ระหว่างเพื่อน
เทศกาลกินเจ
ช่วงระยะเวลาแห่งเดือนนี้ มีเทศกาลกินเจให้ผู้คนประพฤติปฏิบัติกันเป็นพิเศษถึง 9 วัน ตั้งแต่ วันที่ 27 กันยายน ถึงวันที่ 5 ตุลาคม และคนที่คลั่งสี จะเห็นสีเหลืองกับสีแดงเกลื่อนถนนหนทางในรูปลักษณ์ธงเล็กๆ รูปสามเหลี่ยมชายธง พื้นสีเหลือง อักษร "เจ" สีแดง
ปกติที่บ้านผม มีคนกินเจทุกวันพระ ผมก็ร่วมกินบ้างเป็นบางโอกาส อาศัยความสะดวกเป็นหลัก ไม่ได้ยึดติดกับหลักการตัวไหนๆ
เทศกาลกินเจปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันพระแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ไปจนถึงวันพระขึ้น 8 ค่ำเดือน 11 เรียกว่าเปิดหัวและปิดท้ายด้วย "วันพระ"
เพื่อความเข้าใจแบบง่ายๆ กินเจ ก็คือ การไม่กินเนื้อสัตว์ ถ้าจะเข้าใจไม่ให้ยุ่งยากก็ต้องรู้ว่า กินเจเป็นการรักษาศีล 8 กินมื้อเดียวภายในเวลา 1 วัน ก่อนเที่ยงวัน
"คนกินเจ" มิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนให้อยู่ในศีลธรรม มีความบริสุทธิ์สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปพร้อมกัน เช่นนี้แล้วจึงจะเรียกว่า "กินเจที่แท้จริง" ดังคำคล้องจองที่เราได้ยินอยู่เสมอ ว่า "ถือศีลกินเจ"
"เจ" ซึ่งเป็นตัวอักษรสีแดงในผืนธงสีเหลืองแปลว่า "ไม่มีของคาว" ชาวจีนถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคลแก่ชีวิต สีเหลืองเป็นสีของผู้ทรงศีล ดังนั้นผู้ตั้งใจถือศีลบำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ ตัวอักษรนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้ระลึกไว้เสมอว่า
"การกินเจงดเว้นเนื้อสัตว์ของคาว คือ การปฏิบัติธรรม รักษาศีลของความเป็นมนุษย์ เป็นการเจริญมหาเมตตากรุณาธรรมโดยแท้ อันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และก่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกชีวิตบนโลก"
เทศกาลกินเจ เริ่มมีมาเมื่อ 400 ปีที่แล้ว เล่ากันว่า เกิดขึ้นในสมัยที่ชาวจีนถูกรุกรานโดยชนชาติแมนจู ซึ่งเข้าปกครองประเทศจีน และบังคับให้ชนชาติจีนยอมรับวัฒนธรรมของตน อาทิ การไว้ทรงผมเยี่ยงแมนจู คือ โกนศีรษะโล้นทางด้านหน้าและไว้ผมยาวทางด้านหลัง ซึ่งหลายคนคงจะชินตาในภาพยนตร์จีนที่นำมาฉายทางทีวี
สมัยนั้น มีคนจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านชาวแมนจู โดยใช้หลักทางธรรมเข้ามาร่วมด้วย ชาวจีนกลุ่มนี้ นุ่งขาว ห่มขาว และไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ซึ่งมีความเชื่อว่า การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มของตน จนสามารถต้านทานชาวแมนจูได้คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งแม้จะได้ต่อสู้อย่างอาจหาญ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานการรุกรานของชาวแมนจูได้
เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันถือศีลกินเจ เพื่อระลึกถึงเหล่านักสู้ "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น
