พิเศษ(formula)
เตรียมรถรับร้อน
เมษายน เป็นเดือนที่มีวันหยุดพิเศษเยอะสุดในรอบปี และยังเป็นเดือนที่สภาพอากาศเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางวันร้อนจัด บางวันฝนตก ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ทำนายว่า "เดือนนี้จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยบางช่วง มีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุด 40-42 องศาเซลเซียส" ที่แน่ๆ หลายคนวางแผนหลบร้อนไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างจังหวัดเพื่อผ่อนคลาย ว่าแต่รถคันรักของคุณ พร้อมจะใช้งานในหน้าร้อน และเดินทางไกลแล้วหรือยัง ?รถยนต์เปรียบได้กับมนุษย์ ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ "ฟอร์มูลา" ขอเสนอเกร็ดความรู้ในการเตรียมรถให้พร้อมสู้อากาศร้อน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ควรต้องติดรถ เผื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉิน จะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดู !
ระบบปรับอากาศต้องพร้อม ?
แอร์ หรือ ระบบปรับอากาศภายในรถ ช่วยทำให้อุณหภูมิภายในรถต่ำลง ส่วนประกอบของระบบปรับอากาศ และวิธีตรวจเชคทำได้อย่างไร ? เริ่มด้วย คอมเพรสเซอร์ (COMPRESSOR) จะใช้พลังงานส่วนหนึ่งจากเครื่องยนต์มาหมุนสายพาน เพื่อหมุนพูเลย์หน้าคอมเพรสเซอร์ ภายในมีลูกสูบไว้เพิ่มกำลังอัดไอน้ำยาซึ่งอยู่ในสถานะแกส ให้มีอุณหภูมิ และความดันที่สูงขึ้น คอนเดนเซอร์ (CONDENSER) แหล่งรวมน้ำยาแรงดันสูงบริเวณส่วนหน้ารถเพื่อรับลม ในขณะรถวิ่ง หรือมาจากพัดลมไฟฟ้าเพื่อพาความร้อนออก ลักษณะเป็นขดลวดคล้ายรังผึ้งหม้อน้ำ เมื่อไอน้ำยาคายความร้อนออกทำให้อุณหภูมิลดลงจนกลายเป็นของเหลวไหลออกจากคอนเดนเซอร์ เพื่อเข้าสู่รีซีเวอร์ต่อไป รีซีเวอร์/ดไรเออร์ (RECEIVER/DRIER) หรือหม้อพักน้ำยาแอร์ ลักษณะเป็นกระบอกโลหะ ภายในจะมีสารดูดความชื้นอยู่ ส่วนนี้จำเป็นต้องมี เพราะเป็นระบบปิด สัดส่วนการเป็นของเหลวและแกสของน้ำยาแอร์ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน จึงต้องมีหม้อพักไว้รองรับเพื่อสำรองน้ำยาในสถานะของเหลว เอกซ์แปนชันวาล์ว (EXPANSION VALUE) หรือ ลิ้นลดความดัน มีหน้าที่ลำเลียงน้ำยาที่มีสถานะเป็นของเหลวอุณหภูมิสูงจะไหลผ่านไปยังลิ้นลดความดัน น้ำยาที่ไหลผ่านจะมีอุณหภูมิ และแรงดันต่ำลง จากนั้นจะผสมกันเป็นฝอยละออง ไหลไปสู่ อีแวพอเรเตอร์ (EVAPORATOR) หรือที่ช่างชอบเรียกว่าตู้แอร์ อีแวพอเรเตอร์ (EVAPORATOR) หรือ ตู้แอร์ ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำยาที่เป็นฝอยจะระเหยเป็นไอในท่อที่คดเคี้ยวของตู้แอร์ เพื่อดูดความร้อน จากท่อ และครีบรังผึ้งของตู้แอร์ ท่อน้ำยาที่เย็นเฉียบจะดูดความร้อนจากอากาศที่ไหนผ่าน ซึ่งก็คือ อากาศภายในห้องโดยสาร ที่นำพาโดยพัดลมไฟฟ้าในตู้แอร์ที่ปรับระดับความแรงของพัดลมจากสวิทช์ควบคุมในรถ ทำให้น้ำยาเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลายเป็นไออีกครั้ง ซึ่งมีอุณหภูมิและความดันต่ำ ในส่วนของน้ำยาก็จะเข้าสู่คอมเพรสเซอร์อีกครั้ง เพื่อพาความร้อนไประบายออกที่คอนเดนเซอร์ เป็นวัฏจักรอย่างนี้ไปเรื่อยๆสวมวิญญาณช่าง
