เล่นท้ายเล่ม
คนไทยกับขุนช้าง-ขุนแผน
ในวรรณคดีด้วยกันแล้ว การศึกษาวิถีชีวิตคนไทย น่าจะค้นหาดูได้จากวรรณคดีเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน"
มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
เมื่อเอ่ยถึงวรรณคดี ย่อมหมายถึง หนังสือที่ได้รับความยกย่อง เป็นความเห็นจากคนส่วนใหญ่ อันเป็น
ความเห็นไปในเชิงบวกลบตรงกัน
เป็นต้นว่า เรายกย่องหนังสือที่ "สุนทรภู่" แต่งเป็นวรรณคดี
นอกจากความเห็นของคนส่วนมากแล้ว วรรณคดียังมีความหมายรวมไปถึงเป็นหนังสือสำหรับการสั่งสอน
เป็นต้นว่าหนังสือเรื่อง "ลักษณวงศ์" ของ "สุนทรภู่" สร้างตัวละคร เช่น ท้าวพรหมทัต และลักษณวงศ์
เป็นอุทาหรณ์สอนคนไทยในประเด็น คนเรามักทำความผิด เพราะความรัก และความหลง
เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กชั้นประถม สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าเคยอ่านนิยายพงศาวดารจีนตามหน้าหนังสือพิมพ์ และอ่านหนังสือ "หน้าวัดเกาะ เพราะนักหนา" เช่น เรื่อง "ปลาบู่ทอง" หรือ "แม่กะฌังก้นรั่ว" แล้วก็เริ่มอ่าน "สังข์ทอง" "รามเกียรติ์" "อิเหนา" และ "ขุนช้างขุนแผน" จนถึง "พระอภัยมณี"
ทั้งหมดนี้ บางเล่มก็เป็นหนังสือเรียน บางเล่มก็เป็นหนังสืออ่านนอกโรงเรียน (เพราะอ่านจากหน้า
หนังสือพิมพ์ หรือที่เขาพิมพ์ออกมาขาย)
"ขุนช้างขุนแผน" แม้จะมีตัวละครที่โลดแล่นโดดเด่นเพียงสองคน ระหว่าง ขุนแผน กับนางพิม
หรือ นางวันทอง แต่เป็นบทขับเสภาที่ไพเราะ เนื้อกลอนก็กินใจ จนบทที่นำมาใช้ในการขับร้อง
กับเครื่องสายและมโหรี ล้วนมาจาก "ขุนช้างขุนแผน" แทบจะร้อยเปอร์เซนต์เต็ม
"ขุนช้างขุนแผน" ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอกสารทางสังคมไทย บ่งเฉพาะประเพณีท้องถิ่นที่เป็นของ
ไทยโดยเฉพาะ
ในด้านการสอน วรรณคดีไทยหลายเรื่อง ถูกนำไปกล่าวอ้างเป็นการสอนแบบ อิน-ไดเรคท์ คือ
เป็นทางอ้อม ไม่ใช่ทางตรง
อาทิ เช่น เมื่อจะพูดถึงไฮโซสักนางหนึ่ง หนีพ่อแม่ตามพระเอกยากจนไป ก็มีคำพูดที่ว่า
"กลัวว่าเจ้าเงาะมันจะไม่ถอดรูปเสียน่ะสิ"
หรือในชีวิตของสองหญิงกับหนึ่งชาย (คนละเรื่องกับสองนักแสดงหญิงกับหนึ่งนักแสดงชายที่เป็นข่าว
หน้าหนึ่งเพราะรถยนต์คันเดียว) ก็จะมีคำกล่าวที่รู้จักกันทั่วไปว่า
