การขับรถให้ประหยัดน้ำมัน "ที่สุด" ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของระบบรถยนต์เป็นอย่างดี ตั้งแต่การทำงานของเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง (เกียร์) อัตราทดเฟืองท้าย หรือแม้แต่เรื่องของอากาศพลศาสตร์ ไม่ต้องถึงขนาดเจาะลึกคำนวณหากำลังที่สูญเสียไปกับแรงเสียดทานอะไรแบบนั้น แค่รู้และเข้าใจระบบขับเคลื่อนของรถยนต์เบื้องต้นก็พอแล้วเหนือสิ่งอื่นใด ต้องมีไหวพริบ และประสาทสัมผัสที่ดีในการขับรถ การจับจังหวะ และความรู้สึกของรถเวลาเดินคันเร่ง นักขับแข่งประหยัดน้ำมันในวงการยานยนต์ไทยหลายคนอาศัยสิ่งเหล่านี้ครับ เราจึงได้เห็นตัวเลขมากๆ ของอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงแบบกิโลเมตร/ลิตร (KM/L) อยู่บ่อยๆ แต่ตัวเลขเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อการโฆษณา และการตลาดเท่านั้นครับ เมื่อนำมาใช้งานจริง ไม่มีทางได้ตัวเลขสวยหรูอย่างนั้นแน่ การได้มาซึ่งตัวเลขที่สวยงามอย่างนั้น เขาจะต้องควบคุมตัวแปรต่างๆ ให้ได้ เช่น ความเสี่ยงที่จะเจอรถติด ก็ต้องเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม ความเสี่ยงที่รถต้องติดไฟแดง อาจต้องมีรถตำรวจคอยอำนวยความสะดวกให้ หรือแม้แต่การขับรถบนถนนหลวง ก็ต้องมีรถนำขบวนและรถปิดท้ายขบวน เพื่อเคลียร์เส้นทาง และกันรถคันอื่น เพื่อให้สามารถใช้ความเร็วได้คงที่ และต่อเนื่อง เหยียบเบรคให้น้อยที่สุด บางครั้งระยะทางเป็น 100 กิโลเมตร แตะเบรคไปไม่ถึง 5 ครั้งเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะทำตัวเลขได้แบบนั้นในชีวิตจริง แค่ได้ตัวเลขครึ่งหนึ่งของที่โฆษณาก็ดีมากแล้วครับ ความเร็วที่ประหยัดน้ำมันที่สุด ต้องเป็นความเร็วคงที่ในเกียร์สูงสุด หรือเกียร์สุดท้ายของรถเท่านั้น ถ้าเป็นรถเกียร์อัตโนมัติ ก็ในจังหวะเกียร์สุดท้าย และถ้าเป็นรถที่มีระบบลอคอัพ คลัทช์ ซึ่งต่อตรงโดยไม่ผ่านทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ก็ต้องไปให้ถึงความเร็วที่ระบบนี้ทำงานเรียบร้อยก่อน โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 60-70 กม./ชม. รถเกียร์อัตโนมัติโดยเฉพาะรถญี่ปุ่นหลายรุ่น ยังคงนิยมใช้เกียร์แค่ 4 จังหวะอยู่ เกียร์จังหวะที่ 4 จะเป็นระบบลอคอัพในตัว ระบบแบบนี้จะมีปุ่มปลดเกียร์สุดท้ายให้ผู้ขับเลือก โดยมีคำว่า Overdrive Off กำกับไว้ กดเมื่อใดระบบควบคุมจะเลือกเกียร์จังหวะสูงสุดแค่รองสุดท้ายเท่านั้น ใช้ตอนที่ต้องเร่งแซงบ่อยๆ เนื่องจากอัตราทดเกียร์สุดท้ายต่ำมาก เน้นการประหยัดเชื้อเพลิง ในรถรุ่นเก่าบางรุ่น ระบบควบคุมเกียร์อาจยังไม่ละเอียดพอ จนทันใจเรา แม้จะเหยียบคันเร่งค่อนข้างลึกแล้วก็ตาม ถ้ากดปุ่มนี้ มันจะเปลี่ยนเกียร์ให้ทันทีทันใด พอแซงพ้นแล้วค่อยปลดกลับตามเดิม ในเกียร์อัตโนมัติแบบ ซีวีที (CVT) ก็เช่นเดียวกัน ถึงตามโครงสร้างของเกียร์จะไม่มีจังหวะให้รู้สึกชัดเจน ก็ต้องวิ่งให้ถึงความเร็วประมาณเดียวกับเกียร์อัตโนมัติทั่วไป โดยสังเกตดูจากรอบของเครื่องยนต์ ถ้าระบบอยู่ในเกียร์สูงสุดแล้ว รอบของเครื่องยนต์จะลดต่ำสุด ขณะที่วิ่งในความเร็วคงที่ สำหรับรถเกียร์ธรรมดา เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ความเร็วสุดประหยัดโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 50-60 กม./ชม. ตั้งแต่ที่ความเร็วประมาณ 40 กม./ชม. ขึ้นไป กำลังของเครื่องยนต์ส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการดันตัวรถให้แหวกอากาศ นอกเหนือไปจากส่วนที่ใช้ไปกับแรงเสียดทานในการกลิ้งของล้อ และแรงเสียดทานของระบบขับเคลื่อน ถ้าใครอยากรู้ว่าทำไมส่วนที่ใช้สู้กับแรงต้านอากาศถึงได้มากมายนัก ให้ลองเปิดกระจกตอนรถแล่นดู เอาความเร็วแค่ 100 กม./ชม. ก็พอ แล้วแบฝ่ามือยื่นออกไปนอกรถดูครับ แรงต้านนี้จะเพิ่มขึ้นในอัตรายกกำลัง 2 ของค่าความเร็ว เช่น แรงต้านอากาศที่ความเร็ว 160 กม./ชม. จะมีค่า 4 เท่า ของที่ความเร็ว 80 กม./ชม. และส่วนนี้แหละครับ เป็นสาเหตุที่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจว่าทำไมยิ่งขับเร็วยิ่งกินน้ำมันมากขึ้น เมื่อเทียบกับระยะทางที่ได้ ทั้งๆ ที่ใช้เวลาขับน้อยลง สมมติว่าแรงต้านอากาศเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของความเร็ว เช่น เพิ่มความเร็วเป็น 2 เท่า แรงต้านอากาศก็เพิ่มเป็น 2 เท่า (ของจริง 4 เท่า) คงไม่มีใครมารณรงค์เรียกร้องให้รถขับช้าเพื่อประหยัดน้ำมันหรอกครับ ยกเว้นว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งความจริงแล้ว ก็มีเรื่องของยกกำลัง 2 จากการชน มาเกี่ยวข้องด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นอย่างนั้น ทำไมความเร็วที่ประหยัดเชื้อเพลิงที่สุด จึงไม่อยู่ที่ค่าต่ำมากกว่านี้ เช่น 30 หรือ 40 กม./ชม. ? สาเหตุอยู่ที่เครื่องยนต์ 2 ประการด้วยกันครับ เพราะที่ความเร็วระดับนี้ในเกียร์สุดท้าย เช่น เกียร์ 5 เครื่องยนต์จะหมุนช้าเกินไป ให้แรงบิดน้อย จนมีอาการสะดุด หรือกระตุก แล้วถ้าเปลี่ยนไปใช้เกียร์ 4 ล่ะ ? ก็ทำได้ครับ แต่จำนวนรอบที่เพลาของเครื่องยนต์หมุนต่อระยะทางที่รถเคลื่อนที่ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย จึงต้องใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น แม้จะลดแรงต้านอากาศลงได้บ้าง ก็ยังไม่คุ้ม สู้เกียร์ 5 (หรือเกียร์สุดท้ายที่มี) ไม่ได้ครับ สรุปแล้วต้องเกียร์สูงสุด ซึ่งหลายๆ รุ่นก็ยังขับที่ความเร็วแถวๆ 40 กม./ชม. ได้ แต่ที่ไม่ประหยัดที่สุด เพราะเทคนิคเครื่องยนต์ จังหวะเปิด/ปิดลิ้น หรือวาล์วทั้งไอดี และไอเสียถูกเลือกมาให้เครื่องยนต์ทำงานได้ดีที่ความเร็ว (ของเครื่องยนต์) ปานกลาง และสูง ถ้าหมุนช้าประสิทธิภาพของมันจะลดลง นั่นคือ ใช้เชื้อเพลิงมากเมื่อเทียบกับกำลังที่ให้ ด้วยเหตุผลนี้มาผสานกับแรงต้านอากาศที่เพิ่มตามความเร็ว ทำให้รถส่วนใหญ่ มีความเร็วในเกียร์สูงสุด และใช้เชื้อเพลิงน้อยที่สุด อยู่ที่ประมาณ 50-60 กม./ชม. โดยรถเครื่องใหญ่หรือกำลังสูง จะมีค่านี้ "เคลื่อน" ไปทางด้านบนเล็กน้อย (มากกว่า 60 กม./ชม.) เพราะอัตราทดรวม (ของเกียร์สุดท้ายและเฟืองท้าย) ต่ำกว่า แต่ไม่ได้มากมายอะไรครับ ก็ยังคงอยู่แถวๆ ประมาณ 60 กม./ชม. เท่านั้น แล้วถ้าเน้นการประหยัดเชื้อเพลิง เราควรขับที่ความเร็วที่ว่านี้หรือไม่ ? ตอบว่าใช่ก็ได้ ตอบว่าไม่จำเป็นก็ถูกอีกเหมือนกันครับ ถ้าเรามีกราฟความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงระหว่าง 60-80 กม./ชม. ที่ต่างกันไม่มาก ผิดกับค่าระหว่าง 120-140 กม./ชม. คำตอบที่ว่าใช่ คือ ถ้าเวลาที่ใช้เดินทางไม่มีความหมาย เช่น ว่างงานอยู่ ออกก่อนเวลา หรือเป็นวันหยุด แล้วต้องการประหยัดจริงๆ ก็ประมาณ 60 นี่แหละครับ แต่ถ้าเน้นเวลาที่ใช้เดินทางอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยากประหยัด วิ่งประมาณ 80 กำลังดีครับ เปลืองเชื้อเพลิงขึ้นอีกหน่อย ส่วนถ้าเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ก็อาจเพิ่มความเร็วขึ้นอีกนิด (พร้อมกับเงินค่าน้ำมันด้วย) แต่อย่าให้เกิน 120 กม./ชม. เป็นดีที่สุดครับ (เกิน 90 กม./ชม. ก็ผิดกฎหมายแล้ว) อยากจะฝากเรื่องของการขับรถเร็วสักนิด ผมเชื่อว่าคนทุกคนมีเวลาเท่ากัน เราไม่ได้ขาดแคลนเวลาจนต้องขับ 140-200 กม./ชม. หรอกครับ ส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดมาจากความประมาท และชะล่าใจ เราก็เลยทึกทักไปเองว่า เดี๋ยววิ่งเร็วเพิ่มขึ้นอีกหน่อย ก็ชดเชยกับเวลาที่เราเถลไถลได้แล้ว ถ้าคุณเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เกรงใจผู้อื่น ออกก่อนเวลาเสมอ ก็ไม่ต้องขับรถเร็วให้มีความเสี่ยงแล้วละครับ สุดท้ายผมขอยกตัวอย่างให้เห็นอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถยอดนิยม 3 รุ่น ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งขนาด ความจุเครื่องยนต์ และระบบเกียร์ ได้แก่ โตโยตา ยารีส เอทีฟ 1.2 ลิตร เกียร์ซีวีที โตโยตา อัลทิส 1.8 เกียร์ซีวีที และโตโยตา แคมรี 2.5 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ โดยทั้งหมดได้ผ่านการทดสอบด้วยเครื่องมือดาทรอน ตามมาตรฐานการทดสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โตโยตา ยารีส เอทีฟ 1.2 เอส ซีวีที อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ความเร็ว 60 (กม./ชม.) 31.6 กม./ลิตร (3.2 ลิตร/100 กม.) 80 (กม./ชม.) 26.3 กม./ลิตร (3.8 ลิตร/100 กม.) 100 (กม./ชม.) 21.2 กม./ลิตร (4.7 ลิตร/100 กม.) 120 (กม./ชม.) 16.2 กม./ลิตร (6.2 ลิตร/100 กม.) โตโยตา อัลทิส 1.8 วี ซีวีที อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ความเร็ว 60 (กม./ชม.) 23.5 กม./ลิตร (4.3 ลิตร/100 กม.) 80 (กม./ชม.) 20.5 กม./ลิตร (4.9 ลิตร/100 กม.) 100 (กม./ชม.) 16.3 กม./ลิตร (6.1 ลิตร/100 กม.) 120 (กม./ชม.) 13.0 กม./ลิตร (7.7 ลิตร/100 กม.) โตโยตา แคมรี 2.5 จี 6 จังหวะ อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ความเร็ว 60 (กม./ชม.) 22.4 กม./ลิตร (4.5 ลิตร/100 กม.) 80 (กม./ชม.) 20.6 กม./ลิตร (4.9 ลิตร/100 กม.) 100 (กม./ชม.) 16.6 กม./ลิตร (6.1 ลิตร/100 กม.) 120 (กม./ชม.) 13.9 กม./ลิตร (7.2 ลิตร/100 กม.) จากตัวเลขในตารางของทั้ง 3 รุ่นนี้ คงจะเดาได้ไม่ยาก ว่าขนาดเครื่องยนต์ กับระบบเกียร์และเฟืองท้าย ส่งผลต่ออัตราการบริโภคเชื้อเพลิงเท่าไรบ้าง ที่ความเร็วเดียวกัน แล้วท่านผู้อ่านคงจะนำข้อมูลเหล่านี้ มาปรับใช้กับรถของตัวเองได้ไม่มากก็น้อยครับ