การ์โลส โกส์น (Carlos Ghosn) อดีตประธานบริษัท นิสสัน วัย 65 ปี ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงเขย่าวงการยานยนต์ญี่ปุ่น แอบหนีออกจากญี่ปุ่น แล้วไปปรากฏตัวที่ประเทศเลบานอนอย่างน่าแปลกใจ ก่อให้เกิดข้อสงสัย และคำถามมากมายว่า โกส์น หลบหนีจากบ้านพักที่มีตำรวจคอยติดตาม ไปขึ้นเครื่องบินได้อย่างไรสื่อเลบานอนรายงานว่า โกส์น ผู้มีความสูง 173 ซม. ใช้วิธีซ่อนตัวในกล่องเครื่องดนตรีเบสส์ ขนาดยาว 1.8 ม. โดยมีอดีตนักรบกองกำลังพิเศษจากเลบานอนปลอมตัวเป็นคณะนักดนตรี แบกออกมาจากงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ โกส์น จัดขึ้น ตรงไปยังสนามบิน เพื่อพา โกส์น ขึ้นเครื่องบินเจทส่วนตัวเดินทางไปยังนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี แล้วนั่งเครื่องบินต่อไปยังกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ที่ซึ่ง โกส์น เติบโตมา และได้สัญชาติเลบานอน ซึ่ง โกส์น ถือพาสสปอร์ททั้งของบราซิล เชื้อชาติของตนเอง ฝรั่งเศส และเลบานอน โกส์น ที่เคยเป็นถึงผู้บริหารใหญ่ของค่ายรถ เรอโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ มอเตอร์ ถูกขังอยู่นานเกิน 3 เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 กระทั่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 1 พันล้านเยน หรือราว 270 ล้านบาท และมีกำหนดไต่สวนคดีที่ศาล เดือนเมษายน 2562 โกส์น ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินสดของ นิสสัน 550 ล้านบาท ไปซื้อบ้านที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน และนครรีโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล พร้อมซื้อบ้านหรูเพนท์เฮาส์ มูลค่า 106 ล้านบาท ในกรุงโตเกียว รวมถึงเรื่องเจตนาปกปิดบิดเบือนรายได้เพื่อเลี่ยงภาษีเป็นเงิน 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 959.4 ล้านบาท) จากกองทุนของ นิสสัน ไปยังบริษัทซูเฮล บาห์วัน และข้อหายักยอก ออโทโมบิลส์ (เอสบีเอ) ซึ่งเป็นตัวแทนของ นิสสัน ในโอมาน แต่ โกส์น ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และประณามรัฐบาลญี่ปุ่นว่าเจตนาให้ร้ายเขา การ์โลส โกส์น อดีตประธานบริหารของ นิสสัน มอเตอร์ ยืนยันการมาอยู่ที่เลบานอน เนื่องจากเขาไม่ต้องการเผชิญกับ "การทุจริต" ของกระบวนการยุติธรรมในญี่ปุ่น ซึ่งกำลังไต่สวนเขาในคดีคอร์รัพชันทางการเงิน และ "การถูกกดขี่" อีกต่อไป และจะเริ่มเปิดเผยข้อมูลอีกด้านหนึ่งกับสื่อมวลชนทั่วโลกตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป ศาลแขวงกรุงโตเกียวอนุญาตให้ โกส์น ได้รับการประกันตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ด้วยเงื่อนไขหลักทรัพย์ 1,000 ล้านเยน (275.3 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวงเงินประกันตัวบุคคลสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น พร้อมทั้งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเคร่งครัดอีกหลายประการ รวมถึงการห้ามเดินทางออกจากญี่ปุ่น “ในทุกกรณี” บ้านพักของ โกส์น ในกรุงโตเกียวจะอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ผ่านกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชม. ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ แต่หากต้องการใช้คอมพิวเตอร์ โกส์น ต้องเดินทางมาใช้งานอุปกรณ์ที่สำนักงานของทนายความ และต้องเป็นเวลากลางวันเท่านั้น การห้ามติดต่อกับภรรยา "ก่อนได้รับอนุญาต" การห้ามติดต่อกับสมาชิกทุกระดับของ นิสสัน "อย่างเด็ดขาด" และการต้องแจ้งให้ศาลพิจารณาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เมื่อต้องการเดินทางออกจากกรุงโตเกียว การ์โลส โกส์น ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัทพันธมิตร เรอโนลต์-นิสสัน (Renault-Nissan Alliance) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังดำรงตำแหน่งประธาน และซีอีโอของกลุ่ม เรอโนลต์ ฝรั่งเศส และยังดำรงตำแหน่งประธาน นิสสัน มอเตอร์ และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส กลุ่มบริษัทพันธมิตร เรอโนลต์-นิสสัน มีพนักงานรวมกันมากกว่า 450,000 คน ในเกือบ 200 ประเทศ มีโรงงานผลิต 122 แห่ง ยอดขายของ เรอโนลต์-นิสสัน, มิตซูบิชิ มอเตอร์ส และอัลโตวาส ขายได้ร่วมกันกว่า 9.96 ล้านคัน ในปี 2559 หรือประมาณ 1 ใน 9 ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก โกส์น เกิดที่บราซิล ในปี 2497 เขาใช้เวลาวัยเยาว์ส่วนใหญ่ในเลบานอน จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จาก École Polytechnique ของฝรั่งเศส ในปี 2517 และจาก École des Mines de Paris ในปี 2521 โกส์น เริ่มต้นการทำงานกับ มิเชอแลง (Michelin) บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ มิเชอแลง เขามีโอกาสทำงานในหลายแผนก และหลายประเทศ ย้ายไปร่วมงานกับ เรอโนลต์ ในปี 2539 และถูกมอบหมายให้ไปทำงานในอเมริกาใต้ ซึ่งเวลานั้นกำลังขาดทุนอย่างหนัก ด้วยการดำเนินการปฏิรูปองค์กรอย่างหนักหน่วง เขาทำให้ เรอโนลต์ ในอเมริกาใต้ กลับมามีผลกำไร จนได้รับฉายาว่าเป็น “นักฆ่าต้นทุน” (Le Cost Killer) โกส์น ได้เข้าร่วมงานกับ นิสสัน ในฐานะหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในปี 2542 และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งซีอีโอในปี 2544 เขาเป็นผู้วางรากฐานของแผนการฟื้นฟู นิสสัน (Nissan Revival Plan) สามารถนำบริษัท ออกจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง กลับสู่บริษัทที่มีศักยภาพในการทำกำไรในปี 2543 ปี 2552 เขาได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ เรอโนลต์ ในปี 2556 - 2559 ดำรงตำแหน่งประธาน อัลโตวาส และในช่วงปลายปี 2559 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธาน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ภายหลังจากที่ นิสสัน เข้าซื้อหุ้นเป็นสัดส่วน 34 % ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา โกส์น ให้ความสำคัญกับการยกระดับกลุ่มพันธมิตรเพื่อปูทางสู่ระดับโลก และทำให้ เรอโนลต์-นิสสัน รอดพ้นจากวิกฤตทางการเงินเมื่อ 10 ปีก่อน ขณะที่บริษัทรถยนต์อเมริกันล้มละลายกันเกือบทั้งหมด ในปี 2559 กลยุทธ์การสร้างพันธมิตรมีความก้าวรุดหน้าครั้งสำคัญด้วยการเข้าครอบครองกิจการของ มิตซูบิชิ ด้วยวงเงินมูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กลุ่มพันธมิตร เรอโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ มีจำหน่ายถึง 10 บแรนด์ ได้แก่ เรอโนลต์ (Renault), ดาเซีย (Dacia), เรอโนลต์ ซัมซุง (Renault Samsung), นิสสัน (Nissan), อินฟินิที (Infiniti), ดัทสัน (Datsun), มิตซูบิชิ (Mitsubishi), เวนูเซีย (Venucia) และลาดา (Lada) บอร์ดบริหารของ นิสสัน ตัดสินใจปลด การ์โลส โกส์น ออกจากตำแหน่งกรรมการ และประธานบริษัท ในเดือนพฤศจิกายน 2561 สืบเนื่องจากกรณีอื้อฉาวประพฤติมิชอบทางการเงิน หลังจากที่กุมบังเหียนค่ายรถนี้มายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