รู้ไว้ใช่ว่า
ไฟแนนศ์ปล้น
จั่วหัวด้วยเรื่องจริงเชียวนะท่าน ไม่ได้กล่าวหาเลื่อนลอย เหมือนแวดวงการเมืองไทย ที่อ้าปากโกหกได้สบายมาก เพราะเชื่อว่าหลอกลวงคนไทยได้เสมอ บริษัทไฟแนนศ์ซึ่งคนไทยรู้จักดีว่า หมายถึง พวกที่หากินด้วยการให้คนจนขับรถยนต์จากการผ่อนส่ง เมื่อรวมทั้งดอก ทั้งต้น บานก็แล้วกันการหากินของบริษัทไฟแนนศ์ ไม่เคยทิ้งลายเรื่องการเอาเปรียบลูกค้าอย่างคนไทยทั้งหลาย เมื่อเร็วๆ นี้มีเหยื่อที่เพิ่งรู้ตัวว่าโดนปล้น แจ้งให้ทราบด้วยความช้ำใจว่า การปล้นอีกแบบหนึ่งของบริษัทไฟแนนศ์ คือ การขยันส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ไปยังลูกค้าที่ส่งงวดไม่ทันตามกำหนด พ้นงวดที่ 2 ยังชำระให้เขาไม่ได้ หมายถึง เจอหนังสือบอกเลิกสัญญาแผ่นหนึ่ง เมื่อลูกค้าตั้งหลักได้ ก็หาเงินมาส่งงวดต่อไปอีก ไอ้ที่จะส่งงวดต่อได้ อย่าคิดว่าไม่โดน ไฟแนนศ์คิดค่าปรับและค่าดอกเบี้ยอีกต่างหาก จนครบถ้วน ว่ากันเป็นรายวัน สิ่งที่ผมบอกว่าโดนปล้น คือ เขาคิดค่า “หนังสือบอกเลิกสัญญา” อีกกระทอกหนึ่ง ซึ่งบางเจ้าอาจจะอุบไว้ก่อน ไม่ให้ไก่ตื่น พอถึงเวลาโอน หรือเปลี่ยนมือคนเช่าซื้อรถ ไฟแนนศ์จะมีรายการมาแสดงว่า ลื้อโดนบอกเลิกสัญญาได้รับหนังสือไปทั้งหมดกี่ฉบับ ถ้าเจอเข้าไป 10 ฉบับ เขาคิดฉบับละพันกว่าบาท นั่นหมายถึง ต้องจ่ายอีก 1 หมื่นกว่าบาท ไม่ยอมลดทอนใดๆ ทั้งสิ้น “ค่าหนังสือบอกเลิกสัญญา” ถือว่าเป็นการปล้นพี่น้องคนไทยอย่างเจ็บปวดที่สุด ที่ไฟแนนศ์อ้างว่าเป็นค่าทนาย อันที่จริงไม่จำเป็น บริษัทให้เสมียนพนักงานทำหนังสือได้สบายอยู่แล้ว เสียค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ ค่าแสตมป์ และค่าจัดส่ง รวมแล้วไม่เกิน 100 บาท/ฉบับ แต่ปล้นจากลูกค้าพันกว่าบาท หวานหมูไหมล่ะท่าน รัฐธรรมนูญใหม่ปี 2550 ถ้าชาวบ้านช่วยกันลงประชามติรับไว้ ไม่โละทิ้งตามที่ฝ่ายการเมืองกลุ่มหนึ่งต่อต้าน ได้กำหนดให้มีการเข้มงวด เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าไม่เอาไหน สำหรับประเทศไทย พ่อแม่พี่น้องตาดำๆ รวมทั้งตัวผมโดนเอาเปรียบตลอดมา ไม่ต้องอื่นไกล พอโทรศัพท์โดนตัดสาย แล้วบริษัทคิด "ค่าต่อสาย" 100 กว่าบาท ก็มั่วนิ่มเช่นกัน ตามกฎคิดค่าต่อสายไม่ได้อยู่แล้วนะท่าน แม้กระทั่งโทรศัพท์บ้านซึ่งเป็นของรัฐ อย่าง ทีโอที หรือองค์การโทรศัพท์ ก็ใช้ลูกมั่ว ขูดรีดจากชาวบ้าน พวกมือถือก็ไม่เว้น ต่อไปนี้ใครโดนเรียกเก็บ อย่าให้เด็ดขาด มาว่ากันถึงคดีรถของเราอย่างเคย เป็นอีกคดีหนึ่งที่ศาลต้องออกเหงื่อ เพราะการลงบันทึกประจำวันบนโรงพัก ระหว่างคู่กรณีเกี่ยวกับเรื่องรถ จับทิศไม่ถูกว่าข้อความที่บันทึกไว้ ควรจะมีผลอย่างไร