กระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินการบัตรรถไฟฟ้า BTS และ MRT เข้าตั๋วร่วม เพื่อความสะดวกการเดินทางในกรุงเทพฯ อย่างครอบคลุม วางแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 นี้กระทรวงคมนาคมได้ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ท เรล ลิงค์ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เพื่อให้ประชาชนที่ถือบัตรโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 14.6 ล้านใบ สามารถใช้ด้วยกันได้ทุกระบบ และตั้งเป้าให้สามารถใช้บริการได้ในเดือนมิถุนายน 2563 แต่ละหน่วยงานจัดเตรียมงบประมาณในการพัฒนาระบบหัวอ่านให้สามารถอ่านข้อมูลบัตรรถไฟฟ้าระบบอื่นได้แล้ว รวม 450 ล้านบาท โดย รฟม. ใช้งบ 225 ล้านบาท บีทีเอส ใช้ 120 ล้านบาท และแอร์พอร์ท เรล ลิงค์ ใช้ 105 ล้านบาท ซึ่งได้มีการว่าจ้างเอกชนให้พัฒนาระบบมาก่อนหน้านี้ แต่จนถึงปัจจุบันมีการทำงานเกินอายุสัญญามา 11 เดือน แต่ยังไม่สามารถพัฒนาระบบได้ ซึ่งขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ แอร์พอร์ท เรล ลิงค์ โดยไม่สามารถมีคำตอบได้ว่าจะสามารถพัฒนาระบบเสร็จทันตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการทั้ง 3 ครั้ง ทำไม่สำเร็จ ขณะที่ รฟม. และบีทีเอส ไม่มีปัญหา เหลือเพียงรายละเอียดด้านเทคนิคเล็กน้อย ทั้งนี้หากถึงเดือนมิถุนายนแล้ว แอร์พอร์ท เรล ลิงค์ ยังพัฒนาระบบไม่สำเร็จ จะให้ รฟม. และบีทีเอส ใช้ตั๋วร่วมกันไปก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้ประชาชน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้มีการเร่งรัดให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) การดำเนินงานในระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ทุกหน่วยงานลงนามร่วมกันภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และได้ให้ รฟม. บีทีเอส และแอร์พอร์ท เรล ลิงค์ จัดการรายละเอียดข้อตกลงทางธุรกิจให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยไม่ขัดต่อสัมปทาน เช่น การเติมเงินบัตร ส่วนลดนักเรียน และผู้สูงอายุ รวมถึงกรณีที่มีเงินในบัตรไม่พอจะทำอย่างไร ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิท (ใช้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส) 12 ล้านใบ, บัตรแมงมุม และบัตร MRT plus (ใช้กับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง/สายสีน้ำเงิน) 2.2 ล้านใบ และบัตร Smart Pass (ใช้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ท เรล ลิงค์) 4 แสนใบ รวม 14.6 ล้านใบ