บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นบริษัทในเครือ General Motors (GM) ประกอบด้วยโรงงานผลิตรถยนต์ GM ประเทศไทย และโรงงานผลิตเครื่องยนต์ GM Powertrain ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง และต่อไปนี้ คือเรื่องราวบนเส้นทางที่มีทั้งกลีบกุหลาบ และขวากหนามของพวกเขา ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษ ก่อนที่ GM จะประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ Chevrolet ในประเทศไทยพศ. 2543 General Motors (GM) ก่อตั้ง และเริ่มดำเนินการในประเทศไทย รถยนต์ Chevrolet รุ่นแรกที่ออกจำหน่าย ได้แก่ Chevrolet Zafira ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกตลาดรถยนต์อเนกประสงค์รายแรกของไทย และได้รับการต้อนรับจากผู้ใช้รถเป็นอย่างดี รวมทั้งคว้ารางวัล รถเอมพีวียอดเยี่ยมแห่งปี ในประเทศไทย 3 ปีซ้อน พศ. 2546 เปิดตัวรถยนต์นั่งขนาดกลาง Chevrolet Optra ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก พศ. 2547 เปิดตัวรถกระบะ Chevrolet Colorado ที่ผลิตจากโรงงาน General Motors จังหวัดระยอง รถรุ่นนี้เป็นผลงานการออกแบบ และพัฒนาร่วมกันระหว่าง General Motors กับ Isuzu โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานของ Isuzu D-Max พศ. 2548 เปิดตัวเก๋งตรวจการณ์สเตชันวากอน Chevrolet Optra Estate ในปีเดียวกัน Chevrolet เสริมทัพด้วยรถเก๋งขนาดใหญ่ Chevrolet Lumina ที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ใช้เครื่องยนต์ V6 ขนาด 3.8 ลิตร ให้กำลังถึง 206 แรงม้า พศ. 2549 เปิดตัวรถเก๋งขนาดเล็ก Chevrolet Aveo ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.4 ลิตร และ Chevrolet Captiva ที่มีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล ส่วน Chevrolet Colorado เปิดตัวรุ่นที่มีระบบ G-80 Differential Lock และในปลายปีเดียวกัน ได้เปลื่ยนเครื่องยนต์เป็น 3,000 CTI Maxx Turbo 163 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 36.7 กก.-ม. หรือ 360 นิวตัน-เมตร พศ. 2550 เปิดตัว Chevrolet Colorado รุ่นไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนกระจัง กันชนหน้า ไฟท้าย พวงมาลัย พร้อมล้ออัลลอยลายใหม่ พศ. 2551 เพิ่ม Chevrolet Colorado รุ่นติดตั้งระบบแกส CNG เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 2.5 ลิตร จ่ายเชื้อเพลิงผสมแบบ ดูอัลฟิวล์ (Dual fuel) ใช้น้ำมันดีเซลร่วมกับแกสธรรมชาติ CNG ในสัดส่วน CNG 65 % และดีเซล 35 % พศ. 2553 เปิดตัวรถเก๋งขนาดกลางรุ่นใหม่ Chevrolet Cruze พร้อมปรับโฉม Chevrolet Colorado เป็นครั้งที่ 2 เพิ่มกันชนหน้าแบบทูโทน เครื่องเล่น DVD ขนาด 7 นิ้้ว พศ. 2554 เปิด GM Powertrain ศูนย์การผลิตเครื่องยนต์ที่จังหวัดระยอง โดยดำเนินการผลิตเครื่องยนต์ Duramax 4 สูบ ขนาด 2.8 ลิตร และ 2.5 ลิตร พศ. 2555 เปิดตัวรถเก๋งขนาดเล็กที่มาทำตลาดแทน Chevrolet Aveo นั่นคือ Chevrolet Sonic และรถเอนกประสงค์ Chevrolet Trailblazer ปีนี้เป็นปีที่ Chevrolet ทำยอดขายได้มากที่สุดถึง 75,457 คัน พศ. 2556 เปิดตัวรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง Chevrolet Spin พศ. 2558 Chevrolet ปรับโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนพนักงานลง 30% และยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งหมด (Cruze, Sonic, Spin และ Captiva) ทำให้ยอดขายลดลงต่อเนื่อง เหลือเพียง 17,456 คัน แต่ Chevrolet ยังคงพยายามทำตลาดด้วยการปรับโฉมรถกระบะ Colorado โดยทำรุ่นตกแต่งพิเศษออกมาอีกหลายรุ่น เพื่อพยุงยอดขาย พศ. 2559 เปิดตัว Chevrolet Colorado และ Trailblazer Big-Minorchange เป็นครั้งแรกในโลกในเดือนเมษายน โดยมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ยังใช้โครงสร้างพื้นฐานของรุ่นเดิม ขุมพลังเป็นเครื่องยนต์ดีเซล Duramax XLDE25 ขนาด 2.5 ลิตร ที่ปรับปรุงจากรุ่นเดิม (ไม่ทำเครื่องยนต์ 2.8 ลิตรต่อ) ให้กำลังเพิ่มขึ้นจาก 163 แรงม้า เป็น 180 แรงม้า แรงบิดเพิ่มจาก 38.8 กก.