เหลืออีกเพียงครึ่งทางก็จะได้รู้ว่าใครจะคว้าถ้วยแชมพ์แรลลีโลก (WORLD RALLY
CHAMPIONSHIP) ประจำปี 2007 ไปครอง ไม่ว่าจะเป็นตัวเก็งอย่างอดีตแชมพ์โลก เซบัสเตียง โลบ์ (SEBASTIEN LOBE) ทีม ซีตรอง ที่ฟอร์มดีมาตั้งแต่ต้น แต่กลับมีคะแนนตามหลังนักขับรุ่นเก๋าสังกัดทีม ฟอร์ด ที่ฟอร์มเพิ่งจะมาร้อนแรงอย่าง มาร์คุส โกร์นโฮล์ม (MARCUS GRONHOLM) อยู่ 9 แต้ม รวมทั้ง มิคโค ฮีร์โวเนน (MIKKO HIRVONEN) ก็เป็นอีกคนที่มองข้ามไม่ได้ หลังจากที่ปีนี้สามารถจบการแข่งขันแบบได้ขึ้นไปยืนบนโพเดียมหลายสนามติดต่อกัน
สำหรับสังเวียนที่ใช้แข่งสนามที่ 9 อยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นเมือง พันทะเลสาบ
(1000 LAKES) ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยทะเลสาบ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ปกคลุมตลอด 2 ข้างทาง เส้นทางที่ใช้ทำการแข่งขัน เป็นทางกรวดที่ราบเรียบ สามารถใช้ความเร็วได้สูง จึงไม่น่าแปลกใจที่สนามนี้จะเป็นสนามสุดโปรดของทั้งบรรดากองเชียร์ สื่อมวลชน นักแข่ง และทีมงานจัดการแข่งขัน
รายชื่อของผู้ที่เคยคว้าแชมพ์ในรายการนี้ ล้วนแล้วมาจากประเทศในแถบสแกนดิเนเวียทั้งสิ้น เนื่อง
จากคุ้นเคยกับสภาพเส้นทางที่หลายคนก็หัดขับรถบนสภาพถนนแบบนี้ตั้งแต่ยังเด็ก
โดย โกร์นโฮล์ม นักขับเจ้าถิ่น อดีตแชมพ์ 2 สมัย เป็นผู้ที่คว้าชัยที่นี่ได้มากครั้งที่สุดถึง 6 ครั้ง ใน ปี
2000-2002 และ 2004-2005 และล่าสุดเมื่อฤดูกาลที่แล้วปี 2006 ส่วน โลบ์ แชมพ์โลก 3 สมัย สัญชาติฝรั่งเศส คู่ปรับ โกร์นโฮล์ม กลับไม่เคยคว้าแชมพ์ที่นี่ได้สำเร็จเลย
เลกแรกออกสตาร์ทท่ามกลางกองเชียร์ที่แห่เข้ามาชมการแข่งขันอย่างคึกคัก เสียงโห่ร้อง และ แตรลม
ดังอย่างไม่ขาดระยะ โกร์นโฮล์ม นักขับเจ้าถิ่น ที่พกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยม ทั้งด้วยคะแนนรวมที่นำห่างคู่แข่งอยู่ถึง 9 แต้ม และยังได้ลงแข่งในสนามบ้านเกิดตัวเอง แน่นอนว่าย่อมได้รับกำลังใจจากกองเชียร์อย่างล้นหลาม
ผลการแข่งขันเมื่อจบเลกแรกเป็นไปตามคาด โกร์นโฮล์ม สามารถนำรถ ฟอร์ด โฟคัส เข้าเส้นชัยด้วย
เวลารวมเป็นอันดับหนึ่ง เช่นเดียวกับ ฮีร์โวเนน เพื่อนร่วมทีมสัญชาติเดียวกัน ที่พารถ ฟอร์ด เข้าเส้นชัยตามหลังมาติดๆ เป็นคันที่ 2
ขณะที่ ฟอร์ด จบวันแรกได้อย่างสวยงาม ทีมอื่นๆ กลับต้องวุ่นกับการแก้ปัญหาต่างๆ ตลอดทั้งวัน โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากชิ้นส่วนแอโรไดนามิคที่มักจะหลุดออกเมื่อรถเหินลงมากระแทกเนิน ทำให้การควบคุมรถที่ความเร็วสูงยากลำบากขึ้น เมื่อรถไม่มีชิ้นส่วนเหล่านี้คอยควบคุมทิศทางลม
เพทเทร์ โซลเบร์ก (PETTER SOLBERG) ทีม ซูบารุ กล่าวกับสื่อมวลชนที่จุดพักรถ "ช่วงแรกควบคุมรถ
ได้ยากมาก หลังจากที่ชายล่างหลุดออกไป แต่ตอนนี้ดีขึ้นเยอะ เพราะผมให้ทีมงานเซทช่วงล่างใหม่แทน แต่ก็ต้องปรับกันไปเรื่อยๆ ถ้าหวังจะจบการแข่งขันแบบมีตำแหน่ง"
ขณะที่ โลบ์ แม้จะขับแบบไร้ปัญหารบกวน แต่ก็ทำได้เพียงไล่ตามคู่หูทีม ฟอร์ด ตลอดทั้งวัน แสดงให้
เห็นว่าความคุ้นเคยกับสภาพสนาม ในฐานะเจ้าถิ่น เป็นข้อได้เปรียบอย่างมากในการแข่งขันที่นี่ โดยจบวันแรก โกร์นโฮล์ม ทิ้งห่าง โลบ์ ไปแล้วกว่า 20 วินาที
