กรมการขนส่งทางบก เตรียมเรียกผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพกลับมาทดสอบสมรรถภาพร่างกาย และความพร้อมต่างๆ ในการขับรถใหม่ อ้างผู้สูงอายุขับขี่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หลังข่าวแพร่ออกไป ผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพไม่เห็นด้วย จนเกิดกระแสต่อต้านกรมการขนส่งทางบก มีแนวคิดเรียกผู้มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์แบบตลอดชีพ กลับมาทดสอบสมรรถภาพในการขับรถใหม่อีกครั้ง เนื่องจากใบอนุญาตขับขี่แบบตลอดชีพถูกยกเลิกตั้งแต่ปี 2546 แม้จะได้ใบอนุญาตขับขี่แบบตลอดชีพ แต่เมื่ออายุมากขึ้น สภาพร่างกาย ด้านการมองเห็น การได้ยิน อาจไม่สมบูรณ์เหมือนเก่า ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าในสัปดาห์หน้า จะหารือส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำโครงการเรียกผู้ขับขี่รถ และมีใบอนุญาตแบบตลอดชีพกลับมาทดสอบสมรรถนะการขับรถใหม่อีกครั้งกับขนส่งทางบก หรือ "Recall" เพื่อให้ผู้มีใบขับขี่แบบตลอดชีพ กลับมาแสดงตัวที่กรมการขนส่งทางบกทั่วประเทศ และทดสอบสมรรถภาพความพร้อมในการขับขี่อีกครั้ง โดยยืนยันว่า หากผู้ขับขี่รายใดที่ยังมีสมรรถภาพร่างกายพร้อม ยังสามารถใช้ใบอนุญาตขับขี่ฉบับนั้นได้ต่อไป แต่หากสภาพร่างกายไม่สามารถขับรถได้แล้ว หรืออาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ก็อาจต้องมีการยกเลิกใบอนุญาตของบุคคลนั้นหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวอาจกระทบสิทธิ์ของผู้ใช้รถ ที่ถือใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพบ้าง แต่ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้รถส่วนรวม อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะเรียกทดสอบกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไปก่อน อดีตรอง ผอ.ข่าวกรอง ถามแรง ใบขับขี่ตลอดชีพ "หนักหัวใคร" จี้ขนส่งคิดใหม่ หลังข่าวนี้แพร่ออกไป ผู้มีใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพหลายคนเริ่มไม่เห็นด้วย อย่างอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ "นันทิวัฒน์ สามารถ" ถามกลับแรงในเฟศบุค Nantiwat Samart ระบุข้อความว่า "ใบขับขี่ตลอดชีพมันหนักหัวใคร" จี้ขนส่งคิดใหม่ พร้อมแนะให้เข้มงวดกวดขันงานขนส่งให้มากขึ้น เช่น งานตรวจสภาพรถ รถปุโรทั่ง รถบรรทุกทำส่วนต่อขยายเกินน้ำหนัก รถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เป็นต้น และยังบอกด้วยว่า คนที่ถือใบขับขี่ตลอดชีพไม่ได้ทำอะไรผิด ที่บอกว่าคนแก่ขับรถเกิดอุบัติเหตุบ่อย ให้เอาตัวเลขสถิติมาดู คนขับรถแล้วเกิดอุบัติบ่อย คือ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก คนขับรถเร็ว ขับขี่หลังการดื่มสุรา ฯลฯ อัยการชี้กรมการขนส่งฯ ใช้เหตุ "สูงอายุ" เพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีพไม่ได้ ดร. ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ออกมาชี้แจงกรมการขนส่งฯ ใช้เหตุ "สูงอายุ" เพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีพไม่ได้ โดยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟศบุคส่วนตัว และให้ความเห็นทางวิชาการในข้อกฎหมายต่อกรณีดังกล่าวว่า การเพิกถอนใบอนุญาตขับรถด้วยเหตุที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมีสภาพสังขารร่างกายที่เสื่อมลงจากเหตุสูงอายุนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 49 ไม่ได้กำหนดให้การที่สภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ เป็นเหตุให้ถือว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการมีใบอนุญาตขับรถ โดย พรบ.รถยนต์ บัญญัติถึงกรณีสภาพร่างกายที่ทำให้ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามในการมีใบอนุญาตขับรถประเภทต่างๆ ไว้ เช่น มีร่างกายพิการจนเห็นว่าไม่สามารถขับรถได้ มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน เป็นผู้มีโรคติดต่อน่ารังเกียจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงกรณีสภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุด้วย 2. การจะใช้อำนาจตาม พรบ.รถยนต์ มาตรา 53 วรรคสอง เพื่อเรียกผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมาตรวจสอบคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้าม ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถประเภทนั้นๆ ดังนั้น จึงต้องปรากฏเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถรายใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติเสียก่อน แล้วจึงจะเรียกบุคคลนั้นๆ เป็นรายบุคคลมาตรวจสอบได้ ไม่ใช่จะสามารถเรียกทุกๆ คนมาสุ่มตรวจแบบเหมาเข่งทั้งหมดได้ เช่น การกำหนดเกณฑ์ว่าคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ทุกคนต้องมาทดสอบสมรรถภาพในการขับรถ เพื่อค้นหาและตรวจสอบว่าใครที่ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามบ้าง โดยเชื่อว่าคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป อาจมีสภาพร่างกายไม่พร้อมในการขับรถ การกำหนดเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย เพราะยังไม่ปรากฏเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าบุคคลที่อายุ 70 ปี ขึ้นไป ทุกคนมีสภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะขับรถได้ และคนที่อายุ 70 ปี ขึ้นไป ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสภาพร่างกายที่ไม่สามารถขับรถได้ การจะเรียกบุคคลอายุ 70 ปี ขึ้นไป มาทำการทดสอบสมรรถภาพการขับรถ จึงจะต้องมีเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ขับรถรายนั้นขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติเสียก่อน ถึงจะสามารถเรียกบุคคลนั้นมาตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป และที่สำคัญ คือ ตามที่กล่าวไปแล้ว การที่สภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ ไม่ถือเป็นการขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะมีใบอนุญาตขับรถตาม พรบ.รถยนต์ ดังนั้น จะมาใช้เหตุสภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ เพื่อเรียกบุคคลใดมาตรวจคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายด้วยการทดสอบสมรรถภาพการขับรถ เพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ของบุคคลนั้นไม่ได้ และยังเป็นการสร้างผลกระทบและภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนจำนวนมากอีกด้วย "การที่กรมการขนส่งทางบกมีแนวความคิดที่จะลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เชื่อว่าทุกคนเห็นด้วย แต่ควรตรวจสอบถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วยว่า สาเหตุหลักเกิดจากเรื่องใด ขับรถเร็ว ขับรถประมาท ดื่มสุราเสพของมึนเมาขณะขับรถ บทลงโทษตามกฎหมายไม่เหมาะสม มีบทลงโทษที่เบาเกินไปหรือว่ามีสาเหตุจากเรื่องใด แล้วเร่งรีบดำเนินการพิจารณาแก้ไขสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากเหตุนั้น จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม และได้ผลในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มากกว่า"... ดร. ธนกฤต กล่าวสรุป
บทความแนะนำ