หลังจากที่เข้าใจการทำงานของแอร์เป็นอย่างดี ก็ถึงคราวต้องกลับไปตรวจเชคระบบปรับอากาศในรถสุดรัก ซึ่งทำได้ง่ายๆ ดังนี้ใช้ความรู้สึก
วิธีนี้ต้องอาศัยความ "คุ้นเคย" กับรถกันสักหน่อย คือ ต้องรู้ถึงระดับความเย็นในขณะที่แอร์ทำงานเป็นปกติ แล้วนำความรู้สึกมาเทียบกับปัจจุบันว่าแตกต่างกันหรือไม่ เช่น เปิดแอร์ตั้งนานแล้วยังไม่เย็น เจอแดดหน่อยก็สู้ไม่ไหว ติดไฟแดงแป๊บเดียว ร้อนแล้ว ! หรือสังเกตความเย็นจากแรงลมในช่องแอร์ ซึ่งถ้าแอร์เริ่มมีปัญหา ความเย็นจะลดลงจนคุณต้องเพิ่มระดับความเย็น หรือความแรงของพัดลมอยู่เรื่อยๆแอบมอง ผ่านตาแมว
หม้อพักน้ำยาแอร์ หรือ รีซีเวอร์/ดไรเออร์ ด้านบนมีช่องมองกระจกทรงกลมเล็กๆ เรียกว่า "ช่องตาแมว" ช่องนี้มีไว้ดูน้ำยาแอร์ เมื่อสตาร์ทเครื่องและเปิดระบบปรับอากาศ หากระบบสมบูรณ์ น้ำยาแอร์จะวิ่งผ่านและเกิดเป็นฟอง แสดงว่าปกติ แต่ถ้าเห็นเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย แสดงว่าน้ำยาแอร์น้อยเกินไป และถ้าน้ำยาแอร์เต็มช่อง ไม่มีฟองอากาศ แสดงว่ามีน้ำยาแอร์มากเกินกำหนดตามหารอยรั่ว
น้ำยาแอร์ สามารถซึมออกมาทางข้อต่อต่างๆ ในอัตราที่น้อย แต่ไม่สามารถหายไปเอง นอกจากรั่ว หรือซึมออกมาช้าๆ ซึ่งเป็นปกติของรถที่ใช้งานมาหลายปี ส่วนใหญ่แล้วการรั่วมักเกิดบริเวณที่ใดที่หนึ่ง สังเกตได้จากน้ำมันหล่อลื่นคอมเพรสเซอร์ซึมติดเป็นคราบ ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะชิ้นส่วนที่เป็นโลหะผุทะลุ ก็อาจเป็นที่ท่อยาง หรือแหวนกันรั่ว (โอ-ริง) เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ถ้ารั่วที่รังผึ้งทำความเย็น หรือตู้แอร์ (อีแวพอเรเตอร์) ให้สังเกตจากน้ำที่กลั่นตัวและหยดลงที่พื้นถนน ถ้ามีคราบน้ำมันปนอยู่ด้วย แสดงว่ารั่วแน่ๆระบบระบายความร้อนต้องชัวร์
หากจะขับรถยนต์ให้ถึงจุดหมาย ไม่ใช่แค่มีน้ำมันอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ระบบระบายความร้อน หรือระบบหล่อเย็นเครื่องยนต์ ที่ช่างชอบเหมารวมเรียกว่า "หม้อน้ำ" หม้อน้ำ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่รถทุกคันต้องมี (ยกเว้นรถยนต์สมัยก่อนอาจระบายความร้อนด้วยอากาศ) เครื่องยนต์นั้นอาศัยการสันดาปภายในห้องเผาไหม้ เพื่อให้ได้กำลังไปขับเคลื่อน ดังนั้นในห้องเผาไหม้จะมีความร้อนสะสมสูงมาก ระบบระบายความร้อนต้องอาศัยน้ำหล่อเย็นเพื่อนำความร้อนจากผนังห้องสันดาป ออกมาทิ้งสู่อากาศภายนอก ด้วยรูปของรังผึ้งหม้อน้ำ โดยมีวาล์วน้ำเป็นตัวควบคุม ซึ่งจะหมุนวนแบบนี้ตลอดเวลาเปิดดูระดับน้ำ
