สำหรับผู้ใช้รถยนต์ ส่วนใหญ่มักมองว่าเรื่องสัญญาณเตือนต่างๆ บนหน้าปัด เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะตัวเองรู้ความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นอย่างดี เลยคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร และมักจะมองว่าคนที่ใช้รถก็ต้องรู้เรื่องราวเหล่านี้ โดยลืมคิดไปว่า เมื่อก่อนตนเองก็เป็นมือใหม่ ในเรื่องเหล่านี้เหมือนๆ กัน อย่างผมเองก็เคยลืมคิดไปว่าทุกคนต้องเริ่มการเรียนรู้ คนที่ขับรถเป็น ไม่ได้หมายความว่า จะรู้เรื่องเครื่องยนต์ หรือแม้แต่สัญลักษณ์ต่างๆ บนหน้าปัดเกือบทุกคน
เรื่องนี้มาจากคนใกล้ตัว และเพิ่งจะมีรถเป็นคันแรก ไม่มีความรู้เรื่องรถยนต์เลย เพียงแค่ขับรถได้เท่านั้น อะไรๆ มันก็เลยมาตกที่ผมไปเสียหมด
หลังจากที่น้องคนหนึ่งเพิ่งได้รถมาเพียงวันแรก เขาก็โทรมาถามว่า "ทำไมบิดสวิทช์กุญแจแล้วไฟโชว์ไม่ดับ" แวบแรกเราก็หงุดหงิดตรงที่ว่า "เรื่องแค่นี้ไม่รู้หรืออย่างไร" ลืมนึกไปว่าตอนเราเป็นมือใหม่ก็เคยเป็นแบบนี้เหมือนกัน และน้องคนนี้ก็ไม่เคยรู้เรื่องรถแม้แต่น้อย ไม่เคยอ่านหนังสือ และไม่เคยศึกษาเรื่องรถยนต์เลย วันๆ ก็เรียนแต่บัญชี จบมาก็ทำงานแต่ตัวเลข เลยทำให้เราเข้าใจ และคิดว่าเรื่องราวต่อไปนี้ มันจะช่วยให้ "มือใหม่" ทั้งหลาย สามารถใช้งาน และดูแลรักษารถของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีโชว์ ไม่มี (ไฟ) ชาร์จ ?
สัญญาณไฟเตือนบนแผงหน้าปัด หรือบางคนก็เรียกว่า ไฟโชว์ นั้นมันมีความหมาย และความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการใช้รถ เพราะคำว่า "ไฟเตือน" นั้น มันคือ ข้อความที่เป็นสัญลักษณ์ ที่สื่อสารถึงผู้ขับขี่ว่ามีระบบใดระบบหนึ่งในรถกำลังมีปัญหา หรือเริ่มส่อเค้าว่าจะมีปัญหา หลายคนเมื่อสังเกตเห็นไฟเตือนระบบใดระบบหนึ่งสว่าง ก็มักตกใจ และคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ใส่ใจกับคู่มือ หรือ
ศึกษาลักษณะการใช้งานอย่างถูกต้องเสียก่อน และเมื่อนำรถมาใช้จึงไม่ทราบว่ามีระบบอะไรบ้างในรถเกิดความบกพร่องขึ้นมา
สิ่งที่ควรทำ คือ "ห้ามวางหรือติดอะไรๆ บริเวณแผงหน้าปัดโดยเด็ดขาด" มีเจ้าของรถหลายท่านที่นำพระเครื่อง รูปพระ ตุ๊กตา หรือแม้แต่รูปแฟน ไปติดตรงแผงหน้าปัด เพราะต้องการความมั่นใจในการขับขี่ นั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย เพราะมันจะไปบดบังสัญญาณเตือนต่างๆ ที่มีความสำคัญในการขับขี่เพียงใด เพราะความเสียหายบรรเทาได้เมื่อคุณเรียนรู้สัญญาณเตือนต่างๆ เหล่านั้น
ในรถรุ่นใหม่ที่มีระบบ ON BROAD COMPUTER ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านี้ให้มากเพราะมีความซับซ้อนในการใช้งานพอสมควร ในจอเดียวสามารถแสดงได้หลายฟังค์ชัน ก่อนที่จะทำความรู้จักสัญลักษณ์ต่างๆ มาดูเหตุการณ์ที่ผมเคยประสบมาก่อนดีกว่า แล้วคุณจะรู้ว่าเรื่องราวต่อไปนี้ มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เมื่อพลาดแล้วมีแต่เรื่องเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ แถมเป็นคนใกล้ตัวอีกต่างหาก
เรื่องแรกเป็นเรื่องของลูกพี่ลูกน้อง ด้วยความที่เดินทางไกลบ่อย เลยอยากได้ที่พึ่งทางใจ นิมนต์พระเครื่อง 3 องค์ และยันต์อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งแผ่นยันต์ที่ทำให้เกิดปัญหา เล่นติดเทปกาว 2 หน้าบนหน้าปัดโดยตรง และมันไปบดบังส่วนบนของมาตรวัดความร้อน โดยบังขีดแดงมิดพอดิบพอดี ด้วยความที่ต้องเดินทางไกลบ่อย และไม่ค่อยดูแลรักษารถ และไม่รู้ตัวเลยว่าเข็มความร้อนนั้นขึ้นไปจนถึงขีดแดงแล้ว รู้แต่ว่าอยู่ดีๆ รถมันเริ่มอืดๆ วิ่งไม่ค่อยออก จนกระทั่งเครื่องยนต์ดับไป ลองสตาร์ทดูก็ไม่ติด สุดท้ายต้องลากเข้าอู่ ปรากฏว่าน้ำในระบบระบายความร้อนแห้งสนิท ฝาสูบโก่งไปเรียบร้อยแล้ว ต้องเสียค่าซ่อมไปราวๆ 30,000 บาท เนื่องจากท่อยางหม้อน้ำตัวล่างปริที่บริเวณเข็มขัดรัด และถ้าผ้ายันต์แผ่นนั้นไม่บังมาตรวัดความร้อน ก็อาจจะเสียแค่ค่าซ่อม ไม่กี่ร้อยบาท เพราะท่อน้ำท่อนหนึ่งราวๆ 3-4 ร้อยบาท บวกกับค่าลากรถอีกนิดหน่อย
ตัวอย่างที่ 2 เป็นรถยุโรป ซึ่งมีสัญลักษณ์รูปประแจ และข้อความเตือนให้เข้าศูนย์บริการ โชว์ขึ้นมา แต่คนขับไม่รู้ เพราะอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก แต่เคราะห์ดีที่ไม่เป็นอะไรมาก เพียงแค่ระบบชาร์จไฟมีแรงดันต่ำกว่าปกติเล็กน้อย
ตัวอย่างที่ 3 ไฟเตือนรูปแบทเตอรี โชว์ขึ้นมา แต่เจ้าของรถไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร คิดว่าเป็นไฟเตือนว่าแบทเตอรีเต็ม เพราะเพิ่งใช้รถมือสองได้ไม่กี่วัน สุดท้ายเครื่องดับ แต่ไม่เป็นอะไรมาก แค่ไดชาร์จเสื่อมสภาพ แต่มันเสียเวลา เสียค่าลากรถฟรีๆ
ตัวอย่างที่ 4 โทรศัพท์มาหาผมพร้อมน้ำเสียงตื่นเต้นตกใจเป็นที่สุด ว่าอยู่ดีๆ ก็มีไฟโชว์รูปสามเหลี่ยมมีเครื่องหมายตกใจอยู่ข้างใน กะพริบๆ แล้วก็ดับไป...มันอันตรายไหมครับ
ตัวอย่างเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าเจ้าของรถไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์เลย และไม่มีคนคอยบอกกล่าวหรือให้คำปรึกษา จึงเป็นเรื่องดีที่เราควรจะมาทำความรู้จัก และเรียนรู้
มาตรวัดความร้อนเครื่องยนต์ ?
