สื่อมวลชนได้รับเชิญจากค่าย Honda ให้ไปเยี่ยมเยือนศูนย์ค้นคว้าและพัฒนา Tochigi ในส่วนที่ยังเป็นชั้นความลับระดับสุดยอด ใกล้กับกรุงโตเกียว เพื่อฟังนโยบายในการค้นคว้ายานยนต์ไร้คนขับของ Honda และทดลองขับรถต้นแบบที่มีอุปกรณ์เพื่อการขับขี่ยานยนต์ไร้คนขับ ระดับ 3 เป็นชุดแรกสำหรับยานยนต์ไร้คนขับระดับ 4 ที่สามารถเดินทางได้ด้วยตนเอง ในพื้นที่ที่มีการจัดทำแผนที่โดยละเอียด และการเชื่อมต่ออินเตอร์เนทโดยไม่สะดุด ซึ่งจะมีการสื่อสารกันระหว่างรถยนต์ต่อรถยนต์ด้วยกันเอง และรถยนต์กับโครงสร้างพื้นฐานหรือป้ายจราจรบริเวณด้านข้างของถนน และเมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง รถยนต์ก็จะเป็นผู้ตัดสินใจดำเนินการเอง โดยไม่ต้องอาศัยผู้ขับขี่แต่อย่างใด และยังต้องอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่จะช่วยเชื่อมต่อการทำงานทั้งหลายเข้าด้วยกัน ไม่ให้ขาดตอน โดยระบบปัญญาประดิษฐ์ จะเป็นผู้ตัดสินใจแทนผู้ขับขี่ อาทิ การเปลี่ยนเลนหรือการวิ่งในสภาพการจราจรแออัด ซึ่งจะแสดงออกถึงอุปนิสัยอาการของตัวรถ ผู้ขับขี่เป็นเพียงผู้ที่นั่งอยู่บนรถเท่านั้น Honda ตั้งเป้าจะไปถึงจุดนั้นภายในปี 2568 แม้ว่าจะช้ากว่าค่ายรถยนต์อื่น ราว 20 รายก็ตามที โดยเริ่มจากแนะนำในรถยนต์ที่จำหน่ายในอเมริกา ในปี 2565 ซึ่งนั่นก็ทำให้เป็นเส้นตายที่ค่อนข้างเร่งรัดสำหรับผู้ทำงาน ที่จะวางแผนงานการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับให้ทันกับกำหนดการออกจำหน่าย แม้ว่าจะประกาศการเป็นพันธมิตรกับ Waymo ของ Google และ SoftBank บริษัทสื่อสารและข้อมูลยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นก็ตาม Honda กำหนดวางตลาดรถยนต์ไร้คนขับในระดับ 3 (สามารถปล่อยมือจากพวงมาลัย, ผู้ขับขี่ยังคงนั่งในที่นั่ง, ระบบเพื่อความปลอดภัยของรถยนต์เป็นผู้ตัดสินใจเพื่อความปลอดภัย) ให้ได้ในปี 2561 ด้วยระบบการทำงาน Sensing package โดยวางแผนจะเริ่มการติดตั้งใน Kei-Car (รถทรงกล่อง) N-Box ที่ออกจำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่น และบอกเอาไว้ล่วงหน้าว่า ยังเร็วไปที่จะติดตั้งในรถรุ่นอื่นๆ อีก Yoichi Sugimoto ซีอีโอ ดูแลด้านการค้นคว้าและพัฒนาของ Honda ประเทศญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เราอยากให้ยานยนต์ไร้คนขับ สามารถออกวิ่งในท้องถนนหลวงได้ในปี 2563 อันจะทำให้เราต้องทำการทดลองและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ ให้ทำงานได้โดยไม่ติดขัด รถยนต์จะตัดสินใจเองว่าเมื่อไรและตรงไหนที่ควรเปลี่ยนเลน เพื่อลดความจำเป็นของผู้ขับขี่ในการตรวจสอบรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ” “เราต้องการให้เป็นเมืองที่ปลอดจากอุบัติเหตุ และลดความผิดพลาดที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ อันจะทำให้สามารถลดการเฉี่ยวชนได้ถึง 90 %” สำหรับยานยนต์ไร้คนขับระดับ 3 หากคุณเคยขับขี่ Mercedes-Benz, Tesla หรือ Volvo ที่มีระบบควบคุมความเร็ว ตามความเร็วรถคันหน้า ก็เท่ากับว่าคุณมีความเข้าใจพอสมควรแล้วว่า ระบบจะทำงานอย่างไร เพราะระบบช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในปัจจุบัน สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันช่วยให้ความจำเป็นในการขับขี่แบบต้องจับพวงมาลัยตลอดเวลา ตามกฎหมายนั้น กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นที่ผู้จับขี่จะต้องควบคุมพวงมาลัยนานนับชั่วโมง ในการขับขี่ทางไกล