น้ำเป็นส่วนสำคัญในการระบายความร้อน ถ้าน้ำอยู่ในระดับปกติ จะช่วยให้การระบายความร้อนมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าน้ำในระบบพร่อง หรือ หายไป ประสิทธิภาพการระบายอากาศก็ย่อมลดลง จนความร้อนสูงผิดปกติ ซึ่งเครื่องยนต์เสียหายได้ง่ายมาก และมักเป็นปัญหาที่พบเจอกันเป็นประจำ หากพบความผิดปกติ ควรรีบเข้าตรวจเชคที่ศูนย์บริการโดยด่วน อาจจะมีการรั่วของน้ำ ณ จุดใดจุดหนึ่ง หรือไม่รั่ว แต่เครื่องยนต์ก็อาจมีปัญหา เช่น ปะเก็นฝาสูบแตก เป็นต้น ทางที่ดี ควรจะ ตรวจเชคระดับน้ำ อย่างน้อย เดือนละครั้ง แม้รถใหม่ก็ต้องเชค เพราะความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ (อย่าประมาท) ส่วนรถที่มีอายุมากหน่อย ก็ควรจะเชคบ่อยขึ้นตามลำดับ ขั้นตอนการเชคระดับน้ำ จะต้องทำในขณะ เครื่องเย็น เท่านั้น ถ้า เครื่องร้อน น้ำร้อนจะพุ่งมาทำร้ายคุณพัดลมไฟฟ้า
พัดลมไฟฟ้า ก็เป็นชิ้นส่วนอะไหล่ที่สำคัญในการระบายความร้อน โดยเฉพาะตอนจอดรถ แล้วเครื่องยนต์ทำงาน ถ้าพัดลมเสีย จะทำให้ระบายความร้อนไม่ได้ดี ความร้อนสะสมจะสูงมากจนอันตราย พัดลมไฟฟ้ามีอายุการใช้งานและจะทำงานเองโดยอัตโนมัติ ส่วนใหญ่จะมีพัดลม 2 ตัว ตัวหนึ่งทำงานตามระบบปรับอากาศ อีกตัวทำงานตามอุณหภูมิน้ำ หรืออาจจะทำงานพร้อมกัน 2 ตัวก็ได้ พร้อมสังเกตดูว่า แม้พัดลมจะทำงานก็จริง แต่มีความแรงมากพอหรือไม่ บางอันเสื่อม แต่ไม่เสีย ก็คือ หมุนช้าลง ทำให้ความร้อนขึ้นได้เหมือนกัน หากพบปัญหา ควรรีบแก้ไขโดยด่วนตรวจเชคสายพานปั๊มน้ำ
สายพาน มีหน้าที่สำคัญในการฉุดพูลเลย์ปั๊มน้ำให้หมุน เพื่อน้ำไหลวนในเครื่องยนต์ สายพานที่สภาพสมบูรณ์จะต้องมีคุณภาพดี ไม่หย่อน เพราะถ้าหย่อน จะทำให้การหมุนปั๊มน้ำช้าลง การระบายความร้อนก็ด้อยตาม หากสายพานหมดอายุมักจะกรอบ และแตกลายงา แต่ยังไม่ขาด แนะนำว่าควรเปลี่ยน เพราะถ้าขาดเมื่อไร ปั๊มน้ำจะไม่ทำงาน (รวมไปถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้สายพานชุดเดียวกันด้วย)ท่อทางเดินน้ำ
ท่อยาง (HOSE) เครื่องยนต์จำเป็นต้องมีเพื่อให้น้ำไหลเวียนระบายความร้อนภายในระบบ ในทางกลับกันสำหรับรถที่เริ่มใช้งานไปได้สัก 2 ปี ควรจะตรวจสอบให้ดี หากพบว่า ท่อยางเริ่มซีด แตกลายงา ลองบีบดูแล้วฟีบ ไม่เปล่งปลั่ง หรือบวม ควรรีบเปลี่ยนโดยเร็ว เพราะถ้าท่อยางแตก หลุด บวมจนระเบิดขณะเจอความร้อน น้ำจะพุ่งกระจายออกมา ทำให้สร้างปัญหาเดือดร้อนได้เช่นกัน ถ้าท่อยางยังดีอยู่ ลองเชคเข็มขัดรัด ว่าแน่นหรือไม่ และดูตรงคอท่อ ถ้ามีน้ำหยด หรือ คราบน้ำ แสดงว่าเกิดการรั่ว ควรรีบหาสาเหตุฝาหม้อน้ำ