"เห็นทีจะไม่เกิดศึกกะหมังกุหนิง อิเหนาก็คงไม่ได้เห็นบุษบาแหละคราวนี้"
สระน้ำที่เต็มด้วยดอกบัว คนไทยก็มีวรรณคดีที่กล่าวไว้อย่างไพเราะ
"น้ำเปี่ยมเทียมปากสระศรี ใสสะอาดปราศจากราคี ดังแสงแก้วมณีรจนา"
"ขุนช้างขุนแผน" เป็นบทบันทึกทางสังคมไทย และเป็นหนังสือบอกถึงวิถีความเป็นคนไทย หรือไลฟ์
สไตล์ของคนไทยก่อนถูกอารยธรรมตะวันตกเข้ามาครอบงำ เป็นการบันทึกอันยอดเยี่ยมที่มิได้บันทึก
เพียงสภาพ แต่ยังบันทึกอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ และสภาวะในท้องเรื่องนั้นด้วยพร้อมกัน
เรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" นี้ หากจะพูดให้ครบลักษณะความเป็นวรรณคดี ก็คงยืดยาวทั้งปีไม่จบ
แน่ ดังนั้นจะขอยกมาเพียงบางตอนที่เห็นว่าน่าสนใจ และน่าเรียกคืนมาทั้งหมดซึ่งวิถีชีวิตคน
ไทย ดังเช่น ตอนที่กล่าวถึงนายโจรบ้านโป่งแดงคนหนึ่งชื่อ นายจันศร บุกเข้าปล้นบ้านขุนศรี
วิไชย เสภาเล่นนี้ ได้บรรยายถึงสภาพของการเข้าปล้นไว้อย่างตื่นเต้น และบอกถึงวิถีความเป็น
อยู่ของคนไทยไว้ชัดเจน
"ชาวบ้านตื่นแตกแหกรั้วอึง ตกร้านเรือนตึงไม่สมประดี
บ้างก็วิ่งเสือกสนไปลนลาน อุ้มลูกจูงหลานแล้ววิ่งหนี
แบกลุ้งถุงย่ามไปตามมี อพยพหลบลี้อยู่พันพัว
ยายลาวโดดผลุงหัวทลุงซิ่น ติดดิ้นมือขวาเที่ยวหาผัว
ยายเต่าวิ่งวนอยู่ก้นรั้ว ร้องโอยเจ้าขรัวกลัวแล้วจ้า
ยายมอญล้มผลุงกระบุงกลิ้ง อุยย่ายตายจริงตละกุ่น
ชายหญิงวิ่งว่อนไปตามบุญ หลังไหล่เปื้อนฝุ่นผลุนวิ่งโทง
อ้ายเจ๊กก๊วยพวยขึ้นปีนตลิ่ง ทิ้งกางเกงปะเลงวิ่งไปโล้งโต้ง
พลัดตกลงน้ำดำโก้งโค้ง เสือกตะโพงเต็มหอบเข้าลอบปลา
หลงร้องโลเลว่าตะเข้ฉวย มะจิไบไซบวยซวยไอ๊ย่า
อ้ายตาฟางวางเซ่อเง่องมมา เอาคอผ่าเข้าไปในง่ามยอ
สำคัญว่าขโมยเอาขาหนีบ ตีนถีบไปมาตาปอหลอ
ลูกยอหล่นถูกหลังนั่งวอนง้อ พ่ออย่าถองลูกนักสบักจม"
เนื้อหาบรรยายถึงสภาพบ้านของขุนศรีวิไชย มี "ร้าน" เครื่องใช้อย่างหนึ่ง ได้แก่ "ลุ้ง" ซึ่งหมายถึง
ภาชนะสำหรับใส่อาหาร การนุ่งซิ่นของผู้หญิงไทยตามประเพณีแม้ในขณะเข้านอน ตลอดถึงการวาง
ลอบดักปลา และการใช้ยอ
หรือเมื่อกล่าวถึงตอนพลายแก้ว-ขุนแผนแห่งอนาคต-วางแผนปลูกเรือนหอ ผู้แต่งก็บรรยายถึงประเพณี
การปลูกเรือนหอตอนหนึ่ง ดังนี้
"ให้ขุดหลุมระดับชักปักเสาหม้อ เอาเครื่องเรือนมารอไว้ที่นั่น
