อูเว ควาส กรรมการผู้จัดการ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย กล่าวว่า บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สานต่อความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เพื่อพัฒนาการศึกษาด้านยานยนต์ในระบบทวิภาคีภายใต้โครงการ BMW Dual Excellence Program ด้วยเจตนารมณ์ร่วมกันในการมุ่งส่งเสริมศักยภาพของนักศึกษาให้มีความรู้และทักษะด้านวิชาชีพที่จำเป็นในสาขา เมคคาทรอนิคส์ พร้อมเปิดโอกาสให้เรียนรู้จริง ณ โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จังหวัดระยอง โดยภายในปี 2562 นี้ เราจะมีนักศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาที่จบหลักสูตรระบบทวิภาคี (จิตรลดา-บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ) และเข้าทำงานในโรงงานของ บีเอมดับเบิลยู 6 คน ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในอนาคต
รศ. ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดามุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพออกสู่สังคม และเล็งเห็นว่าการให้การอบรมแก่นักศึกษาผ่านศูนย์ฝึกอบรม และให้โอกาสร่วมปฏิบัติงานจริงกับช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทยานยนต์ชั้นนำระดับโลกเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักศึกษาที่จบหลักสูตรด้านยานยนต์สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมด้วยประสบการณ์ภาคปฏิบัติที่นำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างรอบด้าน ต้องขอขอบคุณบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทยที่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการศึกษาที่เน้นการพัฒนาความสามารถของอาชีวศึกษาไทยอย่างยั่งยืน
โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสาขาต่างๆ เช่น สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง อีเลคทรอนิคส์ เครื่องมือกล ยานยนต์ เมคคาทรอนิคส์ เทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว โดยเน้นฝึกฝนทักษะและความสามารถที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งปลูกฝังให้นักศึกษามีคุณธรรมในวิชาชีพ เพื่อปูทางสำหรับการทำงานต่อไปในอนาคต
“เมื่อเร็วๆ นี้ ทางโครงการได้คัดเลือกตัวแทนนักศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ รวม 2 คน เข้าร่วมทัศนศึกษายังถิ่นกำเนิดของรถยนต์ บีเอมดับเบิลยู ในประเทศเยอรมนี โดยตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ นักศึกษาทุกคนได้ร่วมพูดคุยและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการขนส่ง เช่นรถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ (Automated Guided Vehicle–AGV) กับนักศึกษาวิชาชีพชาวเยอรมัน รวมถึงได้ร่วมชมโรงงานของ บีเอมดับเบิลยู กรุพ ในเมืองเบร์ลินอีกด้วย ถือเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้เชิงลึกทางเทคนิคผ่านประสบการณ์ในการสัมผัสนวัตกรรมระดับโลก” อูเว กล่าวปิดท้าย
โครงการการศึกษาระบบทวิภาคีที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมความรู้ความสามารถในด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิคส์ ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดานั้น ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 มีนักศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 24 คน ซึ่งได้รับประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติงานจริงกับช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญ เมื่อผ่านการทดลองปฏิบัติงานในระหว่างที่ร่วมโครงการ พวกเขาจะได้รับโอกาสในการเข้าทำงานกับ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย รวมถึงผู้จำหน่าย บีเอมดับเบิลยู อย่างเป็นทางการ โครงการนี้จึงเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย และเสริมศักยภาพประเทศในฐานะศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
บทความแนะนำ