สำคัญมากๆ สำหรับมาตรวัดตัวนี้ เมื่อความร้อนของเครื่องยนต์ขึ้นสูง มันเป็นสัญญาณบอกว่า เครื่องยนต์ทำงานบกพร่อง ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้น มันสามารถสร้างความเสียหายให้กับเครื่องยนต์ได้มากมายอย่างที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียว ในรถรุ่นใหม่ๆ มาตรวัดความร้อนไม่ค่อยจะมีให้แล้ว นัยว่าเป็นไปตามทเรนด์ ที่พยายามลดความวุ่นวายบนหน้าปัดลง การแสดงผลเรื่องของอุณหภูมิจะใช้สัญลักษณ์ไฟโชว์รูปเทอร์โมมิเตอร์แทน ตอนบิดกุญแจไปที่ตำแหน่ง ON สัญลักษณ์นี้จะติดสว่างขึ้นเป็นไฟสีฟ้าแล้วจะดับไป เมื่อเครื่องติด หรือเมื่อถึงอุณหภูมิใช้งาน ความร้อนเริ่มสูงกว่าปกติ ถึงระดับที่เซนเซอร์ตั้งไว้ไฟรูปเทอร์โมมิเตอร์จะติดสว่างอีกครั้ง แต่จะเปลี่ยนเป็นสีแดง เพื่อเตือนว่าความร้อนสูงกว่าปกติ เมื่อไฟเตือนรูปเทอร์โมมิเตอร์ติดขณะขับขี่ และเป็นสีแดง ไม่ต้องตกใจ ยังมีเวลาที่จะให้คุณนำรถเข้าจอดข้างทางได้สบายๆ มีเจ้าของรถบางคนกลัวเกินกว่าเหตุเวลาที่ความร้อนขึ้นสูง หาที่จอดได้ก็จอดเลยเพราะกลัวเครื่องพังโดยไม่ได้ดูว่าปลอดภัยหรือไม่
สาเหตุที่ทำให้ความร้อนขึ้นสูงเป็นได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นท่อยางน้ำรั่ว หม้อน้ำรั่ว พัดลมระบายความร้อนไม่ทำงาน ฯลฯ แต่มันไม่ทำให้เกิดความเสียหายมาก ถ้าคุณทราบ และดับเครื่องยนต์ได้ทัน ก่อนที่จะเข้าขั้นวิกฤติ ส่วนมากเมื่อความร้อนขึ้นสูงเป็นเวลานาน เครื่องยนต์มักจะดับไปเลย ผลที่ตามมาเบาะๆ ก็ฝาสูบโก่ง เคยเจออาการหนักๆ ถึงขนาดเสื้อสูบบิดเบี้ยว และร้าว ก็ยังมี เวลาขับรถจำเป็นต้องหมั่นมองมาตรวัดต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้เคยชินเหมือนมองกระจกมองข้าง เพื่อความปลอดภัย
ไฟหมด ไฟไม่มี ก็สตาร์ทไม่ติด ?
พูดถึงเรื่องนี้แล้ว นึกถึงน้องคนหนึ่งที่คิดว่าไฟรูปแบทเตอรี หมายถึง แบทเตอรีเต็ม ห้ามหัวเราะนะครับ เพราะในเรื่องที่เราไม่มีความรู้ ความชำนาญ มันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เมื่อรู้ตัวว่า รู้และจำเป็นต้องใช้รถยนต์ กรณีนี้จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้งาน และการดูแลรักษารถยนต์ถูกต้องเหมาะสม จังหวะสุดท้ายที่เราบิดกุญแจเพื่อสตาร์ท ไฟโชว์ต่างๆ จะติดขึ้นมาทั้งหมด หลังจากสตาร์ทแล้วไฟเตือนต่างๆ จะต้องดับลง ยกเว้นพวกไฟเตือนเบรคมือ หรือตำแหน่งเกียร์ เมื่อเครื่องยนต์หมุนไดชาร์จ จะทำงาน ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟส่งไปยังแบทเตอรี และป้อนไฟฟ้าให้ระบบต่างๆ ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน ไฟโชว์ตัวนี้ ต้องไม่ติดขึ้นมา แต่ถ้าขณะที่เครื่องยนต์ทำงานแล้วไฟเตือนนี้ติดสว่าง หรือสว่างวาบๆ แสดงว่าระบบประจุไฟ หรือระบบชาร์จไฟมีปัญหาแล้ว
ระหว่างที่ขับอยู่ แล้วไฟเตือนรูปแบทเตอรี สว่างขึ้นมา สิ่งแรกที่ควรทำ คือ หาที่ปลอดภัยเพื่อจอดรถหรือหาอู่ หรือศูนย์ที่ใกล้ที่สุด แต่ไม่ควรเกิน 5 นาที นับจากไฟเตือนติดขึ้นมา และควรปิดแอร์ วิทยุ หรือระบบไฟฟ้าอื่นๆ ให้หมด เนื่องจากขณะนั้นระบบที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดมันจะดึงไฟมาจากตัวแบทเตอรี ถ้าแบทเตอรีสภาพดีเก็บไฟได้เต็ม ก็อาจจะวิ่งได้นานกว่านั้น ทางที่ดีควรหาที่จอดโดยเร็ว เพราะไม่นานเครื่องยนต์ก็จะดับ เพราะไม่มีไฟฟ้าไปเลี้ยงระบบเครื่องก็จะดับในที่สุด สาเหตุเป็นได้หลายประการด้วยกัน เบาะๆ ก็แค่สายพานไดชาร์จอาจหย่อนหรือขาด เมื่อสายพานขาด หรือหย่อน ไดชาร์จก็จะไม่สามารถทำงานได้ ฟิวส์ขาดก็เคยเจอ ถ้าหนักหน่อย ก็คือ ไดชาร์จเสื่อมสภาพ หรือหมดอายุ เช่น แปรงถ่านหมด ขดลวดไหม้ ไดโอดเสีย หรือท้ายสุด คือ แบทเตอรีไม่เก็บไฟ การแก้ไขก็เป็นตามอาการที่เกิดขึ้น หนักมากๆ ก็คือ ไดชาร์จมีปัญหา สนนราคาก็ตั้งแต่ 6-7 พันบาทขึ้นไป สำหรับรถญี่ปุ่นขนาดเล็กถึงกลาง
ขับๆ มา น้ำมันเครื่องหาย ?
