DIY...คุณทำเองได้
ไฟเตือนบนหน้าปัด ช่วยอะไรได้บ้าง ?
ช่วงที่ผ่านมา ผมนำเรื่องราวของคนรอบข้างมาเล่าสู่กันฟังไปเสียมาก วันนี้ถึงคราวเรื่องของตัวเองบ้าง
ถึงขนาดเรียกว่า ตกม้าตายกันง่ายๆ เลยทีเดียว
โดยปกติผมไม่ได้ดูแลรักษารถแบบพิถีพิถันมากมายนัก เพราะเวลามีอะไรเริ่มผิดปกติก็จะรีบเปลี่ยน
ก่อนที่จะมีปัญหา โดยหลักๆ แล้วถือว่าเป็นการดูแบบผ่านๆ มากกว่า ถ้าไม่มีอะไรเตะตาก็จะปล่อยเลยไป เนื่องจากเวลาขับขี่นั้นจะคอยจับอาการของรถอย่างสม่ำเสมอ เข้าตำราว่าหมองูตายเพราะงูจริงๆ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมายุ่งมากๆ ขนาดล้างรถยังไม่ค่อยจะได้ล้างด้วยซ้ำ และเท่าที่ใช้งานมาตัวรถก็ไม่มีอาการอะไรผิดปกติเลย ก็เลยชะล่าใจ จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งหลังจากบิดกุญแจสตาร์ทก็ต้องตกใจ เพราะสตาร์ทติดแล้วก็ดับไปดื้อๆ เป็นอยู่หลายครั้งทีเดียว กว่าจะไล่หาสาเหตุเจอก็เล่นเอาหน้าแตกหมอไม่รับเย็บไปเหมือนกัน
โดยปกติแล้วผมเป็นคนที่จะมองหน้าปัดบ่อยๆ ตลอดเวลาในการขับขี่เลยก็ว่าได้ เพราะติดนิสัยมาตั้ง
แต่สมัยวัยรุ่น ที่เล่นรถวางเครื่องแรงๆ มาก่อน สมัยนั้นต้องหมั่นมองเข็มความร้อนให้ดี เพราะถ้าอัดหนักๆ ความร้อนจะขึ้นสูงบ่อยครั้ง ถ้าไม่ดูบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัยเครื่องจะนอคเอาง่ายๆ รวมถึงเกจวัดระดับน้ำมันก็ต้องหมั่นมอง เพราะสมัยนั้นเติมน้ำมันทีแค่ครึ่งถังอัดหนักๆ เข็มน้ำมันนี่ตวัดสวนทางกับเข็มความร้อนเลยทีเดียว ประมาณว่าเข็มความร้อนกวาดขึ้น แต่เข็มน้ำมันชี้ลง ถ้าไม่ดูเลยแล้วเครื่องดับ ก็มี 2 อาการ คือ เครื่องฮีทแล้วนอคดับ กับน้ำมันหมด
ผู้ใช้รถส่วนใหญ่มักมองว่าเรื่องของสัญญาณเตือนต่างๆ บนหน้าปัดนั้นเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไฟเตือน
ต่างๆ นั้นจะช่วยบอกเราได้ว่าเครื่องยนต์ หรือส่วนอื่นๆ กำลังมีปัญหา แต่หลายครั้งที่ไฟเตือนต่างๆ ก็ไม่ได้มีประโยชน์เลย เพราะบางครั้งมันก็ไม่โชว์
ไฟเตือนรูปแบทเตอรี
เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อสารถึงผู้ขับขี่ว่ามีระบบใดระบบหนึ่งในรถกำลังมีปัญหา หรือเริ่มส่อเค้าว่าจะมี
ปัญหา หลายคนเมื่อสังเกตเห็นไฟเตือนระบบใดระบบหนึ่งสว่างก็มักตกใจ และคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ใส่ใจกับคู่มือการใช้งาน หรือศึกษาการใช้งานอย่างถูกต้องเสียก่อน เมื่อนำมาใช้จึงไม่ทราบว่ามีระบบอะไรบ้างในรถเกิดความบกพร่องขึ้นมา นอกจากการเรียนรู้ว่าไฟเตือนแต่ละอย่างหมายความว่าอย่างไร เราควรต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกนิดนะครับถึงสาเหตุที่ทำให้ไฟเตือนเหล่านั้นโชว์ขึ้นมา เพราะบางครั้งเราสามารถตัดสินใจได้ว่า ควรจะทำอย่างไรเพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง สำหรับรถรุ่นใหม่ที่มีระบบ ON BROAD COMPUTER ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ให้มาก เพราะมีความซับซ้อน ในจอเดียวสามารถแสดงได้หลายฟังค์ชัน