ซ้ายหรือขวา หน้าหรือหลัง หยิบเอามาบอกกล่าวให้ท่านรู้ไว้ ไม่เสียหลาย หรือไม่เสียรู้ในภายหลัง เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ “นายสำคัญ” ซึ่งหากินเป็นลูกจ้างขับรถกระบะให้แก่ “นายบริษัท” ผู้รับเหมาถมดิน เพื่อเลี้ยงลูกเมียไปตามอัตภาพ ดวงตก จึงเฉี่ยวชนรถยนต์ของ “นายอนาคต” ซึ่งไม่รู้อนาคตของตนว่าจะซวยในวันนั้น รถของ นายอนาคต เสียหายเยอะ ตัวเองบาดเจ็บ แต่ไม่สาหัส ทั้งสองฝ่ายไปนั่งหน้าเหลืองที่โรงพัก ขณะที่ร้อยเวรก็หน้าเซียว เพราะคดีเข้ามาแยะ เมื่อเจรจาไกล่เกลี่ยนสำเร็จก็ดีใจ รีบทำบันทึกประจำวันขึ้นมา ตามที่คู่กรณีเขาตกลง เสร็จแล้วก็เซ็นชื่อแยกย้ายกันไป เรื่องยังไม่จบอย่างที่ร้อยเวรจราจรคาดหวัง เพราะฝ่ายรถกระบะที่ไปชนเขา ไม่รับผิดชอบซ่อมรถ และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ นายอนาคต เรื่องเลยไปถึงศาลเมื่อ นายอนาคต ยื่นฟ้อง นายสำคัญ กับนายบริษัท ให้ร่วมกันรับผิดเป็นเงิน 2 แสนกว่าบาท พร้อมดอกเบี้ย นายบริษัท สู้คดี ให้การปัดไปว่า นายอนาคตเจ้าของรถคันที่เสียหายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ นายสำคัญ คนขับรถกระบะไปแล้ว จึงไล่บี้ นายบริษัท ในฐานะนายจ้างของ นายสำคัญ ไม่ได้หรอก ต้องยกฟ้องลูกเดียว สำหรับ นายสำคัญ นั้นเป็นแค่ลูกจ้าง นายอนาคต เล็งแล้วว่าคงไม่มีเงินมาชดใช้อะไรได้ จึงปล่อยมือไม่ไล่บี้ต่อไปอีก จ้องเล่นงาน นายบริษัท เท่านั้น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ตัดสินให้ นายบริษัท เจ้าของรถกระบะชดใช้ค่าเสียหายให้ นายอนาคต แต่ลดจำนวนลงเท่าที่นำสืบได้ นายอนาคต พอใจ หยุดเกมแค่นั้น นายบริษัท ผู้รับเหมาถมดินเจ้าของรถกระบะไม่อยากจ่ายเงินตามที่ศาลตัดสิน เชื่อคำของทนายว่า นายอนาคต ไปตกลงกับ นายสำคัญ ตัดตอนไปแล้ว นายบริษัท ลอยลำ ไม่ต้องร่วมรับผิดแม้แต่บาทเดียว มีเงินเท่าไร เอามาจ่ายค่าทนายดีกว่า เพื่อจะได้ยื่นอุทธรณ์ขึ้นไปให้มันชนะคดี ศาลอุทธรณ์จึงต้องออกเหงื่อพิจารณาคดีนี้ แล้วพิพากษายืน ให้ นายบริษัท จ่ายตามที่ศาลชั้นต้นว่าไว้ ไม่เอนเอียงเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 2 อันได้แก่ นายบริษัท ยังเชื่อทนาย ไม่ว่าผิด หรือถูก พากันเชื่อ แล้วดันทุรังอย่างสนุกสนาน ขณะที่ทนายพากันยิ้มหวานในการรับทรัพย์ นายบริษัท ยื่นฎีกาขึ้นไป อ้างว่า นายอนาคต ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ นายสำคัญ คนขับรถกระบะไปแล้ว นายบริษัท จึงไม่เกี่ยวข้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาเพ่งดูคดีนี้อยู่ไม่นาน แล้วชี้ขาดออกมาว่า ตามบันทึกประจำวันที่มีข้อความว่า “นายอนาคต ได้เรียกร้องให้ นายสำคัญ ซ่อมรถที่ได้รับความเสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม (ปรากฏตามบันทึกตรวจสภาพรถของพนักงานสอบสวน) นายสำคัญ คนขับรถกระบะตกลงตามข้อเสนอของ นายอนาคต ผู้เสียหายทุกประการ โดยได้นำโดยไปซ่อมตั้งแต่วันที่...