ประกันภัย
พิษภัยธรรมชาติทำประกันภัยอ่วม
เห็นภาพข่าวแผ่นดินไหว และสึนามิ ที่ประเทศญี่ปุ่น อาคารบ้านเรือน รถยนต์ และทรัพย์สิน ถูกกระแสน้ำพัดพาลอยหายไปราบเรียบเป็นหน้ากอง มีการประเมินความเสียหายของเหตุการณ์ จาก เอไออาร์ เวิร์ลด์ไวด์ ซึ่งเป็นบริษัทประเมินความเสี่ยงชั้นนำระดับโลก คาดว่ามีมูลค่าอย่างต่ำ 1.4 หมื่นล้าน เหรียญสหรัฐ ฯ หรือประมาณ 4.2 แสนล้านบาท ส่วนความเสียหายขั้นสูงสุดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.46 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท
ธุรกิจประกันภัยระหว่างประเทศ อ่วมอรทัย มาตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา โดยมีผลขาดทุนอย่างน้อย 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หรือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศนิวซีแลนด์ และน้ำท่วมใหญ่ในออสเตรเลีย
ขณะที่เหตุการณ์ในญี่ปุ่นรุนแรงกว่านั้นนับ 10 เท่า เพราะว่าญี่ปุ่น คือ หนึ่งในประเทศที่ตื่นตัวต่อการประกันภัยสูงมาก อาจมีรถยนต์ที่ต้องเคลมความเสียหายทั้งคันหลายหมื่นคัน ยังไม่นับบ้านเรือนประชาชนและอาคารสูงที่เสียหายมหาศาล คนที่เสียชีวิตน่าจะทะลุหมื่นคน และยังต้องมีการรักษาพยาบาลต่อเนื่องอีกนับไม่ถ้วน คาดว่าการเคลมประกันจะต้องเป็นเรื่องที่วุ่นวายตามมาในญี่ปุ่น หลังเหตุการณ์ความเสียหายยุติลงแน่นอน
พิษจากภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง และมีความถี่ขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุมรสุม น้ำท่วม ทุกครั้งที่เกิดเราจะเห็นภาพความเสียหายที่รุนแรงขยายเป็นวงกว้าง ทำลายทั้งชีวิตผู้คน และทรัพย์สินเสียหายจนยากเกินกว่าประเมินได้ และผู้ที่ต้องรับไปเต็มๆ คือ เจ้าของทรัพย์สินนั้น เว้นแต่จะได้มีการทำประกันภัยไว้ บริษัทประกันภัยก็จะช่วยแบ่งเบาบรรเทาความเสียหายไปได้บ้าง แต่เนื่องจากธุรกิจประกันภัย เป็นธุรกิจที่บริษัทประกันภัยต้องทำประกันภัยตัวเองด้วย เพื่อลดความเสี่ยงที่ตนเองรับไว้ (หรือภาษาประกันภัยจะเรียกว่า ประกันภัยต่อ) เมื่อเกิดความเสียหายกระจายไปทุกภูมิภาคของโลก บริษัทประกันภัยก็จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่ม ดังนี้ก็จะมีผลกระทบต่อเบี้ยประกันภัย จึงมีแนวโน้มว่าเบี้ยประกันภัยจะถูกปรับเพิ่มแน่นอน
มาดูว่าถ้าเป็นรถยนต์จะได้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติแค่ไหน สำหรับกรมธรรม์รถยนต์ที่คุ้มครองตัวรถแบบภัยทุกชนิด (ALL RISK) หรือที่เราเรียกว่า ประกันประเภท 1 จะรวมคุ้มครองภัยจากน้ำท่วม และภัยธรรมชาติอื่นๆ ไว้ด้วย ดังนั้นหากเกิดความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ภัยน้ำท่วมขึ้นก็สามารถเคลมค่าสินไหมทดแทนได้ตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจากทุนประกันภัยที่แจ้งทำเอาไว้ หากความเสียหายนั้นไม่ถึงกับเสียหายทั้งคัน กล่าวคือ เสียหายบางส่วนที่เป็นตัวรถ เช่น เครื่องยนต์ เบาะ และภายในตัวรถยนต์ เมื่อแจ้งทำเคลม บริษัทประกันภัยก็จะจ่ายค่าล้างทำความสะอาด และซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิม แต่ถ้าเป็นส่วนที่ตกแต่งเพิ่มเติม เช่น เครื่องเสียง หรือส่วนตกแต่งอื่นๆ ก็จะต้องไปดูในตัวกรมธรรม์ว่าได้แจ้งซื้อเพิ่มความคุ้มครองไว้หรือไม่ และจำนวนเท่าไร ถ้าซื้อไว้ก็จะได้รับการคุ้มครองตามจำนวนที่ซื้อ ถ้าไม่ได้ซื้อ หรือซื้อไว้น้อยกว่าจำนวนที่เสียหายจริง ก็ต้องรับผิดชอบเองตามส่วนต่างความเสียหายนั้น
การเคลมค่าเสียหายในกรณีนี้ ผู้ประกันภัย หรือเจ้าของรถ จะต้องมีส่วนร่วมในความเสียหายส่วนแรก 1,000 บาท อันเนื่องจากภัยน้ำท่วม หรือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นความเสียหายที่เกิดจากการชนหรือคว่ำ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์
ส่วนการประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเภท 1 และไม่ได้มีการซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติไว้ ก็ไม่สามารถจะมาทำเคลมความเสียหายจากภัยน้ำท่วม หรือภัยธรรมชาติอื่นๆได้นะครับ
อย่างไรก็ดี มีหลายบริษัทกำลังเล็งหาช่วงทางทำธุรกิจเพิ่ม โดยจะขยายเพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติ เข้าไปในกรมธรรม์ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากประเภท 1 ที่คุ้มครองอยู่แล้ว โดยการที่ผู้เอาประกัน ต้องแจ้งความประสงค์ซื้อกรมธรรม์แบบคุ้มครองภัยธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง ต้องเพิ่มเบี้ยประกันภัย