ฝาหม้อน้ำ โดยทั่วไปจะมีสปริง และวาล์วปิด ด้านในมีซีลยาง เพื่อรักษาแรงดันในระบบหล่อเย็น หากฝาหม้อน้ำหมดอายุ ซีลยางจะแข็ง กรอบ และหลุด น้ำจะรั่วออกมา ทำให้อากาศเข้าไปในระบบ จนเกิดความร้อนขึ้นได้ หรือหากสปริงฝาหม้อน้ำล้า อาจทำให้เก็บแรงดันในระดับปกติไม่อยู่ ทำให้น้ำไหลออกมาหม้อพักน้ำมากเกินความจำเป็น และน้ำในหม้อน้ำ จะหายจากระบบได้ ถ้าสภาพไม่ดี ควรเปลี่ยนใหม่ ด้วยราคาค่าตัวเพียงหลัก 100 บาทแค่นั้นเองอุปกรณ์ที่ควรมีในรถ
การขับขี่รถยนต์ในชีวิตประจำวันนั้น คงไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าเมื่อไร จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเป็นวันธรรมดา หรือวันหยุด เรื่องของการชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ หรือจากระบบการทำงานของตัวรถ แม้แต่เรื่องเล็กๆ เช่น ยางแตก ไปจนถึงเรื่องหนักๆ เช่น อุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน หลายสิ่งหลายอย่างล้วนต้องการความช่วยเหลือ การเตรียมพร้อมที่ดี จะทำให้ทั้งตนเองและผู้อื่น ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ แต่สิ่งที่จะนำมาช่วยเหลือนั้นเราได้เตรียมติดรถไว้หรือยังเครื่องมือประจำรถ
เครื่องมือเหล่านี้มีไว้เพื่อให้ใช้ซ่อมแซม หรือตรวจเชคสภาพจุกๆ จิกๆ เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น และบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเครื่องมือประจำรถของตัวเองซุกอยู่ที่ไหน หรือมีอะไรมาบ้าง รถทุกคันควรมีเครื่องมือประจำรถให้เพียงพอกับการใช้งาน ส่วนการจัดเก็บให้หาอะไรมาใส่ไว้รวมกันเป็นที่เป็นทาง เพื่อความสะดวกในการใช้สอยและเป็นระเบียบเรียบร้อย มาดูกันว่า "เครื่องมือประจำรถ ว่าควรมีอะไรบ้าง ?กล่องเครื่องมือ
ใช้สำหรับเก็บเครื่องมือให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย สามารถหยิบใช้งานได้ง่าย แต่ควรเลือกขนาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพราะมีให้เลือกตั้งแต่กล่องเล็กไปจนถึงกล่องขนาดใหญ่ไขควง
ควรมีไว้ทั้ง 2 แบบ ได้แก่ ไขควงแบน กับ ไขควงแฉก และควรมีทั้งแบบตัวสั้นกับตัวยาว เพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งเจ็บใจกับมุมซอกหลีบต่างๆ ที่มีพื้นที่จำกัด แล้วทำต่อไม่ได้เพราะไม่มีไขควงตัวสั้นคีม
อุปกรณ์อเนกประสงค์อีกประเภทที่ขาดไม่ได้ สำหรับงานประเภท บีบ คีบ หนีบ หรือดึง แต่ควรมีทั้งแบบปากเล็ก (ปากจิ้งจก) ปากใหญ่ แล้วมีคีมลอคมาเสริมด้วย ก็ถือว่าพร้อมรับศึกตลอดเวลาประแจ
ชื่อเป็นทางการของเจ้าเครื่องมือชิ้นนี้คือ กุญแจ แต่ด้วยความเคยชิน จึงทำให้กลายเป็น ประแจ ไปโดยปริยาย ควรมีพกไว้ตั้งแต่เบอร์ 8 ถึง เบอร์ 23 แต่จะเป็นรูปแบบไหน ทั้ง ปากตาย, แหวน หรือปากตาย+แหวนข้าง ก็ได้ทั้งนั้นประแจเลื่อน
ความจริงเจ้านี่น่าจะเรียกว่า ประแจปากอยู่ไม่สุข เพราะสามารถขยับเข้าออกให้พอดีกับหัวนอทที่ต้องการขันได้ แถมยังมีขนาดและน้ำหนักเหมาะกับการใช้เป็นเครื่องป้องกันตัวอีกด้วยลูกบลอค
