ช่วงวิกฤตน้ำมันแพงเมื่อ 2-3 ปีก่อน เจ้าของรถที่อยากประหยัด แห่นำรถไปติดแกส แอลพีจี กันยกใหญ่ จนเจ้าของร้านติดตั้งเป็นเสี่ยไปตามๆ กัน ผ่านมาถึงวันนี้ รถติดแกสเหล่านั้น ทั้ง (แอลพีจี และ ซีเอนจี) ก็ได้เวลาที่จะต้องเข้ารับการบำรุงรักษา และซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องแล้ว !
ปัญหาคลาสสิค ของรถติดแกส
"ฟอร์มูลา" คัดเฉพาะปัญหา ที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ของรถติดแกส ทั้ง (แอลพีจี และซีเอนจี) มาคุยกัน
บ่าวาล์วทรุด !
ปัญหานี้ คนส่วนมากมักเข้าใจผิด ว่าเวลาใช้แกสแล้ววาล์วจะแห้ง ทำให้สึกหรอเร็วกว่าปกติ เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องครับ เพราะในเครื่องยนต์สันดาปภายใน จำเป็นจะต้องใช้น้ำมันหล่อลื่นเพื่อลดการเสียดสีกันในเครื่องยนต์ ในสภาวะทำงานจะเกิดความดันสูงมาก จนน้ำมันเครื่องถูกตีเป็นฟองละเอียด และกลายเป็นไอในที่สุด ไอนี้จะถูกนำกลับไปที่อ่างน้ำมันเครื่อง และก็ยังมีทางไปหล่อลื่นส่วนต่างๆ อีกมากมาย รวมทั้งไปเคลือบบ่าวาล์วไอดี เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องใส่น้ำมันหล่อลื่นเข้าไปตรงบริเวณบ่าวาล์วอีก เพราะจะทำให้เกิดคราบตะกรันฝั่งแน่นบริเวณบ่าวาล์วไอดีได้ ทำให้ส่วนผสมระหว่างอากาศกับเชื้อเพลิงเปลี่ยนไป
ส่วนวาล์วไอเสียไม่มีทางที่เราจะหล่อลื่นมันได้ เนื่องจากต้องโดนความร้อนจากการเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา จนวาล์วร้อนฉ่าเป็นสีแดง ถ้าใส่สารหล่อลื่นเข้าไป ก็จะถูกเผาออกทางท่อไอเสียอยู่ดี แต่การที่วาล์วสึกเร็วกว่าเดิม เป็นเพราะค่าความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากการเผาไหม้ ส่วนใหญ่จะเกิดในรถที่ติดตั้ง ซีเอนจี มากกว่า เพราะ ซีเอนจี จะมีช่วงติดไฟกว้าง (กว่าจะดับใช้เวลานาน) กว่า แอลพีจี จึงทำให้เวลาเผาไหม้นาน แทนที่จะดับแค่ในห้องเผาไหม้ กลับไปดับในจังหวะคายไอเสีย ซึ่งไฟอาจลุกลามไปบริเวณบ่าวาล์วไอเสียได้ จึงทำให้วาล์วด้านไอเสียสึกหรอเร็วกว่าปกติ
ในรถที่ใช้แกส ซีเอนจี จึงต้องมีตัวจุดระเบิดก่อนล่วงหน้า (ไทมิงแอดวานศ์) เพื่อที่ไฟจะได้ดับในจุดเดิม (จุดเดียวกับที่ใช้น้ำมัน)
ส่วนรถที่ใช้แกส แอลพีจี ปัญหาเรื่องบ่าวาล์วทรุดจะน้อยหน่อย ยิ่งถ้าติดในระบบหัวฉีดที่ปรับทูนมาอย่างดี อาจปรับตั้งวาล์วตามกำหนดเวลาเดิมของน้ำมันได้เลย
ฉะนั้นถ้าเป็นรถที่ใช้แกสระบบดูด ควรปรับตั้งวาล์วให้เร็วกว่าเดิมนิดหน่อย โดยอาจปรับตั้งทุกๆ 50,000 กม. จากเดิม 80,000 กม. ที่สำคัญ คือ ต้องใช้น้ำมันเบนซินบ้าง ไม่ควรใช้แกสอย่างเดียวตลอดเวลา ทั้งขณะสตาร์ท และดับเครื่องยนต์ โดยวิธีการขับรถใช้แกสที่ถูกต้องดูได้ในหัวข้อต่อๆ ไป
