ทดลองขับ(formula)
Lamborghini Esperienza จัดเต็ม ในสนามแข่งระดับโลก !
กิจกรรม Lamborghini Esperienza ไม่ใช่การทดลองขับธรรมดาๆ แต่เป็นการเปิดประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจรวมถึงสื่อมวลชน ได้มีโอกาสสัมผัสกับสมรรถนะ และบุคลิกอันโดดเด่น ตามแบบฉบับของค่ายกระทิงดุ ในครั้งนี้ทีมงานของเราได้ร่วมกิจกรรม ณ สถานที่ที่เหมาะสมกับพละกำลังอันมหาศาลระดับ "ซูเพอร์คาร์" ของ ลัมโบร์กินี อูรากัน** (Lamborghini Huracan) นั่นคือสนามแข่งรถระดับโลก ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์** หมายเหตุ : คำว่า Huracan เป็นภาษาสเปน จากการตรวจสอบพบว่า การออกเสียงแบบสเปนจะไม่มีตัว H ดังนั้น เราจึงรักษาการออกเสียงตามรากเหง้าของถิ่นกำเนิดของภาษา ว่า "อูรากัน" ภายนอก : สปอร์ทที่เปี่ยมด้วยเหลี่ยมสัน เมื่อเดินทางมาถึงสถานที่ทำการทดลองขับ ลัมโบร์กินี อูรากัน ก็จอดเด่นเป็นสง่า คอยท่าเหล่าสื่อมวลชนเรียบร้อยแล้ว กับหลากหลายสีสันที่เตรียมตะลุยแทรกของสนามแข่งแห่งนี้ คันแรก คือ อูรากัน แอลพี 610-4 (Huracan LP 610-4) ที่เราเคยได้ทดลองขับมาแล้วก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2015 ตัวถังสไตล์สปอร์ท หลังคาแข็ง เครื่องยนต์วางกลางลำ มีเอกลักษณ์ คือ เส้นสายทำมุมแบบ 6 เหลี่ยม (Hexagon) ทั่วทั้งคัน และบรรดามุมแหลมของ อูรากัน นี่เอง ทำให้รถคันนี้ดูราวกับลูกศรอันเฉียบคม พร้อมพุ่งทะยานไปข้างหน้า ขณะที่อีกหนึ่งรุ่น คือ อูราคัน แอลพี 580-2 (Huracan LP 580-2) มีรูปทรงที่ใกล้เคียงกัน แม้จะขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง บริเวณช่องรับอากาศด้านหน้า และท่อไอเสียจะดุดันกว่าเล็กน้อย แต่น่าแปลกที่ไม่มีการติดตั้งหมายเลขบอกชื่อรุ่นของรถแต่อย่างใด สุดท้าย คือ ตัวถังที่เน้น "สไตล์" มากที่สุด กับสปอร์ทเปิดประทุน อูรากัน แอลพี 610-4 สไปเดอร์ (Huracan LP 610-4 Spyder) แฝงการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์อย่างพิถีพิถัน ผู้โดยสารจะไม่พบกับลมหวนปะทะขณะที่รถแล่นอยู่หากเปิดประทุนแล้วขึ้นกระจกด้านข้าง เสริมด้วยแผ่นบังลมด้านข้างผู้โดยสาร และแผ่นกระจกใสด้านหลังผู้โดยสารจะพับเก็บโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันกระแสลมจากด้านหน้ามาปะทะ (น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้ลองขับแบบท้าสายลมกับ อูรากัน รุ่นนี้) เครื่องยนต์ : พละกำลังจากเครื่องยนต์ วี 10 สูบ คือ "ผู้ทรงอำนาจ" อย่างแท้จริง การทดลองขับ ภายใต้กิจกรรม Lamborghini Esperienza เปิดโอกาสที่เหล่าสื่อมวลชน ได้สัมผัสทั้งรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ แอลพี 610-4 แและขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง แอลพี 580-2 แม้ตัวเลขแรงม้าจะแตกต่างกันบ้าง ตามความเหมาะสมของระบบขับเคลื่อน แต่ในแง่ของความดุดันนั้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การขับขี่เริ่มด้วยการปรับโหมดของระบบ Anima (มีความหมายว่า "จิตวิญญาณ") ไปที่ Strada นั่นคือ การขับขี่ทั่วไปบนท้องถนน เพื่อทำความคุ้นเคยเป็นอันแรกหลังจากเข้าสู่พื้นที่ของสนามแข่ง แม้จะเป็นโหมดของระบบขับเคลื่อนที่เน้นความนุ่มนวลมากที่สุด แต่เมื่อใดที่กดคันเร่งลึกในช่วงทางตรง อูรากัน ก็พร้อมสำแดงเดชออกมาทุกเมื่อ เสียงคำรามที่เร้าใจ แสดงให้เห็นว่าสมรรถนะที่อัดแน่นใน อูรากัน สามารถถูกปลดปล่อยออกมาได้ในพริบตา แต่นั่นแค่การ "โหมโรง" เท่านั้น ตัวตนที่แท้จริงของรถสปอร์ทสายเลือดกระทิงดุอย่าง ลัมโบร์กินี ไม่มีคำว่าปราณีปราศรัยกันง่ายๆ ในรอบถัดมา ผู้ขับเปลี่ยนเป็นโหมด Sport เสียงการทำงานของเครื่องยนต์เปลี่ยนไปเล็กน้อย แว่วเสียงคำรามที่ทุ้มต่ำ ราวกับ "กระทิงที่กำลังเล็งเขาไปยังเป้าหมาย" พร้อมกับการตอบสนองที่ฉับไวยิ่งขึ้น ผนวกกับการบังคับควบคุม และระบบรองรับที่หนักแน่นขึ้น การคิกดาวน์ในช่วงทางตรงให้ซุ่มเสียงที่สมกับความเป็น ซูเพอร์คาร์ ขนานแท้ ดุดัน แต่ไพเราะ อย่างที่ไม่อาจพบเจอในรถยนต์ทั่วไป การเบรคในช่วงทางตรง ตัวรถมีอาการส่ายเล็กน้อยเป็นบางครั้ง แต่ก็ควบคุมอยู่ "ความพยศ" นี่เอง คือ หนึ่งในอรรถรสที่น่าท้าทายของ อูรากัน ซึ่งในการทดลองขับครั้งนี้ เราได้สัมผัสกันแบบหอมปากหอมคอ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยของทุกคน ยังมีอีกหนึ่งโหมดให้เลือกใช้ นั่นคือ Corsa เป็นโหมดที่มีการตอบสนองอย่างดุดันเหมือนโหมด Sport แต่จะลดการทำงานของระบบช่วยเหลือต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ขับแสดงฝีมือขณะ "ควบ" กระทิงพยศตัวนี้ แน่นอนว่าระบบเกียร์จะถูกปรับให้เป็นแบบ Manual โดยสมบูรณ์ (ในโหมดอื่นสามารถเลือกจังหวะเกียร์ได้ที่แป้นแพดเดิล ชิฟท์ หรือกดที่ปุ่ม M บริเวณคอนโซลด้านข้างผู้ขับ) ดังนี้แล้ว เราแนะนำว่า โหมด Corsa เหมาะสำหรับการลุยสนามแข่งมากกว่า ไม่ควรใช้บนท้องถนน และผู้ขับควรมีทักษะการขับขี่พอสมควร ระบบรองรับ : ควบคุมง่าย หนึบแน่นทุกรุ่น ระบบรองรับเน้นความหนึบแน่น ตามแบบฉบับรถสปอร์ทพลังสูง พวงมาลัยตอบสนองฉับไว ตลอดการขับในสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต เรารู้สึกว่าแทบไม่ต้องหักเลี้ยวมากนัก ตัวรถสามารถแล่นไปตามไลน์ของโค้งได้ดังใจนึก จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ และการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ ทำให้ อูรากัน มีความมั่นคงเป็นอย่างดี แต่อย่าได้ประมาทเกินไป แม้ว่าระบบรองรับจะถูกปรับแต่งมาอย่างลงตัวเพียงใด