-ม. (380 นิวตัน-เมตร) เป็น 44.8 กก.-ม. (440 นิวตันเมตร) ส่วนพวงมาลัยปรับเปลี่ยนเป็นแบบไฟฟ้า ภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ กระจังหน้ามีการออกแบบใหม่ให้ดูมีความสปอร์ทขึ้น ไฟหน้าเพิ่ม Daytime Running Light (DRL) พศ. 2560 ในเดือนพฤศจิกายน Chevrolet ฉลองครบรอบ 100 ปี ของกระบะ Chevrolet โดยจัดทำรุ่นพิเศษขึ้นในชื่อ Chevrolet Colorado Centennial Edition ตกแต่งสติคเกอร์สีดำบนกระโปรงรถ ล้ออัลลอยสีดำ 18 นิ้ว พร้อมชุดแต่ง ล้อ สปอร์ทบาร์ ตราสัญลักษณ์สีดำ และมีหมายเลขประจำตัวรถเฉพาะคัน โดยผลิตออกมาเพียง 100 คันเท่านั้น พศ. 2562-2563 เปิดตัวรถอเนกประสงค์ Chevrolet Captiva รุ่นใหม่ในเดือนกันยายน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ยอดขายดีขึ้น ประกอบกับ GM มีแผนปรับโครงสร้างองค์กรลดตลาดที่ไม่ทำกำไร เป็นเหตุให้ต้องประกาศหยุดการผลิต และจำหน่ายรถยนต์ Chevrolet ในตลาดประเทศไทย ภายในสิ้นปี 2563 พร้อมขายศูนย์การผลิตรถยนต์ และเครื่องยนต์ที่จังหวัดระยองให้แก่ Great Wall Motors ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ศูนย์การผลิตรถยนต์ และเครื่องยนต์ของ GM ในประเทศไทย ศูนย์การผลิตรถยนต์ GM ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง นับเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ GM ในระดับภูมิภาค สำหรับจำหน่ายในประเทศ และต่างประเทศ ภายใต้บแรนด์ Chevrolet และ Holden และยังได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน การจัดการความปลอดภัย และยังเป็นบริษัทรถยนต์รายแรกในไทย ที่ได้รับมาตรฐาน ISO 50001 โดยศูนย์การผลิตดังกล่าวผลิตรถยนต์ไปแล้ว 1.4 ล้านคัน ส่วน GM Powertrain ประเทศไทย เป็นศูนย์การผลิตเครื่องยนต์แห่งแรกของโลก ที่ผลิตเครื่องยนต์ Duramax ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 4 สูบ เพิ่งฉลองความสำเร็จในการผลิตเครื่องยนต์ Duramax ครบ 500,000 เครื่อง ไปเมื่อปีที่แล้ว ย้อนตำนาน อดีต-ปัจจุบัน ของ General Motors Company General Motors หรือ GM ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา มีประวัติอันยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ เริ่มต้นจาก วิลเลียม คราโป ดูแรนท์ (William Crapo Durant) ได้เข้ามาซื้อกิจการบริษัทรถยนต์ Buick พร้อมก่อตั้ง General Motors Company เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2451 ต่อมา General Motors เข้าซื้อกิจการของรถยนต์หลายยี่ห้ออย่างต่อเนื่อง จนประสบสภาวะขาดทุน เพราะเงินส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมธนาคาร เจ้าหนี้จึงเข้ารวบอำนาจการบริหารบริษัท และปลด วิลเลียม ดูแรนท์ ออกจากตำแหน่งผู้บริหารของ General Motors ทั้งหมด ในปี 2453 ปลายปี 2454 วิลเลียม ดูแรนท์ และหลุยส์ เชฟโรเลต์ ร่วมกันก่อตั้งบริษัทรถยนต์ Chevrolet ขึ้น และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้ซื้อหุ้นของ General Motors คืน ทำให้ในปี 2460 ดูแรนท์ ได้กลับมาเป็นประธาน General Motors อีกครั้ง และ Chevrolet ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร GM อันยิ่งใหญ่ ในยุคเฟื่องฟู GM เคยมีบแรนด์รถยนต์ในเครือสูงสุด 13 บแรนด์ ได้แก่ Buick, Cadillac, Chevrolet, GMC, GM Daewoo, Opel, Vauxhall, Holden, Hummer, Pontiac, Saab, Saturn และ Wuling โดยมีพนักงานรวมกันทั้งสิ้นราว 2.52 แสนคน ทั่วโลก แต่ในปี 2552 หลังประสบปัญหาการเงิน ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ GM ได้ยื่นเรื่องขอล้มละลายอย่างเป็นทางการต่อศาลล้มละลายนิวยอร์ค นับเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้ปัจจุบัน GM เหลือบแรนด์รถยนต์ในเครือเพียง Buick, Cadillac, Chevrolet, GMC, Holden Wuling และ Baojun ที่ผลิตโดย SGMW (SAIC-GM-Wulling Automobile Company Ltd.) บริษัทที่ถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือกันของ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ โดยมีผู้ถือหุ้น คือ GM 44 %, SAIC 50.1 % และ Wuling 5.9 %
บทความแนะนำ