แล้ว” ข้อความดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเพียงเอกสารที่ นายอนาคต ตกลงให้ นายสำคัญ นำรถยนต์คันที่เสียหายไปซ่อมให้อยู่ในสภาพตามเดิม โดยมีแต่รายการความเสียหายของรถ ตามบันทึกการตรวจสภาพรถของตำรวจ แต่ไม่มีข้อความระบุถึงค่าเสียหายที่ นายอนาคต พึงได้รับ จากการที่ นายสำคัญ ขับรถมาเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้ นายอนาคต บาดเจ็บ รวมทั้งไม่ได้ระบุถึงค่าเสียหายอื่นๆ ที่ นายอนาคต พึงได้รับชดใช้ เช่น ค่าเสื่อมราคารถ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถตามปกติ นอกจากนี้เอกสารดังกล่าว ไม่ปรากฏข้อความให้เห็นด้วยว่า คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้น หรือข้อความที่ว่าโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสองทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป บันทึกรายงานประจำวันดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดระหว่าง นายอนาคต กับ นายสำคัญ กับ นายบริษัท ยังไม่ระงับ นายบริษัท นายจ้างของ นายสำคัญ จึงต้องรับผิด คำพิพากษาศาลล่างโอเคถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน ครับดูเผินๆ เหมือนกับว่าตกลงกันเบ็ดเสร็จระหว่าง นายอนาคต กับ นายสำคัญ แต่มันไม่สะเด็ดน้ำอย่างที่ศาลฎีกาท่านว่าไว้อย่างละเอียด เวลาทำบันทึกข้อตกลง ถ้าอยากให้สะเด็ดน้ำจริงๆ ต้องระบุให้เห็นว่า ฝ่ายที่เสียหายต้องการอะไร ครบถ้วนหรือไม่ และฝ่ายที่ต้องจ่ายให้เขา ควรมัดไว้ด้วยว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้ระงับ จะไม่ฟ้องร้องกันอีกทั้งทางแพ่งทางอาญาต่อไป มันถึงจะจบ ถามว่าฝ่ายที่เสียหายจะเสียเปรียบหรือไม่ หากเขียนไว้จะไม่ฟ้องร้องกันอีกทั้งทางแพ่งทางอาญา เมื่อคู่กรณีเบี้ยวบิดในภายหลัง ไม่เสียเปรียบหรอกครับ และยังฟ้องร้องกันได้ถ้าอีกฝ่ายเบี้ยวขึ้นมา แต่เป็นการฟ้องบังคับให้ทำตามสัญญาประนี ประนอมตามที่ตกลงไว้นั่นเอง สรุปก่อนที่จะเซ็นชื่อแซ่ลงไป อ่านข้อความให้ถี่ถ้วน ถ้าไม่รู้ไม่แน่ใจ ปรึกษาคนที่เขารู้กฎหมายซะหน่อยก็จะเป็นการดี จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2548
ABOUT THE AUTHOR
ณรงค์ นิติจันทร์
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : รู้ไว้ใช่ว่า