยะห่างไม่เกิน 200 เมตรเช่นนี้ ช่างเป็นภาพที่สวยงาม เกินกว่าคำบรรยายใดๆ แต่น่าเสียดายที่วันนี้ "จ่า กระทิง"เลนส์ซูมยาวไม่พอ จึงไม่สามารถเก็บภาพได้อย่างที่ใจต้องการ
แต่โอกาสหน้ายังมี ตราบใดที่เราทุกคนยังช่วยกันอนุรักษ์และหวงแหนธรรมชาติ ตราบนั้นสัตว์ป่าก็ยังคงอยู่กับเราชั่วลูกชั่วหลาน....
มีใครคนหนึ่งบอกกับเราว่า
"ป่าไหนสมบูรณ์ ป่านั้น...มีกระทิง"
"ป่าไหนมีกระทิง ป่านั้น...สมบูรณ์"
4 WHEELS ขอเป็นส่วนหนึ่ง ร่วมรักษากระทิงให้คงอยู่คู่ป่าเมืองไทยตลอดไป...
ขอขอบคุณ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์,กลุ่มรักษ์กระทิงเขาใหญ่, KCB CLUB, กลุ่มกำหมุน, กลุ่มชมลมชมไทย, กลุ่มเพื่อนกระทิงที่ร่วมใจสร้างโป่งกระทิงในครั้งนี้
ส่วนผสมในการทำโป่งเทียม
1. เกลือ
2. ดิน
3. น้ำเปล่า
4. น้ำปลา
ขั้นตอนการทำ
1. ขุดหลุมลึกประมาณ 80 เซนติเมตร กว้างยาวตามเหมาะสม
2. คลุกดินกับเกลือให้เข้ากัน
3. รดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้เกลือละลายเข้ากับดิน
4. ราดน้ำปลาเพื่อสร้างกลิ่นเค็ม ดึงดูดสัตว์ให้เข้ามากินโป่ง
ข้อมูลจำเพาะ "กระทิง"
ลักษณะ
ตัวใหญ่ล่ำสัน โคนเขาสีเหลือง ปลายเขาสีดำ ขนตามลำตัวสีดำหรือน้ำตาลเข้ม ขนเหนือหน้าผากสีเทา เรียกว่า "หน้าโพ" คอค่อนข้างสั้นหนา มีหนอกสูงเป็นสัน เหนือหัวเข่าจนถึงกีบเท้ามีสีขาวหรือเหลืองคล้ายสวมถุงเท้า ตัวผู้มีขนาดใหญ่ล่ำสันกว่าตัวเมีย
พฤติกรรม
อยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ 8-15 ตัว ส่วนใหญ่เป็นตัวเมีย มีตัวผู้เป็นจ่าฝูง กระทิงตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะถูกขับออกจากฝูง และกลับเข้าหาฝูงอีกครั้งเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ โดยจะต้องต่อสู้กับจ่าฝูงเพื่อครอบครองตัวเมีย กระบวนการดังกล่าวเป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แยบยล ฉะนั้นลูกกระทิงที่เกิดใหม่จะต้องมาจากพ่อพันธุ์ที่แข็งแรงเท่านั้น กระทิงออกหากินสลับกับหยุดพักผ่อนไปตลอดวัน
สามารถเดินขึ้นเขาสูงได้ดี กลางวันจะหากินในป่ารกทึบในตอนเย็นถึงค่ำจะหากินตามป่าโปร่งแต่ต้องไม่ห่างจากแหล่งน้ำ อาหารหลัก ได้แก่ หญ้าชนิดต่างๆ เครืออีเฒ่า มะหาด กล้วยป่า มะเดื่อเพกา กระถิน แคหัวหมู คำอ้าย ฯลฯ และต้องกินดินโป่งเพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้กับร่างกาย
การสืบพันธุ์
ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ตั้งท้องนาน 9 เดือน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว มีช่วงอายุขัยประมาณ 25-30 ปี
ABOUT THE AUTHOR
ธ
ธนกฤต
ภาพโดย : จินดา ลัยนันท์นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)