วันที่สอง มีหลากหลายอารมณ์ ตั้งแต่ดีใจ ไปจนถึงผิดหวัง เริ่มจาก โซลเบร์ก ที่ต้องถอดหมวกกันนอ
คอย่างเสียอารมณ์ หลังจากที่รถ ซูบารุ อิมพเรซา มีปัญหาในช่วงกลางของสเตจ ขณะที่ คริส แอทคินสัน (CHRIS ATKINSON) เพื่อนร่วมทีม กลับทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง จนเวลารวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4
ด้าน โลบ์ ก็ต้องขับอย่างโดดเดี่ยว เมื่อรถอีกคันของทีมที่ขับโดย ดานี โซร์โด (DANI SORDO) ต้อง
ออกจากการแข่งขัน เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค "ผมไม่รู้จะทำอย่างไรถึงจะไล่ทันคู่นั้น" โลบ์ ออกมายอมรับ "ที่ทำได้ก็แค่รักษาที่ 3 เอาไว้ และลุ้นกันใหม่สนามหน้า" จบวันที่สอง 2 คู่หูทีม ฟอร์ด ทิ้งห่าง โลบ์ ออกไปเป็น 1 นาที โดยมี แอทคินสัน ทีม ซูบารุ ตามหลังมาเป็นอันดับ 4
วันสุดท้ายของการแข่งขัน ผลเป็นไปตามคาด โกร์นโฮล์ม กลายเป็นฮีโรของกองเชียร์เจ้าถิ่น ด้วยการ
คว้าแชมพ์ที่ประเทศฟินแลนด์ ได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 7 "เป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมากกับชัยชนะครั้งที่ 7 ในบ้านเกิดตัวเอง และก็ดีใจมากกับ 10 คะแนนเต็มที่ได้รับอีกด้วย" ขณะที่ ฮีร์โวเนน ก็ได้รับเสียงเชียร์ไม่แพ้กัน ที่ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำเวลารวมเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 ด้วยเวลารวมตามหลังผู้นำ 24.2 วินาที
ด้าน โลบ์ เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 โดน โกร์นโฮล์ม ทิ้งห่างออกไปอีกเล็กน้อย เป็น 1 นาที 9.9 วินาที
โดยมี แอทคินสัน นักขับน้องใหม่ ทีม ซูบารุ เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 4 ตามหลังผู้นำ 3 นาที 2.8 วินาที
จากผลการแข่งขันในครั้งนี้ ส่งผลให้ คะแนนสะสมรวมของ โกร์นโฮล์ม ขยับขึ้นไปเป็น 75 คะแนน ทิ้ง
ห่าง โลบ์ ที่มีคะแนน 62 แต้ม ไปเป็น 13 คะแนนเต็ม ส่วน ฮีร์โวเนน ที่ได้รับเพิ่มอีก 8 คะแนน ทำให้มีคะแนนสะสมขยับขึ้นมาเป็น 57 คะแนน
ด้านคะแนนสะสม ประเภททีมผู้ผลิต รถทุกคันของทีม บีพี-ฟอร์ด ดับเบิลยูอาร์ที ยังทำผลงานได้ดี
อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คะแนนรวมของทีมพุ่งขึ้นไปเป็น 132 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 ทีม ซีตรอง โททาล ดับเบิลยูอาร์ที ที่เพิ่งมีเพียง 92 คะแนน ด้านทีม ซูบารุ ดับเบิลยูอาร์ที มี 48 แต้ม มากกว่าทีม สโตบาร์ท เอม-สปอร์ท ฟอร์ด อาร์ที อยู่ 3 คะแนน
[table] สรุปผลคะแนนการแข่งขัน สนามที่ 9 ประจำปี 2007 ประเภทผู้ขับ
อันดับ, ผู้ขับ, คะแนนรวม
ชนะเลิศ, มาร์คุส โกร์นโฮล์ม, 75
รองอันดับ 1, เซบัสเตียง โลบ์, 62
รองอันดับ 2, มิคโค ฮีร์โวเนน, 57 [/table]
[table] สรุปผลคะแนนการแข่งขัน สนามที่ 9 ประจำปี 2007 ประเภททีมผู้ผลิต
อันดับ,, ทีม, คะแนนรวม
ชนะเลิศ,, บีพี-ฟอร์ด ดับเบิลยูอาร์ที, 132
รองอันดับ 1,, ซีตรอง โททาล ดับเบิลยูอาร์ที, 92
รองอันดับ 2,, ซูบารุ ดับเบิลยูอาร์ที, 48 [/table]
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม
นิตยสาร 409 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2550