ไฟเตือนรูปแบทเตอรีนี้ ผมเจอกับรถตัวเองมา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกขับมาดีๆ ไฟโชว์รูปแบทเตอรีติดขึ้น
มาดื้อๆ สิ่งแรกที่ทำ คือ ลดความเร็วและปิดแอร์ ปิดวิทยุ ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เพราะนั่นหมายความว่า ไดชาร์จไม่ทำงาน หรือไม่ก็แบทเตอรีมีปัญหา สิ่งที่ต้องทำ คือ ลดการใช้ไฟทั้งหมดเพื่อประคองรถเข้าที่ปลอดภัย กรณีของผมนั้นเป็นเพราะไดชาร์จไหม้ ไม่สามารถผลิตไฟไปป้อนระบบอื่นๆ ได้ การปิดระบบไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ทำให้ผมสามารถขับรถไปได้อีกราวๆ 4-5 กม. จนพบที่ปลอดภัยสำหรับการจอดรถ และโชคดีที่บริเวณนั้นมีร้านซ่อมไดชาร์จอยู่ด้วย ถ้าไม่สังเกตไฟเตือนต่างๆ แล้วขับต่อไป อาจจะทำให้คุณต้องเสียเวลาในการตามช่างมาซ่อม หรือมาลากรถไป
ครั้งที่ 2 ขับรถมาอยู่ดีๆ เครื่องยนต์ก็ดับไปดื้อๆ ไม่มีอาการอะไรแสดงความผิดปกติให้เห็น แต่สตาร์ท
แล้วก็ติดใหม่ ขับไปได้อีกสักพักก็ดับไปอีก แต่ด้วยความช่างสังเกตจึงเห็นว่านาฬิกาแบบตัวเลขที่หน้าปัดเวลามันรีเซทใหม่ ที่ตัววิทยุก็เช่นกัน ตัวเลขมีการรีเซทใหม่ ซึ่งอาการเช่นนี้แสดงว่าต้องมีการถอดขั้วแบทเตอรีออกแล้วใส่ใหม่ แต่อาการนี้มันเกิดขึ้นตอนรถวิ่งอยู่ แสดงว่าขั้วแบทเตอรีต้องหลวมแน่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อย พอเปิดฝากระโปรงรถแล้วจับขั้วแบทเตอรีดู ก็ถึงได้รู้ว่ามันหลวมจริงๆ เดินไปเปิดท้ายหาประแจเบอร์ 10 มาจัดการไขให้แน่นก็เรียบร้อย
เรื่องนี้ถ้าไม่ใช่คนช่างสังเกตก็อาจโทรเรียกช่าง ถ้าเจอช่างดีก็จ่ายค่าเสียเวลาไม่เท่าไร แต่ถ้าเจอช่างไม่
ดี อย่างน้อยๆ ก็หลักพันขึ้นครับ มีคนโดนมาแล้วว่าเรื่องนี้ช่างแจ้งว่าไดชาร์จเสีย ต้องไปเสียค่าลาก, ค่าไดชาร์จ และค่าแรงเกือบห้าพันบาท แต่มารู้ทีหลังว่าขั้วแบทเตอรีหลวมแน่ๆ เนื่องจากเขาเก็บไดชาร์จลูกเก่ากลับมาด้วย และเพื่อนขอเอาไปใช้ต่อ หลังจากลองเปลี่ยน ตรวจเชคแรงดันไฟแล้ว ถึงได้รู้ว่าปกติ แถมใช้ต่อเนื่องได้อีก 3-4 ปี จนขายรถไปด้วยซ้ำ เจ้าของรถมาเอะใจตอนหลังว่าทำไมช่างมาถึงใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีก็รู้ว่าไดชาร์จเสีย หลังจากเปิดฝากระโปรงช่างจับโน่นจับนี่ แต่สุดท้ายไปจับที่ขั้วแบทเตอรีจากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไร เปิดฝากระโปรงแล้วก็ลากไปอู่เลย เจ้าของรถมานั่งนึกได้หลังจากที่เพื่อนเอาไปใช้แล้วไม่มีปัญหานั่นแหละ