แต่อย่างไรก็ตาม ระบบต่างๆ เหล่านี้ก็ยังทำให้ผู้ขับขี่ต้องใช้การตัดสินใจในบางโอกาสด้วย นั่นคือ Honda ที่ติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ ในรถยนต์ระดับ 3 โดยในการทดลองขับขี่ในสนามทดลองขับ ระบบยานยนต์ไร้คนขับสามารถทำงานได้อย่างไม่มีที่ติ โดยผู้ขับขี่เริ่มต้นการเดินทางตามปกติ แต่เมื่อต้องการให้ระบบของรถยนต์เข้ามาควบคุมการขับขี่ คุณเพียงแต่แตะปุ่มควบคุมระบบอัตโนมัติบนพวงมาลัย แล้วก็ปล่อยมือจากพวงมาลัยเท่านั้นเอง สื่อมวลชนมีโอกาสทดลองขับในสนามทดสอบรูปไข่ จำลองลักษณะของการขับขี่บนมอเตอร์เวย์ และจำลองลักษณะการขับขี่ในชนบท ด้วย Honda Legend การทดลองระบบยานยนต์ไร้คนขับเป็นเรื่องง่าย เพียงตั้งความเร็วที่ต้องการ ปล่อยมือจากพวงมาลัย และรถก็ตัดสินใจเดินทางเอง รวมทั้งการเปลี่ยนเลน และรักษาระยะห่างจากคันข้างหน้า เมื่อสภาพการจราจรเริ่มติดขัด รถก็จะลดความเร็วลง แต่ยังยอมให้ผู้ขับขี่มองหน้าจอระบบเครื่องเสียง หรือสมาร์ทโฟนได้อยู่ และเมื่อการจราจรเริ่มคล่องตัว และระบบของรถยนต์ตัดสินใจแล้วว่าสายตาของผู้ขับขี่จ้องมองถนนด้านหน้า จากกล้องที่คอยตรวจสอบสายตาของผู้ขับขี่อยู่ จึงจะเริ่มเร่งความเร็วขึ้นไป หากคุณคุ้นเคยกับระบบควบคุมความเร็ว ตามความเร็วรถคันหน้า ของ Mercedes-Benz มาก่อนแล้ว ก็จะไม่รู้สึกแปลกแต่อย่างใด แต่ระบบตัดสินใจการเปลี่ยนเลน จะเป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้แปลกใจ ส่วนการขับขี่ในชนบท ยานยนต์ไร้คนขับ ระบบจะอ่านขอบของถนนและตัดสินจากถ่ายภาพของกล้อง 3 ตัวบนตัวรถ โดยระบบประมวลผล และทำงานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ผู้ขับขี่ทำตามขั้นตอน และเปิดให้ระบบทำงานเมื่อพร้อมเท่านั้น ยานยนต์ไร้คนขับของ Honda นี้ ยังไม่มีระบบการอ่านสัญญาณจราจรและการจดจำ หรือแผนที่ความละเอียดขั้นสูง เพียงแสดงให้เห็นว่า ซอฟท์แวร์ของระบบปัญญาประดิษฐ์ จะสามารถทำงานกับสถานการณ์ในการจราจรแบบง่ายๆ เพราะออกแบบมาเพื่อให้อ่านค่าของขอบถนน รวมทั้งบรรดาแยกต่างๆ และหาวิธีการตอบสนองตามสถานการณ์ และจะคอยจนกว่าเส้นทางปลอดภัย จึงจะเริ่มการทำงานต่อไป ที่ทำให้ผู้โดยสารเดินทางได้ด้วยความสบายใจ จอแสดงผลกลาง จะแสดงระบบปัญญาประดิษฐ์ เซนเซอร์ LiDAR และภาพจากกล้องที่ตรวจจับถนนด้านหน้า และหากภาพจากจอหยุดการแสดงผล ระบบจะเตือนผู้ขับขี่ อาจจะด้วยวิธีกระตุกเข็มขัดนิรภัย หรือส่งสัญญาณเตือนบนหน้าจอ เพื่อให้ผู้ขับขี่จับพวงมาลัยและควบคุมการขับขี่เอง ดังนั้น จึงไม่มีทางเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากการทำงานระบบปัญญาประดิษฐ์ เพราะระบบทำการเตือนล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถแล้ว คำถาม คือ ระบบยานยนต์ไร้คนขับของ Honda จะใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน เพราะถึงอย่างไร ระบบยานยนต์ไร้คนขับก็จะต้องติดตั้งมาในรถที่จำหน่ายในอนาคตอยู่แล้ว ค่าย Honda เองก็ตั้งเป้าจะเป็นผู้นำในตลาดนี้เช่นกัน แม้ว่าการพัฒนาการของระบบปัญญาประดิษฐ์ จะยังไม่สามารถตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ในทุกๆ เรื่อง แต่อย่างน้อยก็ช่วยทำให้เทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะยังมีปัญหาให้ต้องแก้ไข ไม่ว่าในเรื่องของการขับขี่อย่างไร หรือเดินทางไปไหน ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ระบบของยานยนต์ไร้คนขับจะเดินทางมาถึงคุณแน่ๆ ในอนาคตที่ไม่ช้าก็เร็ว
บทความแนะนำ