กลิ่นแกสเข้ามาในรถ
ถ้ามีกลิ่นแกสเข้ามาในรถ ให้สันนิษฐานได้เลย อาจเกิดการรั่วซึมภายในระบบแกส หรือเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ทำให้มีกลิ่นแกสผสมในไอเสียมากเกินไป โดยปกติแล้วปัญหานี้จะเกิดขึ้นเฉพาะแกส แอลพีจี เท่านั้น เนื่องจากมีการผสมสารที่มีกลิ่นฉุนเข้าไป (เวลาแกสรั่วจะได้รู้ได้ทันที)
ถ้าแกสรั่วจริง ถือเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าได้กลิ่นแรง ต้องเปลี่ยนไปใช้น้ำมันแทนทันที แล้วรีบนำรถเข้าตรวจเชคระบบแกสอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าหากเกิดประกายไฟขึ้น อาจลุกติดไฟได้ (แอลพีจี มีช่วงติดไฟในอากาศ 15 % โดยปริมาตร ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้ ไฟจะไม่ติด)
ส่วนถ้าเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ให้ลองปรับทูนระบบแกสดูใหม่ เทียบได้จากกราฟ AF RATIO ของน้ำมัน (เป็นกราฟที่บ่งบอกอัตราส่วนผสมที่เหมาะสมระหว่างอากาศกับน้ำมันของรถคันนั้น ทำให้เวลาปรับทูนแกส เราสามารถนำค่านั้นมาเป็นแนวทางได้) ให้ส่วนผสมระหว่างแกสกับอากาศมีปริมาณที่เหมาะสมใกล้เคียงระบบน้ำมันมากที่สุด
ปกติแล้ว รถใช้แกส แอลพีจี จะมีกลิ่นแกสในท่อไอเสียบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่กลิ่นต้องไม่แรงจนเกินไปครับ
เดินเบาเครื่องสั่น เบาดับ
ส่วนใหญ่แล้วอาการแบบนี้จะเกิดกับรถที่ใช้ระบบมิกเซอร์ หรือระบบดูด ซะส่วนใหญ่ เพราะแกสไม่ได้ถูกจ่ายตามความต้องการในแต่ละสูบ แต่จะจ่ายรวมๆ ทางท่อไอดี ดังนั้น สูบไหนใกล้ท่อไอดีมากที่สุด ก็ได้แกสเยอะหน่อย สูบไหนไกลก็ได้น้อย หรือไม่ได้เลย ดังนั้นเครื่องที่ใช้แกสระบบ มิกเซอร์ จึงมักมีปัญหาเกี่ยวกับชิ้นส่วนต่างๆ ได้ง่ายกว่า
ระบบแกสแบบหัวฉีด เพราะมีท่อต่อจากราวหัวฉีดแกส ไปยังท่อไอดีของแต่ละสูบ (ท่อนี้ต้องมีขนาดเท่ากันทุกสูบ) สามารถสั่งจ่ายแกสได้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละสูบ ซึ่งทำให้เครื่องยนต์มีความคงทนมากกว่า
บางครั้งเรื่องเบาดับ หรือเครื่องสั่น อาจไม่ได้เกี่ยวกับระบบแกส บางกรณีอาจเกิดจากอุปกรณ์ของระบบน้ำมัน เช่น ตัวควบคุมรอบเดินเบาเสื่อมสภาพ (เวลารอบต่ำจะไม่เร่งรอบให้อัตโนมัต) วิธีเชคง่ายมาก แค่เข้าในโหมดน้ำมัน ถ้ายังมีอาการอยู่ แสดงว่าตัวควบคุมรอบเดินเบาเสื่อมสภาพ (ถ้าระบบน้ำมันยังเป็น เปลี่ยนไปใช้แกสก็เป็น แสดงว่าไม่ได้เกิดจากระบบแกสแล้วละ) แต่ถ้ายังไม่หายอีก ก็อาจเป็นที่ระบบแกสก็ได้ เนื่องจากอุปกรณ์แกสไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อนมากนัก ส่วนประกอบต่างๆ จึงเป็นเพียงยางจากแผ่นไดอเฟรม บางรุ่นอาจใช้ผ้าหรือกระดาษ สามารถถอดมาเปลี่ยนชุดซ่อมได้ไม่ยาก เมื่อใกล้จะหมดอายุ (ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์) ก็มักแสดงอาการให้เห็น เช่น ถ้าหม้อลดแรงดันเกิดรั่วขึ้น การจ่ายแกสก็ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดอาการเบาดับ เครื่องเร่งไม่ขึ้นก็เป็นได้