ต้องพกไว้พร้อมกับ ด้ามขัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว คงใช้ลูกบลอคเขวี้ยงไล่สุนัขได้อย่างเดียว และน่าจะเตรียม ด้ามต่อ ไว้ให้พร้อม เผื่อต้องทำงานในบริเวณคับแคบสอดมือเข้าไปไม่ได้บลอคหัวเทียน
มักจะมีอยู่ในชุดเครื่องมือประจำรถ รูปร่างหน้าตาเหมือนกับลูกบลอค แต่มีความยาวมากกว่าอย่างชัดเจน โดยมีหน้าที่เดียว คือ ใช้ถอดเปลี่ยนหัวเทียน หรือถอดเพื่อทำความสะอาดเท่านั้นกระดาษทราย
เลือกเบอร์กลางๆ ที่ไม่หยาบหรือละเอียดจนเกินไป พกไว้ในกล่องเครื่องมือ เผื่อไว้ในกรณีจำเป็นต้องขัดทำความสะอาดเขี้ยวหัวเทียน หรือจะใช้ขัดขั้วแบทเตอรีที่ขี้เกลือขึ้นก็ได้เทปพันสายไฟ
อย่างน้อยควรมีไว้ในกล่องเครื่องมือสักม้วน จะใช้หรือไม่ใช้ก็ติดไว้ก่อน รับรองว่าสักวันเราจะต้องได้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างแน่นอนหกเหลี่ยม
หากมีงานลักษณะเฉพาะทางเกิดขึ้น อาทิ การขันนอทที่มีลักษณะฝังเสมอกับพื้นผิวชิ้นงาน แล้วหัวนอทแทนที่จะเป็นรอยบากกลับเป็นรูเสียบแบบหกเหลี่ยม เครื่องมือชิ้นนี้ก็ได้เวลาออกโรงกากบาท
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ารูปร่างหน้าตาต้องเป็นเครื่องหมาย + หน้าที่หลัก คือ ใช้ถอดและใส่นอทล้อได้อย่างสะดวกมากกว่าการใช้บลอคถอดล้อรูปตัว แอล ที่ติดรถมาจากโชว์รูมเป็นไหนๆชุดเครื่องมือรวม
ง่ายๆ แต่สะดวกสบายในการใช้งานรวมถึงการพกพา มีใหเลือกซื้อหากันได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งชุดเล็ก ชุดใหญ่ โดยจะแตกต่างกันในเรื่องของเครื่องมือต่างๆ ที่มีให้แม่แรง
ถือเป็นตัวจักรสำคัญในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้ล้ออะไหล่ เพราะตามปกติในรถทุกคัน เขามีแถมแม่แรงมาด้วยอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นรูปแบบใดก็แล้วแต่ ขอให้มีความมั่นคงแข็งแรง ถือว่าใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินยางอะไหล่
ของจำเป็นที่ต้องมี แต่เจ้าของรถมักไม่ค่อยเห็นคุณค่า และมักปล่อยปละละเลย เพราะถ้าไม่เคราะห์หามยามซวย ยางแบน ยางแตก หรือโดนปล่อยลม ก็ไม่มีใครคิดถึง แต่ถ้าสุดวิสัยจริงๆ ละก็เครื่องมือในข้อต่อไปสามารถช่วยคุณได้ปั๊มลมไฟฟ้าแบบพกพา
ปัจจุบันวางขายกันเกลื่อนตั้งแต่ราคาไม่กี่ 100 บาทไปจนถึงหลายพันบาท เลือกซื้อหากันได้ตามความพอใจ แต่ควรเลือกบแรนด์ที่มีการรับประกันดีกว่า จะได้ไม่ต้องเสียอารมณ์หากเกิดปัญหาขึ้นขณะใช้งานสเปรย์อเนกประสงค์
บางคนเรียกว่า น้ำยาครอบจักรวาล มีความสามารถใช้งานที่หลากหลาย ทุกฤดูกาล อาทิ ฉีดป้องกัน หรือไล่ความชื้น, หล่อลื่น, คลายสนิมเกลียวนอท เป็นต้น กระป๋องควรมีขนาดกะทัดรัด พกพาสะดวกสายพ่วงแบทเตอรี
รถยนต์บนท้องถนนปัจจุบันเป็นเกียร์อัตโนมัติ ดังนั้นหากแบทเตอรีเสื่อมสภาพเพราะกำลังไฟส่งไปที่มอเตอร์สตาร์ทไม่พอ หนทางเดียว คือ พ่วงแบทเตอรี หากไม่มีอุปกรณ์ชิ้นนี้ก็ไม่สามารถสตาร์ทเครื่องได้สายลากจูง
