รู้ไว้ใช่ว่า
เหยื่อรถ
เวลาเกิดอุบัติเหตุจราจร เราเพ่งไปที่ผู้เคราะห์ร้ายซึ่งถึงตายเสียมากกว่า ส่วนผู้บาดเจ็บร้องโอยๆ บางครั้งมีเป็นจำนวนไม่น้อย พากันมองข้าม เว้นตัวเขาและญาติโยมเขานั่นแหละ มองข้ามไม่ไหว ต้องหามไปหาหมอจ้าละหวั่น โชคดีหน่อย รักษาชีวิตไว้ได้ ก็ค่อยยังชั่ว
ที่แน่ๆ คือ บ้านเรามีผู้บาดเจ็บถึงขั้นพิกลพิการ ผมว่าจำนวนไม่น้อย เมื่อคำนึงถึงวิธีการขับรถใช้รถของพวกเรา ซึ่งอยู่ในขั้น "โหลยโท่ย" พอสมควร (แหะ...แหะ...รวมทั้งตัวผมด้วย สมัยยัง "ซิ่ง" ไหว เดี๋ยวนี้ไม่เอาแล้ว ถอยดีกว่า) เมื่อเทียบกับอารยประเทศทั้งหลาย เรียกแบบภาษาอีสานว่า "โสตาย" กันทั้งนั้น
ผู้ที่บาดเจ็บถึงขั้นพิการ ไม่ว่าจะหาเหตุเอง หรือคนอื่นหาเหตุให้ ต่างได้รับความทุกข์ทรมานตามสภาพ หลายๆ รายไปไม่รอด ตายเพราะผลสืบเนื่องจากอาการบาดเจ็บในที่สุด ครอบครัวเศร้าโศกไปสิ คนตายพ้นทุกข์ไปแล้ว
คราวนี้มาว่ากันถึงคดีที่น่าสนใจ ศาลตัดสินถึงผลสืบเนื่องจากผู้บาดเจ็บตายลงภายหลัง ระหว่างที่คดียังไม่ยุติ แฟนๆ เห็นคำพิพากษาแล้วจะอึ้ง ร้องว่า เออ...เป็นยังงี้ด้วย และบอกไว้เลยว่า ฝ่ายผู้ตายเสียเปรียบฝ่ายจำเลยที่ขับรถประมาท หรือละเมิด
งานนี้เหยื่อจราจร คือ "นางขาวผ่อง" อาชีพสอดคล้องกับชื่อ คือ เปิดร้านรับซักเสื้อผ้า มีกำไรเดือนละ 4 หมื่นบาท วันนั้นเธอขี่รถจักรยานยนต์ไปเลี้ยวขวาตรงสี่แยก แล้วรถโดยสารซึ่งตะบึงตามแบบฉบับ บี้เอาด้วยล้อหลัง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส บริษัทเจ้าของรถไม่รับผิดชอบ ศาลหนีไม่ออก ต้องออกเหงื่อสะสางคดี เมื่อ นางขาวผ่อง ยื่นฟ้องบริษัทเจ้าของรถ และ "นายร่างทรง" คนขับรถโดยสาร ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพตามปกติไม่ได้ เนื่องจากเป็นคนพิการไปแล้ว เป็นเงิน 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ระหว่างพิจารณา บริษัทเจ้าของรถยนต์โดยสาร ร้องขอให้ศาลดึงตัวบริษัทประกันภัย ซึ่งรับประกันรถโดยสาร มาเป็นจำเลยร่วมด้วย เพราะหลบฉากเฉยอยู่ ศาลอนุญาต
จำเลยต่างพากันสู้คดี อ้างว่า นางขาวผ่อง ขับขี่รถประมาทฝ่ายเดียว จึงเกิดเหตุขึ้น ค่าเสียหายเรียกมาแบบโมเม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ตัดสินให้บริษัทเจ้าของรถ และนายร่างทรง คนขับรถโดยสาร ร่วมกันรับผิดจ่ายเงิน 1 ล้าน 4 แสนบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ย และให้บริษัทประกันภัยรับผิดในวงเงิน 8 หมื่นบาท
บริษัทเจ้าของรถ และนายร่างทรง โชเฟอร์รถโดยสาร ยื่นอุทธรณ์
บริษัทประกันเอาด้วยกับคำตัดสินของศาลชั้นต้น ไม่อุทธรณ์
ฝ่ายโจทก์นั้นพอใจคำตัดสิน ไม่อุทธรณ์
ระหว่างที่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ตัดสินคดีนี้ออกมา "นายรีดเรียบ" พ่อของ นางขาวผ่อง ให้ทนายยื่นคำร้องเข้ามาว่า นางขาวผ่อง หมดลมไปแล้ว หลังจากที่ทุกข์ทรมานจากการโดนรถชน จึงขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนลูกสาว ศาลอุทธรณ์อนุญาต
หลังจากพิจารณาตามเนื้อหาในสำนวนแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้บริษัทเจ้าของรถ และนายร่างทรง ร่วมกันจ่ายเงินเพียง 7 แสนกว่าบาทพร้อมดอกเบี้ย โดยบริษัทประกันรับผิดในวงเงินเท่าเดิม คือ 8 หมื่นบาท ค่าเสียหายที่ลดลงมา เพราะศาลลดค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ของ นางขาวผ่อง ตั้งบานตะเกียง