ตรวจเชคระบบแกสด้วยตัวเอง
ตรวจการรั่ว
การตรวจเชคแกสรั่วนั้นไม่ยาก โดยทั่วไปแล้วร้านติดตั้งแกสที่ได้มาตรฐาน จะต้องมีเครื่องมือตรวจเชคแกสรั่ว(GAS DETECTER) อยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเครื่องนี้จะตรวจจับแกสไฮโดรคาร์บอน (HC) ซึ่งเป็นสารประกอบของแกส แอลพีจี และแกส ซีเอนจี เมื่อพบ เครื่องจะส่งเสียงร้องทันที
แต่ถ้าไม่มี ไม่ต้องตกใจ เพราะเราสามารถตรวจเชคด้วยวิธีแบบบ้านๆ ซึ่งได้ผลดีเช่นกัน คือ ใช้น้ำสบู่ตีเป็นฟองบางๆ แล้วหยอดที่ข้อต่อแกสในทุกจุดที่เราสามารถทำได้ เช่น ท่อทองแดงที่วาล์วของถังแกส บริเวณท่อต่างๆ ของหม้อลดแรงดัน (หม้อต้ม) และท่อยางต่างๆ เป็นต้น ถ้าข้อต่อเกิดการรั่ว จะมีแกสไหลออกมาในลักษณะลม เราจะสังเกตได้จากฟองสบู่ ขณะตรวจต้องติดเครื่องยนต์และเปิดใช้ระบบแกส
อีกวิธีหนึ่ง คือ การ ดมกลิ่น ด้วยจมูกเรานี่แหละ ! แต่วิธีนี้ใช้ได้กับแกส แอลพีจี เท่านั้น ส่วนแกส
ซีเอนจี ไม่ได้เติมกลิ่น
ตรวจท่อยาง
ท่อยางเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราสังเกตได้ง่าย ท่อยางในระบบแกสจะมีแค่บริเวณช่วงหลังหม้อลดแรงดันไปเข้าเครื่องยนต์เท่านั้น (จากถังแกสมายังหม้อลดแรงดัน จะเป็นท่อทองแดงเสมอ เหมือนกันทั้ง แอลพีจี และ ซีเอนจี) ถ้าท่อยางเสื่อมสภาพ ท่อจะเริ่มแข็งและแตกลายงา ต้องใช้มือบีบดู จึงจะรู้ ถ้ายังนิ่มแสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าแข็งแล้ว ก็ควรเปลี่ยนจะดีกว่า (อายุของท่อยางแกส อยู่ประมาณ 2-3 ปีแล้วแต่มาตรฐานการผลิต)
ตรวจจุดยึดอุปกรณ์แกส
ในรถที่ติดตั้งแกสทั้ง 2 ชนิดจะคล้ายกัน เพราะจะต้องดัดแปลงออกแบบสร้างขาเหล็ก เพื่อยึดถังแกส ยึดหม้อลดแรงดัน ยึดติดแกส (ตัวเปิด/ปิดแกส ด้วยการเหนี่ยวนำไฟฟ้า) และยึดตัวหัวฉีด (ระบบมิกเซอร์จะไม่มี) เราต้องตรวจดูว่าขาเหล็กมีสภาพแข็งแรงอยู่หรือไม่ โดยอาจจะลองขยับดู ถ้ายังแน่นอยู่ก็ใช้ได้
ตรวจเชคกรองแกส และถ่ายขี้แกส
ระบบแกสนั้น จำเป็นต้องมีตัวกรองแกสก่อนเข้าห้องเผาไหม้เสมอ เพราะในน้ำแกส อาจมีสิ่งสกปรกผสมปนอยู่บ้าง กรองแกสส่วนใหญ่จะอยู่หลังหม้อลดแรงดัน เป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่สามารถถอดออกมาล้างได้(ควรเปลี่ยนกรองแกสทุกๆ 30,000 40,000 กม.) และต้องถ่ายขี้แกสในตัวหม้อลดแรงดัน ทุกๆ 50,000 กม. เป็นอย่างน้อย