สตาร์ทไม่ติดเพราะน้ำมันหมด
เจอมากับตัวเองเมื่อไม่กี่วันนี้เอง ตื่นเช้ามาสตาร์ทไม่ติดในครั้งเดียวเหมือนเคย สตาร์ทอีก 2-3 ครั้งก็
ไม่ติด เริ่มเอะใจว่าท่าจะไม่ดีเสียแล้ว พอครั้งที่ 5 เครื่องก็ติด แต่เดินเบาได้เดี๋ยวเดียวก็ดับ เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง สุดท้ายพ่วงแบทเตอรีแล้วก็ไม่ติด แต่ก่อนหน้านั้นเห็นว่าวิทยุและนาฬิกามันรีเซทใหม่ พอไปดูที่ขั้วแบทเตอรีก็เห็นว่าหลวม ลองไขให้แน่นก็ติดได้แล้วก็ดับเหมือนเดิม มาดูเกจวัดน้ำมัน ก็เหลือน้อยแทบจะถึงขีด E แล้ว แต่ก็นึกในใจว่าไม่น่าหมด เพราะปกติรถผมเองจะมีไฟโชว์ติดก่อน และสามารถขับต่อได้อีกนานพอสมควร ซึ่งในรถส่วนใหญ่เมื่อไฟโชว์รูปน้ำมันเครื่องโชว์มักจะวิ่งต่อได้ราวๆ 20-30 กม. แต่ทางที่ดีไม่ควรให้น้ำมันเหลือน้อยกว่า 1 ใน 4 ถัง เมื่อถึงระดับนี้ควรเติมได้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันหมดในสถานที่ๆ ไม่ปลอดภัย มีมือใหม่หลายท่านไม่ทราบ เห็นไฟเตือนรูปหัวจ่ายติดสว่างขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร ก็ขับไปจนกระทั่งน้ำมันหมดนั่นแหละ ถ้าโชคดีก็จะหมดใกล้ปั๊ม หรือมีคนมาช่วยเร็วหน่อย
สุดท้ายก็ลองสตาร์ทอีก 2-3 ครั้ง อาการก็เป็นเช่นเดิม คือ ติดแล้วก็ดับ เลยมานั่งเซ็งอยู่หลังพวงมาลัย ด้วยความที่กำลังคิดอะไรเพลินๆ มือก็บิดสวิทช์กุญแจไปที่ตำแหน่ง ON ในตำแหน่งนี้ปั๊มติ๊กจะทำงานทันที และทำงานอยู่ราวๆ 3-5 วินาที เพื่อสร้างแรงดันมารอที่รางหัวฉีด แต่คราวนี้ทำไมปั๊มติ๊กมันถึงได้ทำงานแผ่วๆ เงียบๆ กว่าปกติ ก็เลยคิดว่าถ้าน้ำมันไม่หมดก็ปั๊มติ๊กเสียแน่นอน เลยลองไปเปิดฝาถังน้ำมันดู ผลปรากฏว่ามีเสียงลมดังฟี้ด...ยาวเลย เหมือนเวลาเราเปิดอาหารกระป๋อง อาการแบบนี้แสดงว่านอกจากท่อหายใจของน้ำมันอาจจะตันแล้ว ยังบอกได้ว่าน้ำมันในถังไม่มีเหลือแน่ๆ เพราะปั๊มติ๊กจะดูดอากาศที่มีในถังออกไปทางท่อน้ำมันเกือบหมด
เสียงฟี้ด...ยาวๆ ที่ได้ยินนั้น คือ เสียงอากาศที่ถูกดูดเข้าไปแทนที่ในถังน้ำมันที่กลายเป็นสุญญากาศ
เนื่องจากไม่มีน้ำมันเหลืออยู่ในถังนั่นเอง...สุดท้ายก็ไปซื้อน้ำมันมาเติม บิดกุญแจไปตำแหน่ง ON ช่วงเวลา 2-3 วินาที ก็ได้ยินเสียงปั๊มติ๊กทำงานตามปกติ เมื่อปั๊มติ๊กตัดก็บิดกุญแจสตาร์ท ทีเดียวติดตามปกติ นั่นเป็นเพราะ 2 สาเหตุ คือ ไฟเตือนน้ำมันหลอดขาดไปแล้ว หรือไม่ก็ลูกลอยที่ถังค้าง ทำให้ไฟไม่ติดโชว์เหมือนปกติ อาการนี้ทำเอาผมเองต้องกวาดชิ้นส่วนหน้าของตัวเองที่หล่นไว้เกลื่อนหน้าบ้าน เพราะคนแถวนั้นรู้ว่าเราเชี่ยวชาญเรื่องรถค่อนข้างมาก
