ระหว่างเพื่อน
น้ำตาและเสียงหัวเราะ
การเมืองเป็นเกมของนักการเมือง ส่วนมากก็อ้างว่าเสียสละเพื่อชาติ และประชาชน ขณะเดียวกันนักการเมืองส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อ เล่นการเมือง มากกว่า ทำงานทางการเมือง เวทีการแสดงแห่งนี้ มีทั้ง ชีวิต และตลกขบขัน บางทีก็ร้องไห้ไม่ออก และบางทีก็ตลกจนหัวเราะไม่ได้
เวทีการแสดงการเมืองของแต่ละประเทศต่างมีสไตล์ของตน มีรูปแบบที่ตรงกัน คือ การเข้ายึดอำนาจการปกครอง จะด้วย ปาก หรือ ปืน ก็มารูปทรงเดียวกันทั้งสิ้น
ปัจจุบัน กลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเห็นว่า การปฏิวัติรัฐประหาร หรือ คูพ์เดทาท์ เป็นวิธีการที่แสนเชย และควรจะสูญพันธุ์ แต่ล่าสุด อียิปต์ก็มีเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร ประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งคนแรกถูกปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อ 3 กรกฎาคม 2013
รัฐประหารเกิดขึ้นหลังจาก ประชาชนรวมตัวกันประท้วงเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ พอถึงวันพุธ ทหารก็ยึดอำนาจโค่นล้มประธานาธิบดี
อดีตประธานาธิบดีมอร์ซี ถูกโค่นล้ม ถูกกักบริเวณ พร้อมกับแกนนำภราดรภาพมุสลิม
วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบปีของการสถาปนาประธานาธิบดีมอร์ซี ชาวอียิปต์เป็นจำนวนมากมารวมตัวประท้วงที่ จัตุรัสทาฮีร์ ขอให้ มอร์ซี ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
เหตุการณ์การประท้วงในตอนแรกเป็นไปด้วยความสงบ แต่เมื่อผู้ประท้วงเสียชีวิต 5 คน หลังเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่รัฐ คราวนี้ ประชาชนชาวอียิปต์ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น การเรียกร้องกลายเป็นความรุนแรง
ตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม ที่ทำการใหญ่ของภราดรภาพมุสลิมถูกประชาชนผู้ประท้วงเข้าปล้นสะดม มีผู้เสียชีวิต 8 ราย
ถึงวันพุธที่ 3 ฝ่ายรัฐบาลกราดยิงประชาชนผู้ชุมนุม ล้มตายประมาณ 16-18 ราย บาดเจ็บกว่า 200 ราย
มอร์ซี ยืนกรานไม่ยอมลาออก อ้างว่า มาเป็นประธานาธิบดีด้วยความถูกต้อง เพราะได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และกล่าวว่า การประท้วงครั้งนี้ ทหารอยู่ข้างหลัง
พูดเสร็จ ทหารก็ยึดอำนาจ จบกระบวนการทางการเมืองของ มอร์ซี พร้อมกับมีการแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดเป็นประธานาธิบดีรักษาการ และประกาศที่จะให้มีการเลือกตั้งในเร็ววัน
ระหว่างการประท้วง ทั่วโลกก็ตั้งตามองว่าจะไปยังไงต่อ สหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา บอกว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เสียงข้างมากอย่างเดียว แต่ต้องฟังเสียงประชาชน อย่างไรก็ดี ความปลอดภัยของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ และเจ้าหน้าที่ตลอดจนประชาชนชาวสหรัฐ ฯ ในอียิปต์ ต้องมาเป็นอันดับ 1
เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรบอกกับสภาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สติในการแก้ไขปัญหา ขอให้อยู่ในความสงบ และขอประณามการข่มขืนทางเพศที่เป็นข่าว รัฐบาลของเรา (อังกฤษ) สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของประชาชน
ออมราน อัล-ซูบี รัฐมนตรีกระทรวงสารนิเทศของซีเรีย กล่าวว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในอียิปต์น่าจะยุติลง หาก มอร์ซี ยอมรับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ต้องการให้ประเทศของพวกเขาอยู่ในความปกครองของ มอร์ซี
ขบวนการสิทธิมนุษยชน ประณามการข่มขืนทางเพศ ซึ่งภายใน 3 วันแรกของการประท้วง มีคดีข่มขืนซึ่งผู้ถูกข่มขืนมีทั้งชาวต่างชาติและชาวอียิปต์ รวม 43 ราย
ภายหลังการยึดอำนาจแล้ว สหประชาชาติโดย บันคีมูน เลขาธิการยูเอน เรียกร้องให้ขบวนการประชาชนกลับคืนบทบาทมาโดยเร็ว พูดง่ายๆ ก็คือ การปกครองโดยทหารควรจะมีในแบบสั้นๆ ไม่ยืดเยื้อ
อาร์เจนตินา กล่าวว่า ติดตามเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เป็นเหตุการณ์อันนำมาซึ่งการล้มตายของอำนาจทางกฎหมาย ความสับสนระหว่างการเมืองในประเทศกับสถานการณ์ของสังคมอียิปต์
สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า เคารพทางเลือกของประชาชนชาวอียิปต์ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติความรุนแรง ใช้เวทีการเจรจาแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาสังคมให้มั่นคง
เยอรมนี โดยรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า นี่คือ ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยในอียิปต์ สมควรที่อียิปต์จะต้องนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาโดยเร็ว เพื่อมิให้การเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยได้รับความเสียหายยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่
