ในความเห็นส่วนตัวของผม มีปัญหาอยู่บางประการครับ ประการแรก ถ้าการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่ได้รวมอยู่กับการบริการฟรีของศูนย์ หมายความว่าศูนย์จะมีกำไรจากการจำหน่ายน้ำมันเครื่องด้วย ซึ่งเป็นปกตินะครับ จึงไม่น่าจะมีศูนย์ไหน ยินดีให้ลูกค้านำ “น้ำมันเครื่องที่ชอบ” มาเอง ถ้าจะให้มีความยุติธรรม ศูนย์น่าจะมีสิทธิ์ขอเก็บค่าบริการพิเศษ ชดเชยกำไรที่ต้องขาดไป ซึ่งผมว่าปฏิบัติได้ยากมาก เพราะแทบจะหาลูกค้าที่คิดแบบตรรกะและยอมรับ ไม่ได้เลย วิธีคิดของลูกค้าชาวไทยยุคนี้ก็คือ “ถ้าฉันต้องจ่าย น้อยแค่ไหนก็ยังมากเกินไป และถ้าฉันเป็นฝ่ายได้ มากแค่ไหนก็ยังน้อยเกินไป” ที่จริงการขอค่าชดเชยกำไรทำนองนี้ ก็เป็นที่รู้จักและยอมรับกันในวงกว้างในบางธุรกิจครับ เช่น “ค่าเปิดขวด” ในร้านอาหารหรือสถานบริการกรณีที่ลูกค้านำเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอลมาเอง ประการที่สอง กรณีที่ต่อรองเป็นผลสำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่า น้ำมันเครื่องที่เราลงทุนลงแรงไปหามา และนำมามอบให้ จะเข้าไปอยู่ในเครื่องยนต์ของเรานะครับ ถ้าเป็นรุ่นที่รู้จักกันทั่วไปว่าราคาสูง ก็อาจจะถูกแลกเปลี่ยนโดยช่างหรือใครก็ตาม เพื่อนำน้ำมันเครื่องของเราไปทำกำไร ในส่วนที่ผมเขียนมานี้ ยังไม่เกี่ยวข้องกับชื่อเรื่องนะครับ ผู้ที่สนใจรถและข่าวสารในวงการรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ จะคุ้นเคยกับความสัมพันธ์ ระหว่างบแรนด์รถยนต์และบแรนด์น้ำมันหล่อลื่น ที่ดูเหมือนจะเป็นคู่ที่ต้องอยู่ด้วยกันเสมอ บางคู่ก็อยู่ด้วยกันเป็น 10 ปี บางคู่อยู่ไม่ยืด แค่ 3-4 ปีก็มี ไม่มีอะไรมากไปกว่าเหตุผลทางการตลาดครับ แต่พวกเราผู้ใช้รถ จะถูก “ล้างสมอง” ให้ซึมซาบ ว่าน้ำมันเครื่องบแรนด์นี้เท่านั้น ที่คู่ควรกับรถคุณภาพสูงบแรนด์นี้ เป็นเหตุผลทางธุรกิจล้วนๆ ครับ ไม่มีเหตุผลด้านเทคนิคมาเกี่ยวข้อง เป็นความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เช่น ชื่อเสียงดีเยี่ยมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ค่าชดเชยที่จ่ายโดยผู้ได้รับผลประโยชน์มากกว่า ก็อาจมีมูลค่าไม่มาก แต่ถ้าฝ่ายผลิตรถ มีชื่อเสียงโด่งดัง ส่วนผู้ผลิตน้ำมันเครื่องกำลังอยู่ในระยะเริ่มต้น ต้องอาศัยชื่อเสียงของฝ่ายแรกมาเสริม แบบนี้ฝ่ายแรกก็มีสิทธิ์เรียกค่าตอบแทนได้สูงครับ กล่าวง่ายๆ ก็คือ ผู้ผลิตรถจะเป็น “ตัวยืน” ที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ผลิตน้ำมันเครื่องที่มาจับคู่ด้วย ในทำนอง “น้ำมันหล่อลื่นบแรนด์เราคุณภาพสูงพอ ระดับที่ผู้ผลิตรถชั้นยอดของโลกรายนี้เลือกเติมรถที่ผลิต และใช้ในศูนย์บริการ” ส่วนในแบบสวนทาง มักจะไม่ได้ผล และแทบไม่มีใครทำ เช่น “รถที่เราผลิต คุณภาพสูงพอ จนผู้ผลิตน้ำมันเครื่องชั้นยอดบแรนด์นี้ อยากหรือยอมให้ใช้กับรถของเรา” แบบนี้ไปไม่ไหวครับ สรุปแล้ว ถ้าผู้ผลิตรถ หรือใครก็ตาม มาบอกว่ารถของเราต้องใช้ หรือ “ชอบ” บแรนด์ใดโดยเฉพาะ อย่าไปเชื่อครับ ถ้าระดับคุณภาพสูงพอหรือสูงกว่ามาตรฐานที่ผู้ผลิตรถกำหนดไว้ และค่าความหนืดหรือความข้นเหมาะกับอุณหภูมิในย่านที่รถของเราถูกใช้งานตามที่ผู้ผลิตรถแนะนำไว้ ใช้ได้ทุกบแรนด์ครับ ข้อควรระวังที่สุดคือ น้ำมันเครื่องปลอมซึ่งผู้ใช้รถทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบได้ วิธีป้องกันที่ทำได้ คือตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้จำหน่าย เส้นทางจากต้นทางสังเกตฉลากและบรรจุภัณฑ์อย่างละเอียด ปัญหานี้มีมาตลอด ด้วยเหตุผลเดียวเอง คือ ตำรวจไทยมันขี้เกียจ ขาดจิตสำนึก ใส่ใจแต่เรื่องหาผลประโยชน์ใส่ตัว ไม่มีใครผลิตน้ำมันเครื่องปลอมเป็นล่ำเป็นสันได้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่รู้ไม่เห็นหรอกครับ ผมเคยเห็นเจ้าของรถสปอร์ทรายหนึ่ง สั่งเจ้าของอู่ซ่อม ให้เติมน้ำมันเครื่องที่ผู้ผลิตรถบแรนด์นี้แนะนำให้ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว จึงไม่กล้าแนะนำว่ารถคันที่เขาใช้อยู่นั้น ตอนออกจากโรงงานผลิต เขา “จับคู่” อยู่กับผู้ผลิตน้ำมันเครื่องอีกบแรนด์หนึ่งนะครับ แต่หมดสัญญากันไปแล้ว ถ้าทราบความจริง เจ้าของรถรายนี้ จะเลือกใช้บแรนด์ไหน ที่มาบทความ รถไม่เลือกบแรนด์น้ำมันเครื่อง