บีเอมดับเบิลยู ตั้งท่าให้เป็นรถธงของค่าย ในปี 2561 เพื่อให้ทัดเทียมคู่ต่อสู้ ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการแข่งขัน ระหว่าง เมร์เซเดส-เบนซ์ ในรุ่น เอส-คลาสส์ คูเป เช่นเดียวกับน้องใหม่ เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที (Bentley Continental GT) ขณะที่ บีเอมดับเบิลยู ห่างหายจากวงการรถสปอร์ทคูเป เสียนานประธานของ บีเอมดับเบิลยู ฮาราลด์ ครูเกอร์ (Harald Krüger) ออกมายืนยันในการประชุมประจำปี กับผู้ถือหุ้น ว่าจะแนะนำน้องใหม่ในปี 2561 โดยคันต้นแบบมีแผนที่จะเปิดตัวในงานแสดงรถโบราณที่อิตาลี ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ ก่อนส่งรถคันจริงลงตลาดปีหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำรถออกแสดงในงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท ให้ผู้บริโภคได้ชมกันในปีนี้ "การผลิต บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 8 คูเป จะเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตรถสปอร์ทคูเป รวมถึงระดับหรูของเรา เพิ่มเติมเข้าไปในสายการผลิต ด้วยความหลงใหลในยนตรกรรมยานยนต์" ครูเกอร์ ว่า "เราพยายามที่จะให้ ซีรีส์ 8 คูเป เป็นผู้นำในรถระดับหรู ผมบอกได้เลยว่า รุ่นนี้จะเป็นรถสปอร์ทคูเประดับหรูอย่างแท้จริง" บีเอมดับเบิลยู วางแผนให้ ซีรีส์ 8 เป็นรถธงที่พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยี ด้วยระบบขับเคลื่อนรุ่นใหม่, โครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วยวัสดุหลายชนิด ที่เสริมสร้างความแข็งแกร่ง, อุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบเชื่อมต่ออันทันสมัย น่าจะคล้ายคลึงกับ ซีรีส์ 7 เจเนอเรชัน 6 ที่แนะนำมาก่อนหน้านี้ โดยน่าจะผลิตที่โรงงานที่ Dingolfing ในเยอรมนี นับแต่ปี 2561 ขณะที่แหล่งข่าวใน บีเอมดับเบิลยู ระบุว่า ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาของ บีเอมดับเบิลยู ในมิวนิค นำเสนอแนวทางสำหรับ ซีรีส์ 8 2 แบบ ให้ ครูเกอร์ พิจารณา ซึ่งเป็นนโยบายของเขาเอง ที่ต้องการให้ บีเอมดับเบิลยู ก้าวขึ้นไปในระดับรถหรู แนวทางแบบแรก เป็นรถ 4 ประตู ที่ "คล้ายกับต้นแบบของ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 6 กแรนด์ คูเป เพียงแต่ใหญ่และหรูหรากว่า" อีกรุ่นหนึ่งเป็นแบบคลาสสิค คูเป 2 ประตู เปรียบเทียบกับรถเปิดประทุน แต่จากที่ ครูเกอร์ นำเสนอในที่ประชุม น่าจะเป็นรถต้นแบบ 2 ประตู ที่ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นสายการผลิต เหตุผลหลักที่ ครูเกอร์ ต้องการให้ บีเอมดับเบิลยู ขึ้นไปอยู่ในระดับรถหรู ก็เพราะต้องการสืบทอดความสำเร็จและผลกำไร ที่ เมร์เซเดส-เบนซ์ ทำได้ โดยเฉพาะในรุ่น เอส-คลาสส์ ในตลาดสำคัญๆ ทั่วโลกนี้ ทั้งอเมริกา และจีน ความสำเร็จของ เมร์เซเดส-เบนซ์ ในปี 2558 คือ การส่งมอบ เอส-คลาสส์ มากกว่า 125,000 คัน ขณะที่ บีเอมดับเบิลยู ส่งมอบ ซีรีส์ 7 ได้เพียง 36,364 คัน เท่านั้นเอง การแนะนำ ซีรีส์ 7 เจเนอเรชันที่ 6 ครั้งนี้ บีเอมดับเบิลยู คาดว่าจะได้ยอดขายเพิ่มขึ้นราว 70,000 คัน ในปี 2559 แม้ว่านักการตลาดบอกได้ทันทีว่า ยังตามหลัง เมร์เซเดส-เบนซ์ สำหรับตัวเลขยอดการขายประจำปี อยู่อีกพอควร บีเอมดับเบิลยู ใช้การตรวจสอบภายใน ระบุว่า เมร์เซเดส-เบนซ์ มีผลกำไรจากการจำหน่าย เอส-คลาสส์ หนึ่งคัน อย่างน้อย 30,000 ยูโร ราว 120,000 บาท และจากตัวเลขการขายทั่วโลก หมายความว่า เมร์เซเดส-เบนซ์ มีผลกำไรมากกว่า บีเอมดับเบิลยู 1 พันล้านยูโร สำหรับการขาย เอส-คลาสส์ เทียบกับการขาย ซีรีส์ 7 "การตัดสินใจที่จะนำ ซีรีส์ 8 คืนสู่ตลาดอีกครั้ง แม้ว่าจะทำให้มีความเสี่ยงจากการพิจารณาผลกำไรในการขายต่อคัน" แหล่งข่าวในบีเอมดับเบิลยู กล่าวกับ ออโทคาร์ ข่าวการกลับมาของ ซีรีส์ 8 มีมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างเป็นทางการทุกครั้ง นับจาก บีเอมดับเบิลยู ผลิต ซีรีส์ 8 รถคูเป 2 ประตู ออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปี 2542