เพราะเรื่องน้ำมันหมดนี่ไม่มีอยู่ในหัวเลย ดังนั้นควรจะหมั่นดูระดับน้ำมันในถังให้สม่ำเสมอ รวมทั้งควรจะรีเซททริพบนหน้าปัดเอาไว้ด้วย เพื่อให้ทราบว่าน้ำมัน 1 ถัง ในการใช้งานปกตินั้น วิ่งได้เฉลี่ยกี่ กม. เช่น ใช้งานในเมือง น้ำมัน 1 ถัง วิ่งได้ระยะทางเฉลี่ย 400 กม. ระหว่างการใช้งานถ้าระยะทางวิ่งมาก แต่เข็มน้ำมันไม่ลดลง หรือลดลงน้อยมาก ก็ให้สงสัยว่าเกจวัดน้ำมัน หรือลูกลอยในถังมีปัญหาก็เป็นได้ การทราบระยะทางที่รถจะวิ่งได้ต่อถัง ช่วยป้องกันปัญหาน้ำมันหมดระหว่างทางได้เป็นอย่างดี และไม่ควรปล่อยให้น้ำมันลดต่ำกว่า 1 ใน 4 ถัง ถ้าไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยควรจะหาที่เติมน้ำมันเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเมื่อต่ำกว่าครึ่งถัง และถือว่าเป็นการพักรถพักคนไปในตัว
ความร้อนสูงเครื่องพัง
สำคัญมากๆ สำหรับเกจวัดตัวนี้ เมื่อความร้อนของเครื่องยนต์ขึ้นสูง มันเป็นสัญญาณว่าเครื่องยนต์
ทำงานบกพร่อง ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความเสียหายให้กับเครื่องยนต์ได้มากมายอย่างที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียว ในรถรุ่นใหม่ๆ นั้นเกจวัดความร้อนไม่ค่อยจะมีให้แล้ว นัยว่าเป็นไปตามทเรนด์ที่พยายามลดความวุ่นวายบนหน้าปัดลง การแสดงผลเรื่องของอุณหภูมิจะใช้สัญลักษณ์ไฟโชว์รูปเธอร์โมมิเตอร์แทน ตอนบิดกุญแจไปที่ตำแหน่ง ON สัญลักษณ์นี้จะติดสว่างขึ้นเป็นไฟสีฟ้า แล้วจะดับไปเมื่อเครื่องติด หรือเมื่อถึงอุณหภูมิใช้งาน เมื่อความร้อนเริ่มสูงกว่าปกติถึงระดับที่เซนเซอร์ตั้งไว้ ไฟรูปเธอร์โมมิเตอร์จะติดสว่างอีกครั้ง แต่จะเปลี่ยนเป็นสีแดง เพื่อเตือนว่าความร้อนสูงกว่าปกติ เมื่อไฟเตือนรูปเธอร์โมมิเตอร์ติดขณะขับขี่และเป็นสีแดง ไม่ต้องตกใจ ยังมีเวลาที่จะให้คุณนำรถเข้าจอดข้างทางได้สบายๆ มีเจ้าของรถบางคนกลัวเกินกว่าเหตุเวลาที่ความร้อนขึ้นสูง หาที่จอดได้ก็จอดเลยเพราะกลัวเครื่องพัง โดยไม่ได้ดูว่าปลอดภัยหรือไม่
สาเหตุที่ทำให้ความร้อนขึ้นสูงเป็นได้หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นท่อทางน้ำรั่ว, หม้อน้ำรั่ว, พัดลม
ระบายความร้อนไม่ทำงาน ฯลฯ แต่มันไม่ทำให้เกิดความเสียหายได้สักเท่าไร ถ้าคุณทราบและดับเครื่องยนต์ได้ทันก่อนที่จะเข้าขั้นวิกฤต ส่วนมากเมื่อความร้อนขึ้นสูงเป็นเวลานาน เครื่องยนต์มักจะนอคดับไปเลย ผลที่ตามมาเบาะๆ ก็ฝาสูบโก่ง เคยเจออาการหนักๆ ถึงขนาดเสื้อสูบบิดเบี้ยวและร้าวก็ยังมี เวลาขับรถจำเป็นต้องหมั่นมองมาตรวัดต่างๆ อยู่เสมอ
โดยเฉพาะเครื่องดีเซล แบบคอมมอนเรล ในปัจจุบัน เป็นเครื่องที่มีความร้อนสะสมสูง โอกาสที่จะเกิด