มัลทิวาล์วปลอดภัยกว่า
ปัจจุบันนี้วาล์วแบบเก่า ที่ต้องใช้มือหมุนเพื่อเปิด/ปิดวาล์วเวลาเติมแกส คงลดน้อยลงมากแล้ว แต่บางร้านยังขายให้ลูกค้าอยู่ อาจเพราะราคาที่ถูกกว่าแบบมัลทิวาล์ว (MULTIVALVE) อยู่พอสมควร
ใครที่ยังใช้วาล์วแบบเก่า ขอแนะนำให้เปลี่ยนเป็นแบบมัลทิวาล์วดีกว่า เพราะวาล์วแบบเก่านั้น หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ไม่มีอะไรป้องกันได้เลย แต่มัลทิวาล์วจะมีระบบช่วยบรรเทาความรุนแรงด้วยระบบกลไก
เมคานิค เช่น จำกัดการไหลออกของแกสในกรณีท่อแตก ถ้าแรงดันในถังมากเกิน ก็จะมีวาล์วระบายออก ถ้าความร้อนมากเกินไปตะกั่วจะละลายดันแกสออก เพื่อลดโอกาสถังแกสระเบิด ป้องกันแกสไหลย้อนกลับ เป็นต้น
ใช้รถติดแกสให้ถูกต้อง
รถใช้แกสเป็นเชื้อเพลิง ก็เหมือนกับรถที่ใช้น้ำมันนั่นแหละ ยิ่งรถที่ติดแกสระบบหัวฉีดด้วยแล้ว ยิ่งใช้งานง่ายเข้าไปใหญ่ เพราะจะมีกล่อง ECU GAS สั่งการให้เครื่องยนต์สลับไปใช้แกสโดยอัตโนมัติ และสั่งตัดทันทีที่แรงดันแกสเหลือน้อย (แกสหมด) หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในระบบแกสขึ้น
ในการสตาร์ทเครื่องยนต์ครั้งแรก ถ้าเป็นระบบหัวฉีด ระบบจะรอให้เข้าเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้ อุณหภูมิน้ำในหม้อน้ำสูงประมาณ 50 องศาเซลเซียส, หน่วงเวลาสลับแกสประมาณ 30 วินาที และต้องใช้รอบเครื่องยนต์มากกว่า 1,500 รตน. เมื่อเข้าเงื่อนไขแล้ว ระบบจึงจะสลับเป็นแกสให้อัตโนมัติ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะจะต้องอาศัยน้ำร้อนจากหม้อน้ำรถยนต์มาผ่านหม้อลดแรงดัน (หม้อต้ม) ให้ความร้อนช่วยละลายน้ำแข็งออกจากรูเล็กๆ ของท่อลดแรงดัน รวมถึงช่วยให้แกสเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นแกสได้เร็วขึ้น (เฉพาะแกส แอลพีจี) ฉะนั้นถ้าอยากจะใช้แกสให้ได้ประสิทธิภาพที่ดี และคุ้มค่า ก็ต้องรอให้เครื่องร้อนจนใกล้อุณหภูมิทำงานเสียก่อน จึงค่อยสลับเป็นแกส
ในระบบดูด (MIXER) จะไม่มีระบบอีเลคทรอนิคแบบนี้เข้ามาช่วย ต้องอาศัยการเปลี่ยนด้วยมือตัวเอง (แล้วแต่คนขับรถ) ในสวิทช์รุ่นใหม่ๆ อาจเป็นสวิทช์แบบอัตโนมัติ (ไม่สมบูรณ์เหมือนระบบหัวฉีด) อาศัยเพียงสัญญาณจากรอบเครื่องยนต์อย่างเดียวเท่านั้น ถ้าเครื่องยังไม่ร้อนแต่รอบเครื่องถึงแล้ว สวิทช์ก็จะเปลี่ยนไปใช้แกสให้ทันที ระบบแบบนี้อาจส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์ได้ ดังนั้นถ้าใช้ระบบดูด ก็ต้องรอให้อุณหภูมิเครื่องยนต์ร้อนเสียก่อน จึงค่อยกดเปลี่ยนเป็นแกส