ตัวแทนของ นางขาวผ่อง คือ นายรีดเรียบ ผู้เป็นพ่อ รีบให้ทนายยื่นฎีกา เพราะได้เงินลดลงตั้งครึ่งจากที่ศาลชั้นต้นตัดสิน บริษัทเจ้าของรถ และโชเฟอร์ก็ฎีกา ดึงดันว่า นางขาวผ่อง ประมาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาคว้าสำนวนที่มาถึงคิวด้วยความอ่อนเพลีย เพราะคดีรอคิวเยอะจัด จนทำแทบไม่ไหว กัดฟันพิจารณาแล้วชี้ขาดออกมาว่า
ข้ออ้างต่างๆ ของจำเลยที่ว่า นางขาวผ่อง ขับขี่รถประมาทนั้น ฟังไม่ขึ้นหรอก เพราะ นายร่างทรง โดนศาลอาญาตัดสินเอาผิดมัดไว้แล้ว อีกทั้งยังอ้างลอยๆ ส่วนค่าเสียหายที่ฝ่ายผู้ตายฎีกาขอให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นนั้น ได้ความว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าขาดประโยชน์ไม่สามารถประกอบการงานได้ จากการบาดเจ็บพิการ เดือนละ 1,500 บาท ซึ่งเหมาะแล้ว แต่การที่ศาลชั้นต้นบังคับให้จำเลยจ่ายให้ นางขาวผ่อง เป็นเวลา 33 ปี ศาลฎีกาต้องขอคิดใหม่
เพราะได้ความชัดว่า นางขาวผ่อง ตายหลังจากเกิดเหตุมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน 6 วัน ตานี้ต้องเปิดดูกฎหมายแพ่ง ฯ มาตรา 443 วรรค 2 ซึ่งเขียนไว้ว่า "ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย"
ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ เพราะไม่สามารถประกอบการงาน จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่คนผิดต้องชดใช้แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนที่คนทำผิดต้องใช้ให้เขา หลังจากผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปแล้ว ฉะนั้นเมื่อคำนวณจากเดือนละ 1,500 บาท เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน 6 วัน จำเลยต้องจ่ายในส่วนนี้แค่ 30,300 บาท (ไม่ใช่ 5 แสนกว่าบาทอย่างที่ศาลชั้นต้นว่าไว้) เมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาล จึงไม่ถึง 1 ล้าน 4 แสนบาทเศษ เท่าที่ศาลชั้นต้นตัดสิน
ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ ให้บริษัทเจ้าของรถ และนายร่างทรง โชเฟอร์ ร่วมกันจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 8 แสน 5 หมื่นกว่าบาท มากกว่าที่ศาลอุทธรณ์ว่าไว้นิดหนึ่ง
ที่น่าสนใจมากๆ คือ การชิงตายเสียก่อนหลังจากได้รับบาดเจ็บของผู้เคราะห์ร้าย กลับทำให้คนทำผิดได้ประ โยชน์ จ่ายค่าเสียหายจากการที่เหยื่อไม่สามารถประกอบอาชีพ ลดลงอักโข ศาลคิดให้ตามที่ผู้บาดเจ็บมีชีวิตอยู่ได้ หลังจากบาดเจ็บ ศาลกำหนดให้เดือนละเท่าไร ก็เอาวันเดือนปีที่ยังตะเกียกตะกายมีชีวิตอยู่คูณเข้าไป
ที่น่าสนใจตามมา คือ เมื่อคดีตัดสินเสร็จไปแล้ว จำเลยจ่ายเงินไปแล้ว ตามที่ศาลกำหนด โดยคาดหมายว่าเหยื่อจะมีชีวิตอยู่นานหน่อย เช่น 20-30 ปี คาดคะเนตามอายุในขณะเกิดเหตุ ต่อมาเหยื่อตายลง เช่น หลังจากเกิดเหตุเพียง 2 ปี ถามว่าจำเลยจะรื้อฟื้นคดี ขอลดเงินลงได้ไหม ถ้าลดได้ ทายาทผู้ตายยุ่งเหมือนกัน เงินใช้ไปแล้ว ต้องเป็นหนี้ก็ซวย นี่คือเงื่อนแง่ของกฎหมาย
อีกแง่หนึ่ง กรณีเหยื่อตายไปแล้ว ทายาทฟ้องเรียกค่าเสียหายต่างๆ ตรงนี้จะไม่เหมือนอย่างคดีข้างต้น จำนวนเงินอาจจะมาก เพราะทายาทเรียก "ค่าขาดไร้อุปการะ" โดยคำนวณตามฐานะของผู้ตาย และตามอายุของผู้รับอุปการะ ซึ่งคาดว่าจะมีลมหายใจอยู่ต่อไป ทายาทอาจเป็นบิดามารดา สามีภรรยา บุตร ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพก็เรียกได้เช่นกัน ถ้าเหยื่อบาดเจ็บระยะหนึ่ง ก่อนที่จะตาย ขอให้เข้าใจตามนี้นะ
จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4352/2550
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณรงค์ นิติจันทร์
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : รู้ไว้ใช่ว่า