เสริมด้วยระบบอิเลกทรอนิคช่วยเหลือการขับขี่มากมายขนาดไหนก็ตาม สิ่งที่มีอิทธิพลเหนือสิ่งอื่นใด คือ เหล่า "ฝูงกระทิง" ที่สิงสถิตต์อยู่ด้านหลังผู้ขับ หากเผลอเมื่อไร การบังคับควบคุมที่เราคิดว่า "เอาอยู่" อาจถูกเล่นงานได้ทุกเมื่อ ในแง่ของความแตกต่างระหว่าง แอลพี 610-4 และ แอลพี 580-2 รุ่นแรกจะเน้นความหนึบแน่น และมั่นคง ส่วนรุ่นถัดมาจะเน้นอารมณ์สปอร์ทแบบดั้งเดิม การเข้าโค้งที่ใช้องศามากกว่าเล็กน้อย แต่ชดเชยด้วยความเร้าใจขณะเข้าโค้ง หากจะว่ากันตามทฤษฎีแล้ว ส่วนในการทดลองขับจริง การขับขี่แบบท้ายกวาด (หรือเรียกกันว่า "ดริฟท์") เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ เพราะนอกจากอันตรายแล้ว ยังอาจทำความเสียหายให้กับตัวรถ โดยเฉพาะยางที่ใช้ แต่ขณะทำการขับขี่บนสนามแข่ง เรามีความรู้สึกว่า การบังคับควบคุมของ อูรากัน รุ่น แอลพี 580-2 เชื่องมือกว่าเล็กน้อย ส่วนหนึ่งอาจเพราะรูปแบบของระบบขับเคลื่อนที่คุ้นชินกว่าก็เป็นได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของรถสปอร์ทจาก ลัมโบร์กินี ภายใน : ปุ่มมากมายราวกับเครื่องบินรบ สบายเกินคาด สิ่งที่เราสังเกต และพิจารณาเป็นลำดับท้ายๆ หลังจากเกือบ 10 รอบของการทดลองขับในสนามแข่ง นั่นคือภายในห้องโดยสาร เบาะนั่งโอบสรีระ แต่ไม่อึดอัด ตัวรถที่มีระดับต่ำอาจทำให้การเข้า/ออกทำได้ไม่สะดวกนัก ปุ่มใช้งานต่างๆ มีมากมายโดยที่เราไม่มีโอกาสได้ลองใช้งานเท่าใดนัก (อยากใช้เวลาที่มีน้อยนิดกับการเพ่งเล็งเรื่องสมรรถนะ และการขับขี่ ว่างั้น !!) แผงหน้าปัดแบบดิจิทอล เน้นการแสดงผลของรอบเครื่องยนต์ ส่วนตัวเลขความเร็วเป็นแบบดิจิทอล การแสดงผลสามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสถานะของตัวรถ การแจ้งเตือนต่างๆ หรือแม้กระทั่งระบบเนวิเกเตอร์ (ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากรถที่นำมาใช้ในกิจกรรมมาจากประเทศอื่น แถมพวงมาลัยซ้ายอีกต่างหาก) แป้นแพดเดิล ชิฟท์ขนาดใหญ่ ติดตั้งกับคอพวงมาลัย ปุ่มใช้งานสัญญาณไฟจะอยู่บนพวงมาลัยฝั่งซ้ายมือ นั่งได้สบายเกินคาด ไม่อึดอัดอย่างที่คิด มีจุดที่ต้องระวัง คือ ทัศนวิสัยด้านหลังเท่านั้น ความประณีตของการตกแต่งนั้นหายห่วง สมราคารถสปอร์ทราคาร่วม 20ล้านบาท และยังสามารถเลือกการตกแต่งได้ตามใจผู้เป็นเจ้าของกับโปรแกรม Ad Personum สรุป : ซูเพอร์คาร์ที่หลากหลาย กับกระทิงที่พร้อมจู่โจมทุกเมื่อ ลัมโบร์กินี อูรากัน แสดงถึงความเป็นรถสปอร์ทสมัยใหม่ นั่นคือ ความหลากหลายของการใช้งาน ภายใต้โหมด Strada รองรับการขับขี่ได้ดีในช่วงความเร็วต่ำ เสมือนการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน (แต่ก็พร้อมเล่นงานคู่ต่อกรทุกเมื่อ หากเอาจริง) ขณะที่โหมด Sport คือ ตัวตนที่แท้จริงของ ลัมโบร์กินี