พอใช้แกสไปแล้ว เมื่อต้องการจอดรถ ในระยะเวลาไม่นานมาก เราสามารถดับเครื่องยนต์ด้วยแกสได้เลยทันที แต่ถ้าจำเป็นต้องจอดนานๆ เช่น จอดรถค้างคืน ควรต้องสลับมาใช้น้ำมันก่อนจะดับเครื่องซัก 1 นาที เพื่อให้น้ำมันนั้นไหลเวียนแช่อยู่ในระบบเครื่องยนต์ และยังช่วยให้ตอนเช้าสตาร์ทติดได้ง่าย เครื่องยนต์ไม่สึกหรอเกินความจำเป็น
รถติดแกสจากโรงงาน
รถประเภทนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้คนเริ่มหันมามองเชื้อเพลิงจากแกสธรรมชาติมากขึ้น แต่ก่อนคนชอบมองว่า แกสต่างๆ นั้นไม่ปลอดภัย ให้ภาพที่ติดลบ ทั้งยังเคยเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่ชวนขนลุก อย่างข่าวรถแกสระเบิดบนถนนเพชรบุรีเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น คนนิยมนำรถไปติดแกสเองภายหลังมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์จึงเห็นช่องทางการตลาดใหม่ และไม่รับประกันรถที่ติดแกสจากอู่ข้างนอกผู้ผลิตรถยนต์ แต่ละรายพยายายามนำเสนอว่าผลิตภัณฑ์ของเขามีมาตรฐานสูงกว่าไปติดแกสเองภายหลัง แถมรถยังรับประกันคุณภาพเหมือนเดิม !
"ฟอร์มูลา" รวบรวมรถติดแกสจากผู้ผลิตรถยนต์ที่ขายในปัจจุบัน มาให้ดูกัน ผู้ผลิตบางรายว่าจ้างบริษัทภายนอก มาติดตั้งให้ หลังจากประกอบรถเสร็จ แต่บางรายก็ประกอบเองโดยตรง
เซฟโรเลต์ ออพทรา 1.6 แอลเอส ซีเอนจี
เซฟโรเลต์ เป็นค่ายแรกที่นำรถที่สามารถใช้เชื้อเพลิงได้ 2 ระบบ (น้ำมันเบนซิน และแกส ซีเอนจี) ออกขายในโชว์รูม แถมยังกล้ารับประกันคุณภาพนานถึง 3 ปี หรือ 100,000 กม. อีกด้วย ทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ไม่ยาก ตอนนั้น ใครที่ใช้รถ เซฟโรเลต์ ออพทรา อยู่ แล้วอยากติด ซีเอนจี บ้าง ทางบริษัท ฯ ยังจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการติดตั้งจาก ปตท. ถึง 10,000 บาทอีกด้วย
เซฟโรเลต์ ออพทรา ซีเอนจี นั้น ใช้เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร 4 สูบ 110 แรงม้า ตั้งราคาเริ่มต้นไว้ 759,000 บาท
ปโรตอน เพอร์โซนา ซีเอนจี 1.6 แอล ไฮไลน์
รถขนาดกลางใช้เชื้อเพลิงได้ 2 ระบบ น้ำมัน และ แกส ซีเอนจี โดยมี 3 ทางเลือก ประกอบด้วย รุ่นมาตรฐาน มีเดียมไลน์ (MEDIUM LINE) เกียร์ธรรมดา และ อัตโนมัติ กับรุ่นทอพ ไฮไลน์ (HIGH LINE) เกียร์อัตโนมัติ เครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร ให้กำลัง 110 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ราคาเพียง 629,000 บาท ถูกกว่ารถขนาดกลางญี่ปุ่นเกือบ 2 แสนบาท
โตโยตา อัสทิส 1.6 อี ซีเอนจี