เข้าไปในส่วนนี้
ทั้งนี้มีข่าวจาก บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เล็งเพิ่มทุนประกันเป็น 2 พันล้านบาท โดย ประสาน นิลมานัตต์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในญี่ปุ่น รวมไปถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มเกิดถี่และรุนแรงมากขึ้น จะทำให้บริษัทที่รับประกันภัยรถยนต์ต้องหันมาซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว กับบริษัทรับประกันภัยต่อ (REINSURER) มากขึ้นจากเดิมที่จะรับความเสี่ยงเองไว้เกือบทั้งหมด
ปัจจุบันวิริยะประกันภัย ฯ ซื้อประกันภัยคุ้มครองภัยธรรมชาติทุนประกัน 1,000 ล้านบาท กับบริษัทรับประกันภัยต่อ ต่างประเทศ จ่ายเบี้ยปีละ 6 ล้านบาท คุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติต่างๆ อาทิ เกิดแผ่นดินไหวส่งผลให้เขื่อนแตก และน้ำทะลักออกจากเขื่อน ไหลท่วมรถยนต์ของลูกค้า ได้รับความเสียหาย ซึ่งพื้นที่เสี่ยง คือ เขื่อนศรีนครินทร์ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจากการศึกษาของบริษัทรับประกันภัยต่อ ระบุว่าความเสี่ยงของไทยในการเกิดภัยธรรมชาติ จะมีมากขึ้นในแถบภาคตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะที่กาญจนบุรี
วงเงิน 1,000 ล้านบาทข้างต้น วิริยะประกันภัย ฯ รับประกันเอง 200 ล้านบาท อีก 800 ล้านบาท ทางบริษัทประกันภัยต่อ (REINSURER) รับคุ้มครองเฉพาะรถยนต์อย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินประเภทอื่นของลูกค้า ซึ่งเราจะมีสัญญาประกันภัยต่อรองรับอยู่อีกส่วนหนึ่ง ทุนประกัน 1,000 ล้านบาท ถือได้ว่าวิริยะประกันภัย ฯ ซื้อไว้มากที่สุดในอุตสาหกรรม ที่ต้องซื้อไว้เพราะกลัวแผ่นดินไหว
คาดการณ์อนาคตหากเบี้ยประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 30,000-40,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน 20,000 กว่าล้านบาท วิริยะประกันภัย ฯ คงต้องซื้อทุนประกันภัยธรรมชาติคุ้มครองรถยนต์เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดรับกับความเสี่ยงที่มีมากขึ้น
ด้านบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) พนัส ธีรวณิชย์กุล ผู้อำนวยการใหญ่ ให้ข่าวว่า ในการรับประกันภัยรถยนต์ บริษัท ฯ ซื้อประกันภัยต่อคุ้มครองภัยธรรมชาติไว้เช่นกัน เป็นประกันต่อความเสียหายส่วนเกิน (EXCESS OF LOSS) แยกเป็น 2 แบบ คือ หากเป็นความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและร่างกายบริษัท ฯ รับความเสี่ยงเอง 6 ล้านบาท ที่เหลือไม่ว่าจะเสียหาย หรือบาดเจ็บเท่าไร บริษัทรับประกันภัยต่อจ่ายให้หมดในวงเงินไม่จำกัด
อีกส่วน คือ ความคุ้มครองทรัพย์สินตัวรถทุนประกัน 50 ล้านบาท โดยบริษัท ฯ รับความเสี่ยงเอง 6 ล้านบาทเช่นกัน ส่วนที่เกินไปจนถึง 50 ล้านบาท บริษัทรับประกันภัยต่อรับผิดชอบ
แนวโน้มการซื้อประกันภัยต่อคุ้มครองภัยธรรมชาติสำหรับประกันรถยนต์จะมากขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดขึ้นมาก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทเริ่มซื้อประกันภัยต่อมากขึ้น อย่างของ กรุงเทพประกันภัย ฯ เองปรับมา 3 ครั้งแล้ว ตัวเลข 50 ล้านบาท ที่เพิ่งต่อสัญญาไปคิดว่าเอาอยู่ เหตุการณ์ในญี่ปุ่นที่อาจจะทำให้ความเสี่ยงแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมมีมากขึ้น เราอาจจะต้องมารีวิวตัวเลขใหม่ รอไตรมาส 3 พอมีข้อมูลจะมาทบทวนภายในดูความเสี่ยงอีกที
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 บริษัทนี้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับผู้นำของธุรกิจประกันภัย ได้มีการปรับตัว ปรับกลยุทธ์เตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นแนวโน้มให้ทุกบริษัทประกันต้องปรับตัวตามทั้งระบบดังนั้น เราท่านทั้งหลายในฐานะผู้ต้องเผชิญกับชะตากรรมกับภัยธรรมชาติเช่นกัน ก็คงต้องเตรียมตัว
รับกับเบี้ยประกันภัยใหม่ที่ต้องจ่ายแพงขึ้นแน่นอน
ถึงกระนั้นก็ยังจะขอฝากเตือนทุกท่านว่า ทำประกันภัยไว้ดีกว่า เพราะยังสามารถช่วยบรรเทาความเสียหายได้บ้าง ถ้าไม่ทำประกันเลย ก็รับเคราะห์กรรมแต่เพียงผู้เดียวเต็มๆ มันน่าเศร้าและโหดร้ายมากนะครับ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : ประกันภัย