อาการชาฟท์ละลาย หรือแบริง ข้อเหวี่ยงไหม้ละลายจนเครื่องยนต์ไม่สามารถหมุนได้นั้น มาจากปัญหาเรื่องของน้ำมันเครื่องไม่สามารถหมุนเวียนได้ในระบบ สาเหตุมีได้หลายอย่าง เช่น การรั่วซึม อ่างน้ำมันเครื่องทะลุ ซีลรั่ว ในรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่เจอก็ซีลท้ายไดชาร์จรั่ว หรือแม้แต่ซีลท้ายกรองน้ำมันเครื่องก็ยังเคยเจอ ปัญหาเหล่านี้ ทำให้น้ำมันเครื่องไม่สามารถหมุนเวียนในระบบได้ เมื่อไม่มีการหมุนเวียนแรงดันในระบบลดลง ไฟเตือนรูปกาน้ำมันเครื่องก็จะติดขึ้นมา
ดังนั้นเมื่อไฟเตือนรูปนี้ติดขึ้นมา ควรจอดรถและดับเครื่องยนต์ทันที เพราะนั่นหมายความว่า น้ำมันเครื่องในระบบไม่มีการหมุนเวียนแล้ว เมื่อไฟเตือนนี้ติดสว่างไม่ต้องตกใจ ดูมาตรวัดความร้อนน้ำควบคู่กันไปด้วย ว่าขึ้นสูงเพียงใด ถ้าปกติ หรือขึ้นสูงนิดหน่อย ยังมีเวลาให้คุณนำรถเข้าจอดข้างทางได้อย่างปลอดภัย เมื่อจอดรถแล้ว ต้องตรวจดูร่องรอยการรั่วซึมของน้ำมันว่าเกิดขึ้นจุดใด ถ้าหาไม่เจอให้รอสัก 5-10 นาที เพื่อให้น้ำมันเครื่องไหลลงสู่อ่างน้ำมันเครื่องก่อน ถ้าเชคน้ำมันเครื่องแล้ว พบว่าน้ำมันเครื่องไม่มีอยู่ แสดงว่ารั่วตรงจุดไหนสักแห่ง ถ้าไม่พบร่องรอยการรั่วอาจจะเกิดจากประเก็นฝาสูบแตก ทำให้น้ำมันเครื่องรั่วเข้าห้องเผาไหม้ กรณีนี้ควันจากปลายท่อก็จะขาวเหมือนรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ หรืออาจจะรั่วเข้าระบบระบายความร้อน ต้องรอให้เครื่องเย็นแล้วเปิดฝาหม้อน้ำเชคดูด้วยว่า มีน้ำมันเครื่องรั่วเข้าไปปนหรือไม่ ถ้ามีน้ำในระบบจะกลายเป็นสีกาแฟขุ่นๆ
กรณีนี้ต้องลากไปอู่ หรือศูนย์บริการ ห้ามสตาร์ทเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด ถ้าน้ำมันเครื่องมีอยู่ต้องตรวจเชคต่อไปว่า ทำไมน้ำมันเครื่องถึงไม่มีการหมุนเวียน อาจเป็นได้ 2 อาการ คือ ปั๊มน้ำมันเครื่องเสีย หรือไม่ก็เซนเซอร์แรงดันเสีย กรณีนี้ก็ไม่ควรสตาร์ทเครื่องยนต์เช่นกัน
เบรคแรงๆ แล้วไฟโชว์เตือน ?