ความเชื่อถืออีกกระแสหนึ่งของตำนานการกินเจนั้น เชื่อกันว่าเป็นการสักการะพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ในพิธีกรรมนี้ สาธุชนจึงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หันมาบำเพ็ญศีล โดยการตั้งปณิธานในการกินเจ งดเว้นอาหารคาว เพื่อเป็นการสมาทานศีล คือ
1. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตของตน
2. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเลือดของตน
3. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเนื้อของตน
การรับประทานพืชผักในปริมาณที่มากกว่าปกติ การงดเว้นเนื้อสัตว์ ทำให้กระเพาะได้พักจากภารกิจการย่อยเนื้อสัตว์ที่ทำเป็นประจำอยู่ และยังได้รับวิตามินเข้าไปเสริมสร้างซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ ทั้งได้โปรตีนจากถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากโปรตีนที่เราได้รับจาก
เนื้อสัตว์
ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อน จากการรับสารอาหารย่อยยากแหล่งอาหารต่างๆทั้งยังได้พลังใจจากการที่ปฏิบัติตัวอยู่ในศีล ทำให้จิตใจอิ่มเอิบ เบาสบาย ปัจจุบันจึงค่อนข้างจะแพร่หลายในการรับประทานอาหารเจ มีการยอมรับคุณค่าของอาหาร และยังเชื่อกันด้วยว่า การกินเจก่อให้เกิดอานิสงส์หลายประการ คือ
1. ด้านศีลธรรม ผู้กินเจจะปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นับเป็นบุญกุศลใหญ่หลวง
2. ด้านสุขภาพกาย ผู้กินเจจะมีสุขภาพกายดี เพราะไม่ดื่มของมึนเมา และไม่รับประทานเนื้อสัตว์ รวมทั้งอาหารประเภทไขมันสูง ทำให้ลดภาวะไขมันในเส้นเลือด ซึ่งมีอันตรายต่อชีวิต นอกจากนี้อาหารจากเนื้อสัตว์มักมีเชื้อโรคปะปน เสี่ยงต่อการเป็นโรคภัย ผู้กินเจเป็นประจำ จึงมักมีอายุยืน
3. ด้านสุขภาพจิต ผู้กินเจจะมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะผลจากการปฏิบัติธรรมที่ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่นให้อภัยซึ่งกันและกัน และมีความเมตตาต่อกัน ทำให้จิตบริสุทธิ์แจ่มใสตลอดเวลา
4. ด้านเศรษฐกิจ ผู้กินเจสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะผักมักจะราคาไม่แพงเหมือนราคาเนื้อสัตว์ทั่วไป
5. ด้านสังคม ผู้กินเจจะมีความสามัคคีกัน เกิดการร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
6. ด้านการเมือง เนื่องจากการกินเจ หรืออาหารจากพืชผัก ไม่มีการกำหนดทางเชื้อชาติศาสนา
จึงมีผู้เข้าร่วมพิธีกรรมอย่างมากมาย ประกอบกับปลูกฝังให้ผู้เข้าร่วมพิธีมีควมสามัคคี จึงไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชน บ้านเมืองสงบร่มเย็น ประชาชนอยู่กันอย่างประหยัด ภาวะเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
ไม่น่าเชื่ออานิสงส์จะแรงไปทุกระดับของผู้คน ตั้งแต่รากหญ้าประชานิยมไปจนถึงรัฐมนตรี แถมยังเป็นกลไกในความปรองดองแห่งชาติอีกต่างหาก
เทศกาลกินเจสมัยนี้ผมได้ยินว่า งานประจำปีกินเจที่ภูเก็ต หรือที่เรียกว่า "เทศกาลกินผัก" เป็นงานที่คึกคัก เป็น OTOP ของภูเก็ต ดึงดูดทั้งคนไทยและคนต่างประเทศไปเที่ยวกันมากในแต่ละปี
