กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) พร้อมเสริมรถโดยสารจากทุกเส้นทางรองรับหากมีการหยุดวิ่งให้บริการ ยืนยันกำหนดอายุการใช้งานรถตู้โดยสารประจำทางไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก เหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือเปลี่ยนรถโดยสารขนาดเล็กมาตรฐานความปลอดภัย
เชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ พันเอกสมบัติ ธัญญะวัน รองผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, จิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และคมสัน โชติประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการเดินรถเอกชนร่วมบริการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อเตรียมมาตรการรองรับกรณีที่มีการหยุดวิ่งของรถตู้โดยสารปรับอากาศร่วมบริการสาธารณะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พศ. 2522 เพื่อสั่งเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินรถ เวลา และจำนวนเที่ยวของการเดินรถ หรือให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนำรถที่ตนได้รับอนุญาตไปช่วยเหลือเป็นการชั่วคราวตามควรแก่กรณี
ทั้งนี้ นโยบายการกำหนดอายุการใช้งานรถตู้โดยสารประจำทางไม่เกิน 10 ปีนั้น เป็นไปตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 8/2551 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย รักษามาตรฐานคุณภาพการให้บริการ สำหรับประเด็นที่มีผู้เรียกร้องให้พิจารณาขยายอายุการใช้งานรถตู้โดยสารนั้น กรมการขนส่งทางบกได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการผ่อนผันให้รถตู้โดยสารประจำทางหมวด 2 ที่ครบอายุการใช้งานแล้ว มีเวลาในการจัดหารถมาทดแทนคันเดิมได้ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเงื่อนไขต้องเป็นรถมาตรฐาน 2 ที่ไม่ใช่รถตู้โดยสาร มีระบบเบรคแบบ ABS (Anti-lock Brake System) หรือระบบห้ามล้อแบบอื่นที่มีมาตรฐานเท่ากัน หรือสูงกว่า พร้อมติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor)
ทั้งนี้ จากสถิติจำนวนรถตู้โดยประจำทางทั่วประเทศ ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 16,694 คัน พบว่ารถตู้โดยสารทยอยครบอายุการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2559 - 2570 และเฉพาะปี 2561 มีรถตู้โดยสารครบอายุการใช้งานแบ่งเป็นหมวด 1 จำนวน 954 คัน และหมวด 2 จำนวน 379 คัน เท่านั้น โดยผู้ประกอบการสามารถใช้รถโดยสารขนาดเล็กมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดมาให้บริการในเส้นทางได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถสาธารณะของประชาชน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเริ่มนำรถโดยสารขนาดเล็กมาให้บริการทดแทนรถตู้โดยสารหมวด 2 และหมวด 3 ที่ครบอายุการใช้งานแล้วจำนวนทั้งสิ้น 70 คัน เป็นเส้นทาง หมวด 2 จำนวน 28 คัน และหมวด 3 จำนวน 42 คัน ซึ่งมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยด้วยรถโดยสารขนาดเล็กมาตรฐานความปลอดภัยนั้น
กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการแบบเป็นขั้นตอน เริ่มทดแทนเฉพาะรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งาน (ครบ 10 ปี) ดังนี้ รถตู้โดยสารประจำทาง หมวด 2 ที่วิ่งเส้นทางกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด และรถตู้โดยสารประจำทาง หมวด 3 วิ่งเส้นทางระหว่างจังหวัดกับจังหวัดที่มีจุดจอดรับส่งผู้โดยสารระหว่างทาง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ส่วนรถตู้โดยสารประจำทาง หมวด 1 ที่วิ่งเส้นทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หมวด 3 ที่วิ่งเส้นทางระหว่างจังหวัดกับจังหวัดที่ไม่มีจุดจอดรับส่งผู้โดยสารระหว่างทาง และหมวด 4 ที่วิ่งในท้องที่ จะเริ่มดำเนินการเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป และได้มีการสร้างความเข้าใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อน ลดผลกระทบของผู้ประกอบการ มีช่วงเวลาปรับตัว รองรับภาคการผลิตในประเทศ ควบคู่กับการกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อจูงใจและลดผลกระทบของผู้ประกอบการ สำหรับรถโดยสารขนาดเล็กมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คือ รถโดยสารขนาดเล็กมาตรฐาน 2 (จ) จำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง (ที่ไม่ใช่ลักษณะรถตู้) และหรือรถโดยสารมาตรฐาน 2 (ค) จำนวนที่นั่งตั้งแต่ 21-30 ที่นั่ง ต้องมีระบบเบรคแบบ ABS (Anti-lock Brake System) หรือระบบห้ามล้อแบบอื่นที่มีมาตรฐานเท่ากันหรือสูงกว่า พร้อมติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor)
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บขส., ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสาร” โดยมีวงเงินกู้ต่อราย 20 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด MRR-1.5 % ต่อปี และสามารถใช้ บสย. ค้ำประกันเต็มวงเงินแทนการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมทั้งยังให้สินเชื่อเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัยรถโดยสาร และประกันชีวิต วงเงินกู้โครงการรวม 2,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้อำนวยความสะดวกแก้ไขระเบียบการขอจดทะเบียนเป็นรถนั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (ป้ายฟ้า) ให้รถตู้โดยสารที่ปลดระวาง สามารถนำไปจดทะเบียนใช้งานเป็นการส่วนตัวได้โดยสะดวก ทั้งนี้ จะมีการติดตามประเมินผลหลังจากเริ่มใช้รถโดยสารขนาดเล็กในการให้บริการ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มอัตราการใช้บริการของประชาชน พร้อมกันนี้ ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการและแนวทางอุดหนุนรถโดยสารประจำทางทั้งระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
บทความแนะนำ