มีหลายประเทศแสดงความเห็นในเวบ วิกิพีเดีย หลังจากที่ทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจ อดีตประธานาธิบดีมอร์ซี ไม่รู้กี่สิบประเทศแต่ไม่มีคำแถลงจากประเทศไทย
เมืองไทย การยึดอำนาจล่าสุดเกิดขึ้นในตอนค่ำของวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549 เป็นการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลภายใต้การนำของ พตท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการปฏิวัติรัฐประหารเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี
ขณะมีเหตุการณ์ยึดอำนาจ นายก ฯ ทักษิณ อยู่ต่างประเทศ เมื่อคณะทหารยึดอำนาจแล้วก็ยกเลิก การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคม ยกเลิกกฎหมายสูงสุด ยุบสภา ห้ามการประท้วงและการดำเนินกิจการทางการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก
เมื่อรถถังของทหารแล่นออกมาควบคุมสถานการณ์ในประเทศ ประชาชนชาวกรุงเทพ ฯ พากันออกมาให้ดอกไม้ และชวนลูกหลานถ่ายรูปคู่กับทหารประจำการรถถังเหล่านั้น แสดงความชื่นชอบต่อเหตุการณ์
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่เสียเลือดเนื้อ ได้รับแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศ
สหรัฐ ฯ แสดงความผิดหวังโดยกล่าวว่า การก่อการรัฐประหารเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกายอมรับไม่ได้
ขณะที่พันธมิตรในแอลเอ ชุมนุมและออกแถลงการณ์สนับสนุน คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ เช่นเดียวกับพันธมิตรในชิคาโก ซึ่งแต่เดิมมีการชุมนุมขับไล่ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ
สาธารณรัฐประชาชนจีน แสดงความเห็น ความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างหนึ่งข้างใด ขณะที่ มีชาวเกาหลีใต้กลุ่มหนึ่ง เดินทางไปประท้วงการก่อการรัฐประหารที่หน้าสถานทูตไทยในกรุงโซล
มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท. ในขณะนั้น กล่าวว่า
"จากที่ดูภาพใน ซีเอนเอน เป็นการยึดอำนาจที่เรียบร้อยที่สุด ไม่มีเสียเลือดเสียเนื้อ เราก็รู้สึกสบายใจว่า มันคงไม่กระทบความเชื่อมั่น เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประชาชนยอมรับ ขณะที่ต่างชาติก็รู้สึก ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน"
ขณะเดียวกัน สวนดุสิตโพลล์ ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,019 คน ในวันที่ 20 กันยายน 2549 พบว่าประชาชน 83.98 % จากกลุ่มสำรวจ เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าจะการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนประชาชนที่ไม่เห็นด้วย มีความเห็นว่าภาพลักษณ์ของประเทศอาจตกต่ำลง
เหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยระบบรัฐประหาร เป็นโอกาสในการแสดงของฝ่ายคัดค้าน ในวันรุ่งขึ้นช่วงเที่ยงวัน รต.ฉลาด วรฉัตร และ ทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนราชดำเนิน ทวีกางป้ายขนาดใหญ่ระบุว่า
"กระผม ทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก"
การประท้วงครั้งแรกหลังเหตุการณ์รัฐประหาร มีขึ้นที่หน้าห้างสยามเซนเตอร์ เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2549 โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 20-100 คนผู้ประท้วงแต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย และเชิญชวนให้ประชาชนที่คัดค้านการรัฐประหารใส่เสื้อดำในการประท้วง
ป้ายประท้วงมีข้อความ "NO TO THAKSIN. NO TO COUP" (ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร) และ "DON'T CALL IT REFORM-IT'S A COUP" (นี่ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการรัฐประหาร)
มีป้ายหนึ่งเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กำกับด้วยข้อความว่า "ON VACATION AGAIN" (งดใช้ชั่วคราว) รองศาสตราจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวว่า
"เราเชื่อว่า เราเป็นกระบอกเสียงของคนไทยอีกมาก ที่ยังเป็นห่วง หรือที่ยังกลัวที่จะพูดออกมา"
เมืองไทยของเราวันนี้ มีรัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้ง แต่คนไทยที่เป็นห่วง หรือกลัวที่จะพูดออกมานั้น จะมีจำนวนน้อยลง หรือเพิ่มขึ้น ผู้เขียนก็ตอบไม่ถูก...เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า รัฐประหาร จะให้มีต่อไป หรือต้องการสูญพันธุ์...!!!
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2556
คอลัมน์ Online : ระหว่างเพื่อน