กับความดุดัน และเร้าใจอย่างสุดยอด ผู้ขับต้องมีสมาธิกับการขับขี่ให้ดี แม้ระบบช่วยเหลือต่างๆ ยังคงทำงานอยู่ แต่พละกำลังร่วม 610 และ 580 แรงม้า ของแต่ละรุ่น คือ สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการขับขี่เหนือสิ่งอื่นใด ปิดท้ายด้วยราคาของแต่ละรุ่น ตามนี้ อูรากัน แอลพี 610-4 ราคาเริ่มต้นที่ 24,800,000 บาท อูรากัน แอลพี 610-4 สไปเดอร์ ราคาเริ่มต้นที่ 26,800,000 บาท และ อูรากัน แอลพี 580-2 ราคาเริ่มต้นที่ 22,800,000 บาท แต่เชื่อเถอะ ราคา เป็นแค่การเริ่มต้นของการได้ครอบครองรถรุ่นนี้ แต่การเข้าถึงจิตวิญญาณของ ลัมโบร์กินี อย่างแท้จริง อยู่ที่ความสามารถของผู้ขับเท่านั้น !! รู้หรือไม่ !!?? : ยางที่ ลัมโบร์กินี อูรากัน ใช้ คือ Pirelli P-Zero ไม่ธรรมดา.. กับการปั๊มสัญลักษณ์ตัว "L" บนแก้มยาง บ่งบอกว่า นี่คือยางที่ผลิตขึ้นมาสำหรับรถสปอร์ทของ ลัมโบร์กินี โดยเฉพาะ !! ขอขอบคุณ บ.นิช คาร์ จก. , ลัมโบร์กินี และ สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต สำหรับกิจกรรม Lamborghini Esperienza ครั้งนี้
ข้อมูลจำเพาะ : ลัมโบร์กินี อูรากัน แอลพี 610-4 : ราคา 24,800,000 บาท เครื่องยนต์ : เบนซิน วี 10 สูบ ขนาด 5.2 ลิตร กำลังสูงสุด : 610แรงม้า/8,250 รตน. แรงบิดสูงสุด : 56.1 กก.-ม./6,500 รตน. ยาง : Pirelli P-Zero หน้า : 245/30 R20 , หลัง : 305/30 R20 อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. : 3.2 วินาที อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. : 9.9 วินาที ความเร็วสูงสุด : 325 กม./ชม.
ข้อมูลจำเพาะ : ลัมโบร์กินี อูรากัน แอลพี 610-4 สไปเดอร์ : ราคา 26,800,000 บาท เครื่องยนต์ : เบนซิน วี 10 สูบ ขนาด 5.2 ลิตร กำลังสูงสุด : 610แรงม้า/8,250 รตน. แรงบิดสูงสุด : 56.1 กก.-ม./6,500 รตน. ยาง : Pirelli P-Zero หน้า : 245/30 R20 , หลัง : 305/30 R20 อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. : 3.4 วินาที อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. : 10.2 วินาที ความเร็วสูงสุด : 324 กม./ชม.
ข้อมูลจำเพาะ : ลัมโบร์กินี อูรากัน แอลพี 580-2 : ราคา 22,800,000 บาท เครื่องยนต์ : เบนซิน วี 10 สูบ ขนาด 5.2 ลิตร กำลังสูงสุด : 580แรงม้า/8,000 รตน. แรงบิดสูงสุด : 54.1 กก.-ม./6,500 รตน. ยาง : Pirelli P-Zero หน้า : 245/35 R19 , หลัง : 305/35 R19 อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. : 3.4 วินาที อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. : 10.1 วินาที ความเร็วสูงสุด : 320 กม./ชม.
ABOUT THE AUTHOR
ภูเขม หน่อสวรรค์
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตคอลัมน์ Online : ทดลองขับ(formula)