กรมการขนส่งทางบก ยกระดับการให้บริการ รถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อ สนามบินอู่ตะเภา เปิดตัว รถโดยสารใหม่ 3 เส้นทาง เพิ่มทางเลือก สะดวก คล่องตัวทุกการเดินทาง เพิ่มศักยภาพอู่ตะเภาให้เป็น Hub การบินแห่งใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล
สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การพัฒนาเส้นทางรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อสนามบิน และระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ภายใต้นโยบาย One Transport ของกระทรวงคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารด้านการเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้เดินหน้าพัฒนาเส้นทางรถโดยสารเชื่อมต่อให้บริการถึงภายในสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสนามบินพาณิชย์ทั้งหมด 34 แห่ง บริหารงานโดยหน่วยงาน 4 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 6 แห่ง, กรมท่าอากาศยาน จำนวน 24 แห่ง, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 แห่ง และกองทัพเรือ จำนวน 1 แห่ง
ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก ได้ประสานความร่วมมือ เพื่อเปิดให้บริการรถโดยสารเข้าสู่สนามบินแล้วทั้งสิ้น 33 แห่ง (ยกเว้น ท่าอากาศยานจังหวัดตราด อยู่ในระหว่างการกำหนดเส้นทางให้มีความเหมาะสม) โดยขณะนี้มีการจัดการเดินรถโดยสารให้บริการแล้ว 22 แห่ง ในจำนวนนี้ รวมถึงการให้บริการเส้นทางรถโดยสารเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาด้วย ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างพิจารณาผู้ประกอบการขนส่ง ที่มีความพร้อมเข้าให้บริการ โดยจะดำเนินการครอบคลุมครบทุกสนามบินภายในปี 2561
สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ได้รับการพัฒนาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางมาพัทยา และจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก กรมการขนส่งทางบกจึงได้พัฒนาเส้นทางรถโดยสารให้บริการเข้าถึงภายในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อรองรับ และเพิ่มทางเลือกให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง และแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดของภาคตะวันออก รวมถึงสามารถเชื่อมต่อสู่โหมดการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยได้เปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งที่มีความพร้อม และมาตรฐานการให้บริการอย่างเข้มข้น จนคัดเลือกได้ผู้ประกอบการให้บริการตามมาตรฐานความปลอดภัย และคุณภาพบริการตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด สำหรับรถโดยสารที่จะให้บริการภายในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภามีทั้งสิ้น 3 เส้นทาง ได้แก่
สาย 398 ตราด-อู่ตะเภา โดยมี บริษัท สุวรรณภูมิบูรพา จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ มีเส้นทาง และสถานที่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ดังนี้ จ. ตราด, จ. จันทบุรี, สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดระยองแห่งที่ 1, ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง 15 นาที
สาย 399 ระยอง-อู่ตะเภา โดยมี ห้างหุ้นส่วนจำกัด บี เอช ระยอง เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ มีเส้นทาง และสถานที่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ดังนี้ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดระยองแห่งที่ 2, อ. บ้านฉาง, ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รวมระยะทาง 35 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 33 นาที
สาย 400 ชลบุรี-อู่ตะเภา โดยมี บริษัท สุวรรณภูมิบูรพา จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ มีเส้นทาง และสถานที่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ดังนี้ จ. ชลบุรี, อ. ศรีราชา, เมืองพัทยา, อ. สัตหีบ, ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รวมระยะทาง 100 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 34 นาที
ทั้งนี้ ในแต่ละเส้นทางใช้รถโดยสารปรับอากาศมาตรฐานใหม่ มีระบบความปลอดภัยครบครัน ติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor) มีระบบเบรค ABS ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบก กำหนด และมีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยผ่านการตรวจรับรองโดยกรมการขนส่งทางบก ใช้จำนวนรถ 2-4 คัน ในแต่ละเส้นทางเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินประมาณ 40 เที่ยว/วัน และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นถึง 50 เที่ยว/วัน ผู้ประกอบการขนส่งสามารถบริหารจัดตารางเดินรถให้สอดคล้องกับตารางเที่ยวบินได้อย่างเหมาะสม คาดการณ์ว่าเส้นทางรถโดยสารเชื่อมต่อท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาทั้ง 3 เส้นทาง จะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากการประชาสัมพันธ์ และทิศทางการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มักนิยมเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ โดยจะเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
พลเรือเอก รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าวว่า ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา หรือ สนามบินอู่ตะเภา อยู่ห่างจากตัวเมืองระยอง ประมาณ 35 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองพัทยา ประมาณ 30 กิโลเมตรจึงได้รับการเลือกให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศ และเป็นประตูสู่ภาคตะวันออก มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และก่อให้เกิดการพัฒนาจังหวัดและภูมิภาค สำหรับสายการบินของไทยที่ให้บริการ ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์ และนกแอร์ ส่วนสายการบินจากต่างประเทศ ได้แก่ Azur Air, Royal Flight, North Wing, Scat Air, S7 Airlines และ Shenzhen Airlines รองรับผู้โดยสารเฉลี่ยเดือนละประมาณ 35,000–40,000 คน
นอกจากนี้ ปัจจุบัน ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ได้ขยาย และเพิ่มอาคารผู้โดยสารใหม่ ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 3 ล้านคน/ปี ดังนั้น การเพิ่มทางเลือกและความสะดวกสบายในการเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่ตัวเมืองจึงมีความสำคัญ และช่วยเพิ่มศักยภาพให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เป็น Hub การบินแห่งใหม่ของประเทศเพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล ที่สำคัญ คือ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้โดยสารเดินทางได้สะดวก และคล่องตัวทุกการเดินทาง
บทความแนะนำ