รถแต่ละยี่ห้อ มีหลายรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นก็มีหลายโฉม ทำให้ยากในการจดจำ ฉายาต่างๆ จึงถูกเรียกขึ้น ตามบุคลิกของรถ "autoinfo.co.th" พาไปรู้จักที่มาของฉายารถรุ่นต่างๆ ที่ดูแล้ว "ใช่เลย ตรงตามฉายา"โตโยตา โคโรลลา "โดเรมอน" โตโยตา โคโรลลา เจเนอเรชันที่ 6 ผลิตออกมาจำหน่ายครั้งแรกปี 2530 ซึ่งเป็นโฉมที่มีเทคโนโลยีเครื่องยนต์ 16 วาล์ว รุ่นแรกขายในไทย สังเกตง่ายๆ จะมีสติคเกอร์ "Twincam 16 Valve" ติดไว้ที่ข้างประตูรถ ในรุ่นท้ายๆ ถูกปรับปรุงด้วยการวางเครื่องยนต์ระบบหัวฉีด 4A-GE 16v ในรุ่น GTi สาเหตุที่เรียก "โดเรมอน" เพราะว่า โคโรลลา รุ่นนี้ มีออพชันหลากหลาย ต่างจากรถรุ่นอื่นในเซกเมนท์เดียวกันที่ไม่มี เช่น กระจกไฟฟ้า เครื่องยนต์หัวฉีด เกียร์อัตโนมัติ ฯลฯ ซึ่งเหมือนกับโดเรมอนที่มีของวิเศษหลายชิ้นนั่นเอง โตโยตา โคโรลลา "สามห่วง" รถยอดฮิทในตำนาน โตโยตา โคโรลลา AE101 โฉมนี้เป็นเจเนอเรชันที่ 7 ของตระกูล โคโรลลา เปิดตัวครั้งแรกในไทยปี 2534 ซึ่งขณะนั้นสร้างปรากฏการณ์ยอดจองทะลุ 10,000 คัน ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องงัดแผนสำรอง สั่งนำเข้ารุ่น LX Limited จากญี่ปุ่น มาจำหน่ายในเมืองไทย เครื่องยนต์มีให้เลือก 3 รุ่น คือ 1.3, 1.5 และ 1.6 ลิตร สาเหตุที่เรียกรุ่นนี้ว่า "สามห่วง" เพราะเป็นรุ่นแรกที่เริ่มใช้ตราสัญลักษณ์โลโก "สามห่วง" (วงรีไขว้ 3 วง) แทนโลโกเก่า "TOYOTA" ที่เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ซึ่งโลโกดังกล่าว ก็ถูกนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน ฮอนดา ซีวิค "ตาโต" ฮอนดา ซีวิค เจเนอเรชันที่ 6 ผลิตขึ้นปี 2539 โฉมนี้ยังมีให้เห็นอยู่บนถนนจำนวนมาก เพราะเป็นโฉมที่วัยรุ่นนิยมซื้อมือสองมาปรับแต่งกัน ในประเทศไทยมีออกมาจำหน่ายทั้งในรุ่น 4 ประตู ซีดาน และ 2 ประตู คูเป ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.6 ลิตร รูปลักษณ์ภายนอกที่โดดเด่นคงหนีไม่พ้นไฟหน้า ที่ออกแบบได้อย่างใหญ่โตกว่าเจเนอเรชันที่ผ่านมา สิ่งนี้เองจึงได้รับฉายาว่า "ซีวิค ตาโต" และในช่วงปี 2542-2543 ได้ปรับเปลี่ยนหน้าตา ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ทั้งกันชนหน้า ไฟหน้า กันชนท้าย รวมไปถึงไฟท้าย ที่มีลักษณะคล้ายกับเมล็ดข้าวโพด จึงเรียกรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้ว่า "ซีวิค ไฟท้ายข้าวโพด" ฮอนดา แอคคอร์ด "ปลาวาฬ" ฮอนดา แอคคอร์ด เจเนอเรชันที่ 7 เปิดตัวในเมืองไทย เมื่อปี 2546 ในรุ่นนี้ถูกปรับปรุงให้รูปลักษณ์ภายนอกใหญ่โตมากขึ้น มีทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.4 และ 3.0 ลิตร ในรุ่นทอพติดตั้งหลังคาซันรูฟเอาไว้ด้วย ฉายา แอคคอร์ด ปลาวาฬ มาจากรูปลักษณ์ภายนอก ที่ดูใหญ่โต โค้งมน เมื่อมองจากด้านข้างจะมีลักษณะคล้ายกับปลาวาฬ ส่วนไฟท้ายก็เหมือนกับลายครีบและหางของปลาวาฬเช่นกัน เมร์เซเดส-เบนซ์ "โลงจำปา" รุ่น อี-คลาสส์ รหัสตัวถัง W124 เริ่มเข้ามาจำหน่ายในไทยตั้งแต่ปี 2528 เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของรุ่นนี้เป็นการออกแบบภายนอกที่มีแต่เหลี่ยมคมในทุกสัดส่วน (ซึ่งนิยมมากในขณะนั้น) และที่ปัดน้ำฝนแบบ Panorama ซึ่งอาศัยก้านปัดเพียงก้านเดียว สามารถยืดหด รีดน้ำจากด้านซ้าย ไปจนขวาสุดได้โดยไม่ชนขอบกระจก ทำให้เหลือพื้นที่ที่ปัดน้ำฝนไม่หมดเพียง 20 % ของพื้นที่กระจกหน้าทั้งหมด ด้วยรูปทรงที่เน้นความเหลี่ยมคม ถ้ามองจากด้านท้าย จะคล้ายคลึงกับโลงจำปา หรือโลงศพของชาวจีน เมร์เซเดส-เบนซ์ "ตาถั่ว" รุ่น ซี-คลาสส์ รหัสตัวถัง W203 ผลิตออกมาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2543 รูปลักษณ์ภายนอกดูสวยงาม โค้งมน ไม่ตกยุค จุดเด่นเป็นโคมไฟหน้าที่ออกแบบให้มีลักษณะเชื่อมติดกัน 2 โคม ซึ่งได้รับความสนใจมากในขณะนั้น เมื่อออกแบบไฟหน้าให้เชื่อมติดกันระหว่าง 2 โคมแล้ว รูปทรงและขนาดของไฟ ก็เหมือนกับ "ฝักถั่วลิสง" ที่มีปล้องใหญ่และเล็กอยู่ในฝักเดียวกัน จึงเรียกรุ่นนี้ว่า "เบนซ์ตาถั่ว" ดัทสัน "ช้างเหยียบ" กระบะสุดคลาสสิค ที่นักสะสมรถคลาสสิคต้องมีไว้สักคัน คือ ดัทสัน แอล 620 ซึ่งปัจจุบันเห็นบนถนนได้น้อยมาก โมเดลนี้ถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 2515-2522 เครื่องยนต์รหัส J15 ให้กำลัง 77 แรงม้า ดัทสัน "ช้างเหยียบ" ฉายาของรุ่นนี้ ไม่ได้มีสัดส่วนไหนของรถที่มีหน้าตาคล้ายกับช้างแต่อย่างใด แต่มาจากหนังโฆษณาการขายรถในขณะนั้น ที่นำช้างขึ้นไปเหยียบบนท้ายกระบะ เพื่อแสดงถึงความแข็งแรงในการบรรทุก ทำให้คนยุคนั้นจดจำถึงหนังโฆษณานี้ได้เป็นอย่างดี จึงเรียกรุ่นนี้ว่า "ดัทสัน ช้างเหยียบ" นิสสัน "กอดซิลลา" กอดซิลลา (Godzilla) คือ ฉายารถ นิสสัน สกายไลน์ ที่ถูกเรียกมาตั้งแต่ปี 2533 โดย สกายไลน์ จีที-อาร์ อาร์ 32 ได้สร้างชื่อเสียงในการเข้าแข่งขัน Australian Touring Car Championship ที่โค่นแชมพ์เก่าอย่าง ฟอร์ด สิเอร์รา คอสเวิร์ธ ได้เป็นผลสำเร็จ ผู้คนจึงเปรียบชัยชนะของ นิสสัน สกายไลน์ จีที-อาร์ อาร์ 32 ให้รุ่นนี้เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งที่ได้ชัยชนะ ซึ่งเปรียบเหมือนกับ "กอดซิลลา" ที่มีร่างกายใหญ่โต เอาชนะได้ทุกสิ่ง มิตซูบิชิ "กล่องไม้ขีด" มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เจเนอเรชันที่ 2 ถูกผลิตตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งในรุ่นนี้ได้ปรับปรุงให้เครื่องยนต์มีความประหยัดน้ำมันมากขึ้นกว่ารุ่นก่อน และออกแบบให้ห้องโดยสารเงียบขึ้น ลดปริมาณเสียงรบกวนจากภายนอกและเครื่องยนต์ได้ดีในขณะนั้น ซึ่งดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ก็ไม่แปลกเลย ที่จะเรียกว่า "กล่องไม้ขีด" เพราะรูปทรงที่แบนราบมีแต่เหลี่ยมสัน เหมือนกับกล่องไม้ขีดนั่นเอง มิตซูบิชิ "ท้ายเบนซ์" มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เจเนอเรชันที่ 7 เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี 2539 โฉมนี้ยังมีให้เห็นบนท้องถนนที่มากพอสมควร จุดเด่นของรุ่นนี้ คือ ไฟท้าย ซึ่งเป็นก้อน 3 เหลี่ยม ต่างจากเจเนอเรชันที่ 6 ที่มีไฟท้ายเป็นแถบคาดแนวนอน แถมตัวถังดูใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุที่เรียกรุ่นนี้ว่า "ท้ายเบนซ์" ก็มาจากไฟท้าย ที่ดันไปละม้ายคล้ายคลึงกับ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ W202 ที่ผลิตออกมาก่อนหน้านี้