แม้คุณอาจไม่มีความรู้และความเข้าใจในการลากรถ แต่มีติดรถไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ปัจจุบันมีให้ซื้อหากันมากมาย หลากหลายรูปแบบตามความต้องการน้ำมันเครื่อง
ควรมีน้ำมันเครื่องอยู่บ้านอย่างน้อย 1 แกลลอน และยามเดินทางไกล ถ้าเป็นไปได้ ควรมีน้ำมันเครื่องติดไปด้วย เผื่อเอาไว้หากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้น้ำมันเครื่องพร่องไฟฉาย
อุปกรณ์ที่ควรมีติดรถไว้เสมอ และต้องหมั่นตรวจสอบอยู่เป็นประจำว่ายังมีพลังงานเหลืออยู่หรือไม่ เพราะเมื่อถึงเวลาต้องการใช้แล้วถ่านหมด เป็นใครก็ต้องนึกคงอยากเขกหัวตัวเองทั้งนั้นฟิวส์สำรอง
รถก็เหมือนบ้านเพราะใช้กระแสไฟฟ้าเหมือนกัน หากระบบไฟฟ้าขัดข้อง ฟิวส์จะช่วยลดความเสียหายได้ เพราะฟิวส์จะขาดก่อน ถ้าอยู่ระหว่างทาง คุณจะทำอย่างไรถ้าเกิดฟิวส์ขาดขึ้นมา แล้วไม่มีฟิวส์สำรองถังดับเพลิง
พกพาแค่ขนาดที่พอเหมาะ และขอบอกว่าไม่ต้องคิดว่าเป็นเรื่อง โอเวอร์ เพราะเห็นมานักต่อนักแล้วที่ต้องมานั่งชมรถคันรักไฟไหม้ไปต่อหน้าต่อตา เนื่องจากไม่มีถังดับเพลิงภาชนะบรรจุน้ำ
ใช้ได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นขวด ถ้วย ถัง กาละมัง หม้อ แต่มีข้อแม้ว่าใส่น้ำแล้วสามารถปิดมิดชิด ไม่หกเลอะเทอะ ไม่เช่นนั้นคงต้องทำความสะอาดกันยกใหญ่คัทเตอร์หรือกรรไกร
เครื่องมืออเนกประสงค์อีกชิ้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายหลากในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแผ่นสะท้อนแสง
แผ่นสะท้อนแสงรูปสามเหลี่ยม ปัจจุบันมีขายกันทั่วไป นอกจากเป็นอุปกรณ์ที่แถมมากับรถ ควรใช้ในกรณีรถเสีย ต้องจอดอยู่ริมทาง ด้วยวิธีตั้งให้ห่างจากตัวรถพอสมควร ทำให้รถที่ผ่านไปมาสังเกตเห็น เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณเองและเพื่อนร่วมทางชุดปฐมพยาบาล
ของสำคัญที่ในบางประเทศ ประกาศใช้เป็นกฎข้อบังคับให้มีอยู่ในรถทุกคัน แต่สำหรับบ้านเรา แม้จะไม่เป็นข้อบังคับ แต่ถ้าหากรถทุกคันบนท้องถนนมีชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นอยู่ ก็คงรู้สึกดีไม่น้อยอุปกรณ์เฉพาะฤดูกาล
ถือเป็นของที่น่าจะมีติดรถไว้ อาทิ หมวก, ร่ม, เสื้อฝน เป็นต้น แล้วถ้าไม่ลืม ก็ควรพกผ้าเช็ดอเนกประสงค์ติดไว้อีกสักผืนอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์มือถือ
ควรพกอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรือแบทเตอรีแพคติดรถอยู่เสมอ เผื่อไว้ใช้ติดต่อขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน เพราะถ้าหากโทรศัพท์มือถือแบทเตอรีหมดก็ไร้ความหมายABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
ภาพโดย : เกรียงศักดิ์ ปันสม/จินดา ลัยนันท์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2555
คอลัมน์ Online : พิเศษ(formula)