ตีสิบเอ็ดใกล้รุ่งฤกษ์สำคัญ ก็ทำขวัญเสาเสร็จเจ็ดนาที
แล้วให้ลั่นฆ้องหึ่งโห่กระหน่ำ ยกเสาใส่ซ้ำประจำที่
สับชื่อพรึงติดสนิทดี ตะปูตียกเสาดั้งตั้งขึ้นไว้
ใส่เต้าจึงเข้าแปลานพลัน เอาจันทันเข้าไปรับกับอกไก่
พาดกลอนผ่อนมุงกันยุ่งไป จั่วใส่เข้าฝาเช็ดหน้าอึง
บ้างเจาะถากถุ้งเถียงเสียงเอะอะ เกะกะกบไสไชเหล็กจึ้ง
บ้างผ่าฟันสนั่นอึงคะนึง วันหนึ่งแล้วเสร็จสำเร็จการ"
และตอนที่กล่าวถึงการออกทัพ ซึ่งตามโบราณเรียกว่า "รบทัพจับศึก" ย่อมเป็นก้าวสำคัญของชีวิต จะ
เป็นหรือตายร้ายดีประการใดก็ยากต่อการทำนาย
เมื่อพลายแก้วยกทัพนั้น ได้ปรึกษาแม่กับเมียและตกลงกันว่า ควรปลูกต้นโพธิ์อธิษฐานไว้ โดยทองประศรีเป็นคนอธิษฐานก่อนพลายแก้ว คำอธิษฐานนั้นก็คล้ายกันทั้งสองคน ดังเช่น บทเสภาของพลายแก้วว่าดังนี้
"ตัวข้าจะขึ้นไปชิงชัย
แม้นจะมีชัยแก่ไพรี ขอให้โพธิ์ต้นนี้งอกงามไสว
ถ้าแม้นจะอาสัญบรรลัย ขอให้โพธิ์ข้านี้ตายตาม
แม้นตัวข้านี้มิป่วยไข้ ขอให้โพธิ์สุกใสเรืองอร่าม
ถ้าสำเร็จเสร็จณรงค์สงคราม ขอให้งามเขียวชะอุ่มเป็นพุ่มชัฏ"
และตอนที่กล่าวถึงขุนแผนจะเข้าไปรับราชการในกรุง แม่ทองประศรียังมีคำสอนว่าด้วยวุฒิ 4ประการ
ที่ข้าราชการควรประพฤติ
หนึ่ง เป็นผู้ดีมีเชื้อชาติ กิริยามารยาทส่อสกุล
หนึ่ง มีวิชาอันตนได้ศึกษามาแล้วเป็นอย่างดี เป็นเครื่องส่งเสริมตน
หนึ่ง มีอายุเจริญวัย เข้าใจผิดเข้าใจชอบ ประกอบการงานให้ถูกให้ต้อง
หนึ่ง มีปัญญาและความฉลาด มีความว่องไวในการทันผู้ทันคน
นอกจากวุฒิ 4 ประการแล้ว แม่ทองประศรียังสอนภัย 4 ประการให้แก่ขุนแผนอีกด้วย โดยกล่าวถึง
อุทกภัย วาตภัย โจรภัย และ ราชภัย
ซึ่งนางทองประศรีเน้นว่า "ราชภัย" นั้นสำคัญที่สุด ร้ายแรงที่สุด ถึงระดับประหารชีวิต โดยเฉพาะอย่า
ทะนงตนว่าเก่งกล้าสามารถ หาไม่แล้วจะไม่แคล้วต้องราชภัย
ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนบางตอนของ เสภาเอก "ขุนช้างขุนแผน" ซึ่งวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่ก็แทบจำไม่ได้
แล้วว่ามันคือวรรณคดีเอกของไทย
ไม่ต้องดูไกลครับ ขณะนี้มีนักเรียน มัธยม 3 เท่านั้นที่ยังเรียนเสภาเล่มนี้ และเป็น ตอน "พลายงามพบ
พ่อ" อยู่ในหนังสือเรียนภาษาไทย (ทักษสัมพันธ์) ท.305 ท.306
ก็ยังดีนะ...!!
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม