รายงาน(formula)
ระวังโดนจับ !
แต่ง "ซิ่ง" ใส่แมก โหลดเตี้ย ติดโรลล์บาร์ เปลี่ยนท่อดัง ติดเทอร์โบ โมกล่อง รถแต่ง "ซิ่ง" หรือแต่งสวยในยุคนี้ ต้องศึกษากฎหมายกันให้ดี ไม่เช่นนั้นต้องเสียเงินค่าปรับเป็นว่าเล่น หลังจากมีการกวดขัน พรบ. จราจร หลายข้อที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งรถยนต์ แล้วจะแต่งรถอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย มาติดตามกัน
โหลดเตี้ยอย่างมีหลักเกณฑ์
สิ่งแรกที่ผู้เริ่มตกแต่งรถอยากเปลี่ยน นั่นคือ ล้อแมก เมื่อเปลี่ยนแล้วก็ย่อมอยากให้รถดูสวยลงตัวกับล้อที่เปลี่ยนมา จึงจำเป็นต้องทำให้รถเตี้ยลง ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เปลี่ยนสปริงโหลด หรือเปลี่ยนชอคอับแบบปรับความสูงได้ เป็นต้น ซึ่งสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมายเกี่ยวกับการดัดแปลงเพิ่มความสูง หรือทำให้รถเตี้ยลง ตาม พรบ. รถยนต์ พศ. 2522 ที่ระบุไว้ว่า "ต้องมีความสูงจากระยะกึ่งกลางไฟหน้า ลงมายังพื้นถนน ไม่ต่ำกว่า 40 ซม."
ถ้าวัดระดับจากกึ่งกลางไฟหน้าแล้วมากกว่า 40 ซม. ก็ต้องมาดูที่ชุดตกแต่งที่ติดตั้งรอบคันด้วย เพราะบางคันติดตั้งแล้ว รถจะมีระยะห่างจากพื้นถนนไม่มากนัก อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้ ในลักษณะนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายช่างจากกรมการขนส่งทางบก เป็นคนตัดสิน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
กรอบป้ายทะเบียนฟรุ้งฟริ้ง ผิดกฎหมาย
กรอบป้ายทะเบียน เป็นอุปกรณ์ประดับรถยนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีลักษณะเป็นกรอบพลาสติคใสมองเห็นเลขทะเบียน บริเวณขอบจะทึบแสง มีสีและลวดลายต่างๆ เช่น สีขาว ที่มีขนาดสั้นและยาวให้เลือกซื้อมาติดกัน ป้องกันน้ำและฝุ่น แต่รู้หรือไม่ กรอบทะเบียนพวกนี้ผิดกฎหมายทั้งหมด ในข้อหาดัดแปลงสภาพป้ายทะเบียน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
นอกจากนี้การติดตั้งทะเบียนที่มีลักษณะแหงนขึ้นหรือพับลง หรือมีวัสดุมาปิดทับ ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน วางไว้บนกระจกก็มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ล้อใหญ่ได้ แต่ห้ามยื่น
เปลี่ยนใส่ล้อแมกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้ เช่น ล้อขนาด 18, 19 และ 20 นิ้ว แต่ล้อและยางต้องไม่ล้นจากตัวถังรถออกมาหลายนิ้ว หากเกินมีโทษปรับ 2,000 บาท หรือบางคันไปดัดแปลง แบะล้อ เพื่อให้ล้อหลบเข้าซุ้มล้อ มีความผิด ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และในกรณีนำรถไปตีโป่ง ขยายซุ้มล้อ กฎหมายได้ระบุไว้ว่า ส่วนที่ตียื่นออกมาต้องเป็นชิ้นเดียวกับตัวรถ หรือถ้าเป็นวัสดุคนละชนิดกัน ต้องยึดติดอย่างแน่นหนา ถ้าไม่แน่นหนา หรือตีโป่งยื่นออกมามาก เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์ขอตรวจดูสำเนาการจดทะเบียน ต้องมีวิศวกรรับรองการดัดแปลงสภาพ และต้องแจ้งกับกรมการขนส่งทางบกแล้วเท่านั้นมายืนยัน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ไฟหน้ารถต้องสีเหลืองอ่อน หรือขาวเท่านั้น
การเปลี่ยนหลอดไฟหน้า อย่างเช่น ไฟซีนอน สามารถเปลี่ยนได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องเลือกเฉพาะสีเหลืองหรือขาวเท่านั้น มีกำลังไฟ แสงสว่างเท่ากันทั้ง 2 ช้าง และต้องปรับทิศทางของแสงไม่ให้ฟุ้งกระจาย จนไปแยงตารถผู้อื่น โดยไฟสูงจะต้องปรับให้จุดรวมแสง อยู่ไม่สูงกว่าแนวขนานกับพื้นราบ ส่วนไฟต่ำ จุดรวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นราบมากกว่า 2 องศา และไม่เบนเฉไปทางขวา หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เช่นเดียวกับไฟตัดหมอก หรือไฟสปอทไลท์ก็ติดตั้งได้ แต่ตำแหน่งการติดต้องไม่ต่ำกว่า 40 ซม. และไม่สูงกว่า 135 ซม. (วัดจากพื้นถนน) เป็นแสงสีเหลืองหรือสีขาว กำลังไฟไม่เกิน 55 วัตต์ การเปิดไฟตัดหมอกควรเปิดในกรณีที่มองทางได้ไม่ชัดเจน มีหมอกควัน หรือฝนตกหนักเท่านั้น ถ้าเปิดพร่ำเพรื่อ มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