ไฟเตือนสัญลักษณ์ ABS หรือรูปเบรคนั้น จะติดสว่างขึ้นเมื่อบิดกุญแจมาตำแหน่ง ON เมื่อเครื่องยนต์ติดแล้ว ไฟนี้จะดับไป บางครั้งเวลาเบรคแรงๆ ไฟเตือนรูป ABS อาจจะกะพริบโชว์เป็นจังหวะ แบบนี้ไม่ต้องตกใจ เป็นเพราะว่าระบบ ABS ทำงาน เมื่อปล่อยเบรคแล้ว จะดับไปเอง แต่ถ้าขับอยู่ดีๆ แล้วไฟเตือนรูปนี้ติดสว่างขึ้นมา แสดงว่าระบบมีปัญหา ทางที่ดีควรเปิดคู่มือประจำรถดู จะบอกได้ว่าเกิดจากอะไร เพราะบางยี่ห้อมีไฟเตือนที่หน้าตาคล้ายๆ กันอยู่ เช่น ไฟเตือนเบรคมือ หรือไฟเตือนผ้าเบรคหมด ระดับน้ำมันเบรคต่ำกว่ากำหนด เปิดคู่มือก็จะทราบอาการเบื้องต้น ถ้าเบรคยังทำงานได้ ก็ให้วิ่งประคองไปเรื่อยๆ อย่าใช้ความเร็วสูงนัก เพื่อความปลอดภัย บางครั้งก็เป็นเพราะว่าโคลน หรือความชื้นที่เซนเซอร์ ทำให้ค่าที่วัดได้เพี้ยนไป
อีกกรณีหนึ่งที่พบได้ คือ เวลาที่เลี้ยวรถแรงๆ แล้วมีไฟเตือนรูปเครื่องหมายสามเหลี่ยม มีเครื่องหมายตกใจอยู่ตรงกลางกะพริบ หรืออาจเป็นรูปรถที่มีสัญลักษณ์เหมือนป้ายเตือนรูประวังถนนลื่น กะพริบขึ้นมา แสดงว่าขณะนั้นระบบช่วยการทรงตัวต่างๆ ทำงานอันเนื่องมาจากรถเริ่มเสียการทรงตัว ระบบช่วยการทรงตัว หรือรักษาเสถียรภาพทำงาน เพื่อลดโอกาสเสียการควบคุม เมื่อรถทรงตัวได้ปกติ ไฟจะหยุดกะพริบ กรณีที่ไฟนี้กะพริบไม่หยุด แสดงว่าระบบมีปัญหา สามารถขับได้ตามปกติ แต่เวลาที่รถเริ่มเสียการทรงตัว ระบบอาจจะไม่ทำงาน ดังนั้นต้องขับด้วยความระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิม
รูปเครื่องยนต์ โชว์ระหว่างขับขี่ ?
การออกแบบไฟโชว์ต่างๆ เหล่านี้จะออกแบบให้ไฟดับเมื่อเครื่องยนต์ติดแล้ว อยู่ๆ ระหว่างขับขี่แล้วไฟโชว์รูปเครื่องยนต์ติดขึ้นมา แสดงว่าระบบเครื่องยนต์มีปัญหาแล้ว ถ้ารถขับได้ เร่งเครื่องได้ปกติ ก็ให้สังเกตมาตรวัดอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องความร้อน ถ้าความร้อนปกติ ก็สามารถขับต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้ความเร็วและรอบเครื่องยนต์สูงนัก รถบางรุ่นจะตัดเข้าสู่วงจรสำรอง เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะทำให้เครื่องยนต์ไม่สามารถใช้รอบได้มากนัก ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ที่ราว 1,500-2,000 รตน. เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดกับเครื่องยนต์ และเพื่อให้เจ้าของรถสามารถประคองรถกลับเข้าศูนย์บริการได้โดยไม่ต้องลาก ซึ่งไฟโชว์นี้มันค่อนข้างกว้างในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้น บางครั้งสายไฟขาด ECU ไม่สามารถจับสัญญาณได้ มันก็จะสั่งให้ไฟโชว์รูปเครื่องยนต์ติดสว่างขึ้น เพื่อเข้าทำการตรวจเชค ในบางระบบมันไม่ทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายในทันที แต่จะเป็นระยะยาว ดังนั้นระบบจึงยังยอมให้ผู้ขับขี่สามารถขับเคลื่อนรถต่อไปได้
ถุงลมนิรภัย ?
อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ต้องเรียนรู้ไว้ ถ้าไฟโชว์รูปถุงลมนิรภัย หรือสัญลักษณ์ SRS ติดสว่างระหว่างขับขี่ต้องรีบนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเชค บางครั้งก็เป็นเพราะการนำรถไปติดตั้งเครื่องเสียง สัญญาณกันขโมย ไฟกะพริบ ฯลฯ แล้วการตัดต่อ อาจไปรบกวนสัญญาณของระบบได้ ระยะตรวจเชคส่วนมากจะอยู่ที่ราวๆ 50,000 หรือ 100,000 กม. เป็นต้น บางครั้งการถอดพวงมาลัย หรือสายไฟที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้ไฟโชว์ติดขึ้นมาได้เหมือนกันครับ แนะนำว่าถ้าถอดพวงมาลัย ควรจะให้ศูนย์บริการทำให้ เพราะถ้าผิดพลาดขึ้นมา อาจทำให้ถุงลมระเบิด และเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ต้องศึกษาคู่มือการใช้งานของระบบเข็มขัดนิรภัยให้ดีด้วยนะครับ โดยเฉพาะผู้ที่มีเด็กๆ เดินทางไปด้วยเป็นประจำ
น้ำมันหมด ?
เจอมากับตัวเองก็บ่อย สำหรับรถที่ไม่คุ้นเคย ด้วยความชะล่าใจ ไม่ได้สนใจ ปรากฏว่าเครื่องยนต์ดับไปเฉยเลย ทั้งๆ ที่ไฟยังไม่โชว์ ภายในรถส่วนใหญ่ เมื่อไฟรูปน้ำมันเครื่องโชว์ มักจะวิ่งต่อได้ราวๆ 20-30 กม. แต่ทางที่ดีไม่ควรให้น้ำมันเหลือน้อยกว่า ? ถัง เมื่อถึงระดับนี้ควรเติมได้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันหมดในสถานที่ๆ ไม่ปลอดภัย มีมือใหม่หลายท่านไม่ทราบ เห็นไฟเตือนรูปหัวจ่ายติดสว่างขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร ก็ขับไปจนกระทั่งน้ำมันหมด ถ้าโชคดีก็จะหมดใกล้ปั๊ม หรือมีคนมาช่วย
ในรถระดับพรีเมียม ยิ่งต้องศึกษาให้มาก ส่วนใหญ่จะมีระบบ ON BOARD COMPUTER ซึ่งมันสามารถแสดงฟังค์ชันต่างๆ และสามารถแสดงผลได้หลากหลาย เช่นกัน ต้องศึกษาคู่มือการทำงานให้ดีว่ามันสามารถบอกค่าอะไรได้บ้าง และสามารถเปลี่ยนการแสดงผลอะไรได้บ้าง เพราะมีความซับซ้อนมากกว่ารถทั่วไป
และเจ้าของรถไม่เคยศึกษาคู่มือประจำรถเลย ความมาแตกเอาตอนนำรถไปแข่งแรลลีแบบครอบครัวบังเอิญว่าผมเป็นกรรมการ มีเจ้าของรถท่านหนึ่ง หน้าตาหงุดหงิด เพราะหลง แล้วมาต่อว่าผมไว้มากมายว่า ระยะทางไม่ตรงกับตัวเลขหน้าปัด ผมก็ชะโงกไปดูเห็นระยะทางขึ้นมากกว่าในใบนำทาง เลยถามกลับไปว่าลืมปรับศูนย์ระยะทาง หรือครับ เจ้าของรถสวนมาทันควันว่า "รถฉันปรับไม่ได้ยะ"
เลยถึงบางอ้อ ! จึงขออนุญาตปรับให้ดูว่าปรับอย่างไร ตอนแรกทำหน้าเหมือนกับว่า แล้วเธอจะรู้เหรอ! พอปรับได้เท่านั้นละ ทำหน้าใจชื้นขึ้นมาทันที เพราะที่ผ่านมา 2 TC หลงไปหลายกิโลเมตร...
ABOUT THE AUTHOR
ม
มือบ๊วย
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2545