ความเสียหายมีมาก แม้ว่าจะเป็นรถใหม่ๆ แต่ถ้าวิ่งทางไกลเป็นประจำก็ต้องดูน้ำในถังพักอย่างสม่ำเสมอ เพราะความเสียหายจากอาการนี้มักจะไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทขึ้นไป และเกจวัดของรถญี่ปุ่นแบบเข็มนั้นไม่ละเอียดเท่ากับรถยุโรป เมื่อเข็มความร้อนเริ่มสูงขึ้น มันจะกวาดเข้าสู่โซนสีแดงเร็วมาก ถ้าเราหมั่นดูและเห็นก่อนก็จะช่วยลดความเสียหายโดยไม่ตั้งใจได้มากทีเดียว
ทำอย่างไรเมื่อไฟโชว์สว่างขึ้น
จังหวะสุดท้ายที่เราบิดกุญแจเพื่อสตาร์ท ไฟโชว์ต่างๆ จะติดขึ้นมาทั้งหมด หลังจากสตาร์ทแล้วไฟ
เตือนต่างๆ จะต้องดับลง ยกเว้นพวกไฟเตือนเบรคมือ หรือตำแหน่งเกียร์ เมื่อเครื่องยนต์หมุน ไดชาร์จจะทำงาน โดยทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟส่งไปยังแบทเตอรี และป้อนไฟฟ้าให้ระบบต่างๆ ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน ไฟโชว์ตัวนี้ต้องไม่ติดขึ้นมา แต่ถ้าขณะที่เครื่องยนต์ทำงานแล้วไฟเตือนนี้ติดสว่าง หรือสว่างวาบๆ เรื่อๆ แสดงว่าระบบประจุไฟ หรือระบบชาร์จไฟมีปัญหาแล้ว ถ้าเกิดว่าระหว่างการขับขี่นั้นไฟเตือนรูปต่างๆ ติดขึ้นมาแสดงว่าระบบนั้นๆ มีปัญหา
ถ้าไฟเตือนรูปแบทเตอรีสว่างขึ้นมา สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ หาที่ปลอดภัยเพื่อจอดรถ หรือหาอู่ หรือศูนย์ที่
ใกล้ที่สุด แต่ไม่ควรเกิน 5 นาที นับจากไฟเตือนติดขึ้นมา และควรปิดแอร์, วิทยุ หรือระบบไฟฟ้าอื่นๆ ให้หมด เนื่องจากขณะนั้นระบบที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดมันจะดึงไฟมาจากตัวแบทเตอรี ถ้าแบทเตอรีสภาพดีเก็บไฟได้เต็ม ก็อาจจะวิ่งได้นานกว่านั้นหน่อย
ไฟเตือนรูปกาน้ำมันเครื่อง ถ้าไฟนี้ติดระหว่างเครื่องยนต์ทำงาน หมายความว่าโอกาสที่จะเกิดความ
เสียหายครั้งใหญ่มาถึงแล้ว เมื่อน้ำมันเครื่องไม่มีในระบบ จะทำให้หลายส่วนเกิดความเสียหาย เช่น เกิดอาการชาฟท์ละลาย หรือแบริงข้อเหวี่ยงไหม้ละลายจนเครื่องยนต์ไม่สามารถหมุนได้นั้น มาจากปัญหาเรื่องของน้ำมันเครื่องไม่สามารถหมุนเวียนได้ในระบบ สาเหตุมีได้หลายอย่าง ทั้งการรั่วซึม, อ่างน้ำมันเครื่องทะลุ, ซีลรั่ว, ในรถดีเซลที่เจอก็ซีลท้ายไดชาร์จรั่ว หรือแม้แต่ซีลท้ายกรองน้ำมันเครื่องก็ยังเคยเจอ ปัญหาเหล่านี้ทำให้น้ำมันเครื่องไม่สามารถหมุนเวียนได้ในระบบ เมื่อไม่มีการหมุนเวียนแรงดันในระบบลดลง ไฟเตือนรูปกาน้ำมันเครื่องก็จะติดขึ้นมา ดังนั้นเมื่อไฟเตือนรูปนี้ติดขึ้นมาควรจอดรถ และดับเครื่องยนต์ทันที เพราะนั่นหมายความว่า น้ำมันเครื่องในระบบไม่มีการหมุนเวียนแล้ว เมื่อไฟเตือนนี้ติดสว่างไม่ต้องตกใจ ดูเกจวัดความร้อนน้ำควบคู่กันไปด้วย ว่าขึ้นสูงเพียงใด ถ้าปกติหรือขึ้นสูงนิดหน่อย ยังมีเวลาให้คุณนำรถเข้าจอดข้างทางได้อย่างปลอดภัย เมื่อจอดรถแล้วต้องทำการตรวจเชคดูร่องรอยการรั่วซึมของน้ำมันว่าเกิดขึ้นจุดใด ถ้าไม่พอให้รอสัก 5-10 นาที
เพื่อให้น้ำมันเครื่องไหลลงสู่อ่างน้ำมันเครื่องก่อน ถ้าเชคน้ำมันเครื่องแล้วพบว่าน้ำมันเครื่องไม่มีอยู่ ก็
แสดงว่ารั่วตรงจุดไหนสักแห่ง ถ้าไม่พบร่องรอยการรั่ว อาจจะเกิดจากปะเก็นฝาสูบแตก ทำให้น้ำมันเครื่องรั่วเข้าห้องเผาไหม้ กรณีนี้ควันจากปลายท่อก็จะขาวเหมือนรถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะ หรืออาจจะรั่วเข้าระบบระบายความร้อน ต้องรอให้เครื่องเย็น แล้วเปิดฝาหม้อน้ำเชคดูด้วยว่ามีน้ำมันเครื่องรั่วเข้าไปปนหรือไม่ ถ้ามี น้ำในระบบจะกลายเป็นสีกาแฟขุ่นๆ กรณีนี้ต้องลากไปอู่ หรือศูนย์ ห้ามสตาร์ทเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด ถ้าน้ำมันเครื่องมีอยู่ต้องตรวจเชคต่อไปว่าทำไมน้ำมันเครื่องถึงไม่มีการหมุนเวียน อาจเป็นได้ 2 อาการ คือ ปั๊มน้ำมันเครื่องเสีย หรือไม่ก็เซนเซอร์แรงดันเสีย กรณีนี้ก็ไม่ควรสตาร์ทเครื่องยนต์เช่นกัน
บางครั้งไฟโชว์รูปเครื่องติดโชว์ระหว่างขับขี่ แสดงว่าระบบเครื่องยนต์มีปัญหาแล้ว ถ้ารถขับได้เร่ง
เครื่องได้ปกติ ก็สังเกตมาตรวัดอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องความร้อน ถ้าความร้อนปกติก็สามารถขับต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้ความเร็วและรอบเครื่องสูงนัก รถบางรุ่นจะตัดเข้าสู่วงจรสำรองเพื่อป้องกันความเสียหาย อันจะทำให้เครื่องยนต์ไม่สามารถใช้รอบได้มากนัก ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ที่ราว 1,500-2,000 รตน. เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดกับเครื่องยนต์ เพื่อให้เจ้าของรถสามารถประคองรถกลับไปเข้าศูนย์บริการได้โดยไม่ต้องลาก ซึ่งไฟโชว์นี้มันค่อนข้างกว้างในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้น บางครั้งสายไฟขาด ECU ไม่สามารถจับสัญญาณได้ มันก็จะสั่งให้ไฟโชว์รูปเครื่องยนต์ติดสว่างขึ้น เพื่อเข้าทำการตรวจเชค ในบางระบบมันไม่ทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายในทันที แต่จะเป็นระยะยาว ดังนั้นระบบจึงยังยอมให้ผู้ขับขี่สามารถขับเคลื่อนรถต่อไปได้
การหมั่นตรวจเชค และเรียนรู้ว่าแต่ละระบบทำงานอย่างไร และเมื่อเกิดความเสียหายแล้วจะเกิดอะไร
ขึ้น จะช่วยให้คุณมีความพยายามที่จะเรียนรู้ในการตรวจเชค และเอาใจใส่รถตัวเองมากขึ้น รวมถึงการเอาตัวรอดจากการจอดเสียข้างทาง หรือเอาตัวรอดจากช่างที่จะมาคอยโขกสับกับคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเดินทางไปกับครอบครัวที่อาจจะมีเด็ก หรือผู้สูงอายุ ถ้ารถเกิดเสียระหว่างทางคงไม่ดีแน่นอน
ABOUT THE AUTHOR
พ
พหลฯ 30
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2551
คอลัมน์ Online : DIY...คุณทำเองได้