ติดโรลล์บาร์ได้ แต่ห้ามถอดเบาะ
โรลล์บาร์โคลงเหล็กเหมือนรถแข่ง สามารถติดตั้งได้ ซึ่งนอกจากกระแสนิยม ความเท่ ความสวยงามแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันตัวถังยุบในกรณีรถชนหรือพลิกคว่ำ แต่เมื่อติดแล้วต้องมีความมั่นคง ไม่มีส่วนแหลมคม ที่เสี่ยงเป็นอันตรายกับผู้โดยสารและผู้ขับ ต้องไม่ถอดเบาะออก เพราะถ้าถอดออก จะผิดกฎหมายทันที ในเรื่องของการระบุลักษณะรถ จำนวนตอนที่นั่งโดยสาร ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ท่อไอเสียเปลี่ยนได้ แต่ห้ามดังเกิน 100 เดซิเบล
ท่อไอเสียรถยนต์ในปัจจุบันมีให้เลือกเปลี่ยนกันหลายแบบ มีระดับความดังแตกต่างกันไป ถ้าเลือกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ที่ใช้ ก็จะช่วยระบายไอเสียจากเครื่องยนต์ที่ดีขึ้น มีอัตราเร่งดี แต่หากเปลี่ยนแล้ว มีเสียงดัง จนสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น จะผิดกฎหมายไปในทันที ตรวจวัดโดยใช้เครื่อง SOUND LEVEL METER หรืออุปกรณ์เทียบเคียงที่มีคุณภาพเหมือนกัน โดยจะต้องวัดเสียง 2 ครั้ง (วัดห่าง 0.5 เมตร) เอาค่าสูงสุดที่วัดได้ เป็นค่าระดับเสียงของท่อไอเสีย ถ้าเป็นเครื่องเบนซิน ต้องเร่งเครื่องยนต์ 3 ใน 4 รอบเครื่องยนต์ที่ให้กำลังสูงสุด และในเครื่องยนต์ดีเซล ต้องเร่งรอบเครื่องเท่ากับให้กำลังสูงสุด ถ้าวัดแล้วดังเกิน 100 เดซิเบล มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และกำหนดให้ปลายท่อต้องปล่อยไอเสียออกทางท้ายรถเท่านั้น
ฝากระโปรงดำ ต้องแจ้งลงเล่ม
รถตกแต่งส่วนใหญ่ นิยมแต่งฝากระโปรงหน้ารถเป็นสีดำ ด้วยการติดสติคเกอร์ ทำสี หรือเปลี่ยนฝากระโปรงรถมาใหม่ ถ้าเปลี่ยนมาแล้ว มีสีไม่ตรงกับตัวถังรถ ต้องไปจดทะเบียนแจ้งเปลี่ยนสีกับกรมการขนส่งทางบก เพราะกฎหมายได้ระบุถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องมาแจ้งไว้ว่า อาจทำให้ประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนน เข้าใจผิดเรื่องสีของตัวถังรถที่จดทะเบียน และยังทำให้การดำเนินคดีทางกฎหมายเป็นไปได้ยาก เกิดความสับสน ดังนั้นต้องไปจดแจ้งเปลี่ยนสี ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่เปลี่ยนแปลง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ทำเครื่องแรง ใส่เทอร์โบ โมดิฟายด์กล่องซิ่ง ต้องไม่เดือดร้อนผู้อื่น
การดัดแปลงเครื่องยนต์ โดยการใส่เทอร์โบ ทูนกล่องไฟ เปลี่ยนเฮเดอร์ เปลี่ยนหัวฉีด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน อาทิ ต้องไม่มีเสียงดังเกินควร มีควันไอเสียที่เกิดจากเผาไหม้ของเครื่องยนต์ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (รถยนต์ที่จดทะเบียนก่อน 1 พฤษภาคม 2536 ต้องวัดค่า CO2 ได้ไม่เกิน 4.5 เปอร์เซนต์ รถจดทะเบียนหลัง 1 พฤษภาคม 2536 ต้องวัดค่า CO2 ได้ไม่เกิน 1.5 เปอร์เซนต์) และอุปกรณ์ที่ติดตั้งในบริเวณเครื่องยนต์ต้องยึดติดอย่างแน่นหนา แต่มีข้อแม้ที่ว่า เลขของเครื่องยนต์ต้องถูกต้อง ตรงกับในสมุดทะเบียนรถเท่านั้น
ใส่เบาะ "ซิ่ง" เปลี่ยนกระจกมองข้าง ต้องไม่ดัดแปลง
เปลี่ยนเบาะ "ซิ่ง" สไตล์รถแข่ง ในกรณีนี้ต้องมาดูที่ขนาดของเบาะ ว่าติดตั้งแล้วเหมาะสมหรือไม่ หากติดตั้งเบาะที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จนต้องถอดเบาะที่เหลือออก ถือว่าดัดแปลงสภาพรถไม่ตรงตามที่จดแจ้งกับกรมการขนส่งทางบกในเรื่องของจำนวนที่นั่ง มีสิทธิ์โดนปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ส่วนการเปลี่ยนกระจกมองข้าง ที่ถอดของเดิมออก และเปลี่ยนของใหม่ ที่อาจมีขนาดที่เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นกว่าเดิมก็ได้ เพราะข้อกฎหมายไม่ได้ระบุถึงขนาด และรูปแบบของกระจก แต่ถ้าไม่มีกระจกมองข้าง กระจกแตก ชำรุด หรือเสียหาย แบบนี้ผิดกฎหมาย ต้องรีบแก้ไข
ABOUT THE AUTHOR
พ
พีรพัฒน์ อินทมาตย์
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)