เล่าขานกันว่าความเชื่อในการกินเจของชาวภูเก็ตนั้น เริ่มมาจากการที่มีคณะงิ้วจากเมืองจีนมาเปิดการแสดงที่บ้านกะทู้ แล้วเกิดโรคระบาด คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจ และสร้างศาลเจ้าขึ้น
ปรากฏว่าโรคระบาดหายไปสิ้น ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใส จึงปฏิบัติตาม นับเนื่องจากนั้นมา มีผู้ศรัทธามากขึ้นเรื่อยๆ ชาวกะทู้จึงอยากให้พิธี "กินเจ" ของตนสมบูรณ์แบบ ตามแบบพิธีในมณฑล กังไส จึงได้ส่งตัวแทนไปนำเอาควันธูปกลับมา โดยการตั้งมั่นที่แรงกล้า เพราะพิธีการนำควันธูปกลับมานั้น ต้องจุดธูปติดต่อกันมิให้มอดดับได้ ศาลเจ้ากะทู้จึงเป็นศูนย์กลางของเทศกาลการกินเจที่ภูเก็ต
เทศกาลกินเจที่ภูเก็ต มีเวลา 9 วันเหมือนทั่วไป แต่ความสนุกสนานตื่นเต้นอยู่ที่ 2 วันสุดท้าย มีการจัดขบวนพิธีแห่อย่างมโหฬาร เพื่อนำเกี้ยวไปรับพระจำหลักที่สะพานหิน เป็นการระลึกถึงวันที่ควันธูปจากมณฑลกังไสมาถึงภูเก็ต
ในขบวนแห่จะมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง หรือ คนทรงเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะเห็นภาพของการใช้ของมีคมต่างๆ ทิ่มแทงตามร่างกาย มีทั้งง้าว ลูกตุ้มเหล็กฟาดหน้าฟาดหลัง เอาขวานจามหลัง หรือเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกาย หรือแทงลิ้น จนกระทั่งเฉือนลิ้นตัวเองออกมา โดยร่างทรงเหล่านั้น อ้างว่าไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ขณะเป็นร่างทรง ม้าทรงจะเดินเต้น ไปทั่วเมือง ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อให้เจ้าไปโปรดและมีการจุดประทัดตลอดเส้นทาง ทั้งเกาะปกคลุมด้วยควันธูปและประทัด
ในวันที่ 9-วันสุดท้าย มีพิธีศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธี "โก๊ยโห้ย" หรือพิธีลุยไฟสะเดาะเคราะห์ ม้าทรง หรือเจ้าร่างทรงจะเดินผ่านกองไฟ ที่มีถ่านร้อนแดงเป็นระยะทางกว่า 2 ฟุต และตามด้วย ผู้ที่ถือศีลกินเจ ที่มีความมั่นใจว่าตัวเองสะอาดแล้ว ก็สามารถร่วมลุยไฟได้ด้วยเช่นกัน ตอนกลางคืนจะมีพิธีปีนบันไดมีด สูงประมาณ 12 เมตร และจบลงด้วยการแห่พระไปส่งทะเลบริเวณสะพานหิน และนำเสาโกเต้งลงดับโคมไฟทั้ง 9 เป็นอันเสร็จพิธี
เทศกาลกินเจ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า NINE EMPEROR GODS FESTIVAL และเทศกาลที่ไม่กินเนื้อสัตว์นี้ ยังเล่ากันต่อมาด้วยว่า หอยนางรมเป็นเนื้อสัตว์อย่างเดียวที่กินได้ เพราะมีตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งเจ้าแม่กวนอิมเดินทางไกล รู้สึกหิวขณะอยู่ในท้องทะเล จนต้องออกปากปรารภว่า หิวมาก มีเนื้อสัตว์อะไรที่พอจะกินได้บ้าง
ปรากฏมีหอยนางรมลอยน้ำทะเลขึ้นมา เรื่องของเรื่องก็เลยเป็นอันว่า เนื้อสัตว์อย่างเดียวที่กินได้ในเทศกาลเจ คือ หอยนางรม...!
ABOUT THE AUTHOR
&
"สยาม เมืองยิ้ม"
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2554
คอลัมน์ Online : ระหว่างเพื่อน