โตโยตา อัลทิส เป็นรถยอดนิยมในบ้านเรา มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แถมรถแทกซีเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ก็ใช้รุ่นนี้กันทั้งนั้น ด้วยความทนทาน อะไหล่หาง่าย ไม่แพง จึงทำให้ภาพลักษณ์ของ อัลทิส ใช้แกสไปได้สวย ปีนี้ โตโยตา ออกรุ่น อัลทิส 1.6 อี ซีเอนจี ใหม่ (แต่เดิมรุ่น ซีเอนจี มีเฉพาะรุ่น ลีโม เท่านั้น) ด้วยการออกแบบหัวเติมให้อยู่ที่เดียวกับฝาเติมน้ำมัน (จากเดิมอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้า) ทำให้สะดวกและสวยงามมากขึ้น เครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร 4 สูบ 109 แรงม้า ราคา 834,000 บาท (สูงว่ารุ่น อี 55,000 บาท)
มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ซีเอนจี
มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ซีเอนจี มีเฉพาะแค่โฉมเก่า (ปัจจุบันยังขายอยู่) เท่านั้น ในรุ่นใหม่อย่าง แลนเซอร์ EX ยังไม่มีขาย มิตซูบิชิ แลนเซอร ซีเอนจี ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร 4 สูบ 102 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ ระบบซีวีที 6 จังหวะ ใช้ถังแกส ซีเอนจี แบบ ไทพ์ทู ที่มีน้ำหนักเบา ราคา 847,000 บาท
เมร์เซเดส-เบนซ์ อี 200 เอนจีที
เมร์เซเดส-เบนซ์ เปิดตัวรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสส์ รหัส ดับเบิลยู 211 ในชื่อรุ่น อี 200 ซีเอนจี ที่สามารถใช้ได้ทั้ง ซีเอนจี และเบนซิน โดยออกแบบให้ติดตั้งถังแกส ซีเอนจี ได้ถึง 4 ถัง มีปริมาตรความจุรวม 107 ลิตรน้ำ หรือคิดเป็นน้ำหนักแกส 18 กก. วิ่งได้ไกลกว่า 300 กม. ซึ่งมากที่สุดในรถ ซีเอนจี จากโรงงาน ด้านเครื่องยนต์ก็ไม่ธรรมดา เพราะมีซูเพอร์ชาร์จ ให้กำลังถึง 163 แรงม้า จากเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร 4 สูบ สามารถทำความเร็วกว่า 200 กม./ชม. ราคา 4,140,000 บาท แพงกว่ารุ่น คอมเพรสเซอร์ เดิมๆ แสนกว่าบาท
สามมิตร กรีนเพาเวอร์
เมื่อปีที่แล้ว บริษัท สามมิตร กรีนเพาเวอร์ จำกัด ได้นำรถกระบะ โตโยตา วีโก แบบตอนเดียว มาติดตั้งถังแกสถึง 3 ใบ อย่างแนบเนียน จากผลการตอบรับที่น่าพอใจ จึงเพิ่มรุ่น สมาร์ทแคบ(ถัง 3 ใบ ความจุ 144 ลิตร ได้ระยะทางกว่า 280 กม.) และ ดับเบิลแคบ (ถัง 3 ใบ 144 ลิตร ได้ระยะทางมากกว่า 400 กม.) มาเป็นทางเลือก มีการตรวจสอบตามมาตรฐาน ISO 15501-1/2 หรือ มอก. 2333-1/2 ทั้งระบบ หัวเติมแกสติดตั้งบริเวณเดียวกับฝาเติมน้ำมัน สะดวกปลอดภัย เครื่องยนต์ขนาด 2.7 ลิตร 4 สูบ 160 แรงม้า ราคาเริ่มต้นที่ 799,000 บาท ช่วงล่างถูกปรับแต่งให้เหมาะสมกับน้ำหนักของถังแกสแล้ว น่าสนใจไม่น้อยทั้งในเชิงพาณิชย์และใช้ในชีวิตประจำวัน
ABOUT THE AUTHOR
ม
มือบ๊วย formula@autoinfo.co.th
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2555