ข้อมูลสถิติจาก International Energy Agency ระบุว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรถไฟฟ้าวิ่งอยู่บนท้องถนนทั่วโลก ทั้งสิ้น 3.1 ล้านคัน และยังระบุด้วยว่า การค้นคว้าต่อไปในอนาคต และนโยบายของแต่ละรัฐบาล รวมทั้งการสนับสนุนทางด้านภาษี จะยังคงมีความจำเป็น เพื่อที่จะสามารถเพิ่มจำนวนรถไฟฟ้า ได้ในอนาคตอันใกล้International Energy Agency เป็นองค์กรที่ก่อตั้งเมื่อครั้งโลกใบนี้ประสบภาวะวิกฤตทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อปี 2516 ทำให้ องค์กรเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาการ ต้องเรียกประชุมบรรดาชาติมหาอำนาจ และก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา เพื่อให้ข้อมูลด้านพลังงานเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมัน และเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ แก่เหล่ามวลสมาชิก ต่อมาจึงได้เพิ่มหน้าที่ทำการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ ทางด้านตลาดเชื้อเพลิง และตลาดในด้านพลังงานชนิดอื่นๆ จากข้อมูลของ IEA ระบุว่า จำนวนของรถไฟฟ้า ทั้งจากการใช้พลังงานจากแบทเตอรี, รถยนต์ไฮบริด-ไฟฟ้า และฟิวล์เซลล์-ไฟฟ้า ประเภทรถพาณิชย์ขนาดเบา เพิ่มขึ้น 75 % เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยประเทศจีนถือครองจำนวน 40 % ของรถไฟฟ้าในโลกนี้ ผลจากการค้นคว้าและพัฒนา ไม่เพียงแต่ค่ายรถยนต์แห่งใดแห่งหนึ่ง การสนับสนุนทางด้านนโยบายของภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนเพิ่มสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า สำหรับรถไฟฟ้า รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ล้วนเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้ราคาชุดแบทเตอรีถูกลง และทำให้ยอดการจำหน่ายรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าราคาของชุดแบทเตอรีจะยังคงเป็นข้อมูลหลักในการคำนวณราคารถไฟฟ้า แต่การสนับสนุนด้านเงินทุน อาทิ การคืนเงินภาษี การยกเว้นในบางกรณี ยังจำเป็นสำหรับการพัฒนารถไฟฟ้าต่อไปในอนาคต IEA ประเมินว่า ในปี 2573 จะมีรถไฟฟ้าอยู่บนถนนทั้งสิ้น 125 ล้านคัน ซึ่งอาจเพิ่มจำนวนเป็น 220 ล้านคัน หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในบางประเทศอย่างจริงจัง เพื่อช่วยในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาคาร์บอนในอากาศ ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการเพิ่มความต้องการของวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะ โคบอลท์ และลิเธียม ซึ่งเป็นวัสดุต้นทางสำหรับชุดแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน จากการประเมินพบว่า ความต้องการโคบอลท์จะเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากระดับปกติ ในปี 2573 ที่ 101 กิโลตัน/ปี อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 291 กิโลตัน/ปี ก็เป็นได้ ส่วนลิเธียม ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 91 กิโลตัน/ปี เช่นกัน