ธุรกิจ
Royal Enfield ประกาศทิศทางธุรกิจ
Royal Enfield (รอยัล เอนฟีลด์) เดินหน้ารุกตลาดทั้งต่างประเทศ และในประเทศไทย ประกาศยอดขายในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น 96 % ในปีงบประมาณ 2562-2563 สำหรับประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้น 112 % จากปีงบประมาณ 2561-2562 จนถึงปีงบประมาณ 2562-2563 พรัอมเดินหน้าขยายตลาดในประเทศไทย มุ่งขยายเครือวข่ายสโตร์ให้ครอบคลุมทุกหัวเมืองสำคัญ ลุยเปิดโรงงานประกอบหรือ CKD ในประเทศไทยช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ปี 2564
สิทธัตถะ ลาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเชอร์ มอเตอร์ส ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของ Royal Enfield กล่าวถึงกลยุทธ์หลักในการขยายธุรกิจในต่างประเทศว่า เรานำความสำเร็จที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียมาใช้กับต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทย โดยแนวทางระยะยาวของเราก็คือ การขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดรถมอเตอร์ไซค์ขนาดกลาง และทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้นในที่ที่เราจะดำเนินธุรกิจ เราใช้หลักการ Less is More-Inch-Wide และ Mile-Deep Approach หรือการมองในเชิงลึก โฟคัสไปที่การทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ขนาดกลางเติบโตขึ้นด้วยมอเตอร์ไซค์ที่สวยงาม คลาสสิค เพื่อกลุ่มคนที่ชอบการขับขี่สำหรับความสนุกสนาน และการพักผ่อน รวมทั้งใช้ชื่อเสียงของบแรนด์ Royal Enfield เป็นจุดขายผ่านสโตร์ และการบริการที่ยอดเยี่ยมซึ่งสะท้อนความเป็นบแรนด์ออกมาให้เหมือนกันทั่วโลก บ่มเพาะจิตวิญญาณแห่งการขับขี่ และสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์สร้างรูปแบบ หรือวิธีการขับขี่ และจำนวนนักขี่ แต่เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการขับขี่ในประเทศนั้นๆ และร่วมมือกับนักคัสตอมรถทั่วโลก
"นอกจากนี้ ยังมีวิธีการมองจากภาพรวมของตลาดใหม่ โดยการสร้างความสนใจ และความต้องการในเมืองหลักที่มีศักยภาพ จากนั้นจึงกระจายไปยังเมืองรองเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทย เรามีเพียงสโตร์แห่งเดียวมานานถึง 3 ปี เพื่อการเรียนรู้ และเข้าใจในลูกค้า และธุรกิจ รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ขณะนี้เรามีสโตร์มากถึง 26 แห่ง และวางแผนที่จะขยายสโตร์ไปถึง 36 แห่งภายในเดือนมีนาคมปี 2564 ทั้งนี้ Royal Enfield มีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมในตลาดต่างประเทศในปีนี้ การเติบโตโดยรวมมีถึง 96 % สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเป็นภูมิภาคที่สำคัญของ Royal Enfield มุ่งเน้นไปที่การขยายเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายในภูมิภาคนี้ โดยการขยายเครือข่ายโดยรวมเติบโตขึ้น 50 % ในตลาดหลักทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เช่น การเปิดสโตร์สำคัญในเมืองต่างๆ เช่น สโตร์ในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองหลักในประเทศไทย จาการ์ตาร์ในประเทศอินโดนีเซีย โซลในประเทศเกาหลีใต้ เมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย โฮจิมินห์ และฮานอยในประเทศเวียดนาม มะนิลาในประเทศฟิลิปปินส์ และพนมเปญในประเทศกัมพูชา”
ด้าน วิโนด เค ดาสารี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Royal Enfield กล่าวถึงความท้าทายในการดำเนินธุรกิจระดับโลกว่า การสร้างบแรนด์ขึ้นมาใหม่ในแต่ละตลาดเป็นเรื่องท้าทาย เราต้องทำงานไปตามขั้นตอน และให้บแรนด์เติบโตไปอย่างเป็นธรรมชาติ สิ่งสำคัญ คือ เราต้องคำนึงถึงเรื่องความแตกต่างด้านวัฒนธรรม พร้อมมุ่งเน้นในการสร้างประสบการณ์การขับขี่ และสร้างสังคมการขับขี่ให้เกิดขึ้น เราสังเกตเห็นความแตกต่าง ในตลาดมอเตอร์ไซค์ เช่น ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะชอบมอเตอร์ไซค์ที่ใหญ่กว่า เร็วกว่า ซับซ้อนกว่า และแพงกว่า จึงทำให้เกิดช่องว่างสำหรับมอเตอร์ไซค์ขนาดกลางที่มีทุกอย่างครบครันอย่างพอดี เพื่อประสบการณ์การขับขี่แบบสนุกสนาน และเพลิดเพลิน สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่คนเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มคนที่ชื่นชอบการขับขี่มัก มองหามอเตอร์ไซค์สำหรับความสนุก และการพักผ่อน ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้ เรามั่นใจว่าเราสามารถเป็นคำตอบให้กับทุกตลาดด้วยมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield เพราะเราผสานขนาดที่ตอบโจทย์ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาเข้ากับความซับซ้อนและงานที่พิถีพิถันแบบที่ตอบโจทย์ตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว
“เป้าหมายของเรา คือ การก้าวสู่ระดับโลก ซึ่งหมายถึงการเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าจากทั่วโลก นอกจากฐานการผลิตหลักในอินเดียแล้ว ตอนนี้เรายังขยายตลาดไปยังทวีปยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เราเชื่อมั่นว่าความที่ Royal Enfield เป็นบแรนด์คลาสสิค บวกกับความเข้าใจในบแรนด์ และคุณภาพสินค้า จะสามารถพาบแรนด์ Royal Enfield ไปได้ไกล สหราชอาณาจักรถือเป็นบ้านเกิดของ Royal Enfield และเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเราในตอนนี้ ส่วนอาเซียน และลาตินอเมริกา คือ ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพมากเพราะมีจำนวนผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์มากมาย มีความสนใจในการท่องเที่ยว ผจญภัย และการขับขี่เพื่อการพักผ่อน”
วิโนด ได้กล่าวถึงประเทศไทยว่า ในประเทศไทยได้รับการตอบรับที่ดีตั้งแต่เริ่มเข้ามา มอเตอร์ไซค์ของเราเป็นที่ชื่นชอบของนักขับขี่ในไทย สไตล์แบบอังกฤษ ความมีเอกลักษณ์ และง่ายต่อการปรับแต่ง คือ ปัจจัยหลักที่ลูกค้าเลือกซื้อ Royal Enfield ในตลาดประเทศไทย ส่วนตลาดต่างประเทศเป็นตลาดที่ Royal Enfield ให้ความสำคัญเป็นหลัก และมีผลการดำเนินงานที่ดีมาก กลยุทธ์การตลาดต่างประเทศประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยปีงบประมาณ 2562-2563 ที่ผ่านมา ยอดขายในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น 96 % เอเชียแปซิฟิค เป็นภูมิภาคที่สำคัญของ Royal Enfield ซึ่งมีการมุ่งเน้นไปที่การขยายเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายในภูมิภาคนี้ โดยการขยายเครือข่ายโดยรวมเติบโตขึ้น 50 % ในตลาดหลักทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เช่น การเปิดฟแลกชิพสโตร์แห่งแรกในกรุงโซลประเทศเกาหลี ทั้งนี้ Royal Enfield ได้ขยายเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศมากกว่า 600 แห่ง ใน 60 ประเทศรวมถึงเอกซ์คลูซีฟสโตร์ 77 แห่ง ในเมืองสำคัญทั่วโลก
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มร. วิโนด กล่าวว่า ผลกระทบอย่างหนักของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ต่อชีวิตมนุษย์ และเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่อินเดียได้มีมาตรการลอคดาวน์ยาวนานมากกว่า 1 เดือน การดำเนินงานของการผลิต และการค้าปลีกทั่วประเทศต่างได้รับผลกระทบ และเพื่อบรรเทาผลกระทบของโรค COVID-19 รัฐบาลจึงต้องการความช่วยเหลือ ทาง Royal Enfield จึงได้บริจาคเงิน 6.67 ล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาทุกข์ และสนับสนุนภารกิจในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่วนการผลิต และการค้าปลีกกลับมาดำเนินการได้แล้ว ความต้องการกำลังกลับมา มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในอินเดีย และในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เรายังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่อง Supply Chain อยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการผลิตให้เกิดความราบรื่นมากที่สุด
สำหรับประเทศไทย วิมัล ซัมบลีย์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค Royal Enfield เปิดเผยว่า Royal Enfield เข้ามาในตลาดประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 เราดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์หัวเมืองสำคัญ เพื่อเข้าถึงลูกค้า และเข้าใจวัฒนธรรมการขับขี่มอเตอร์ไซค์ในประเทศไทย สโตร์แห่งแรกของ Royal Enfield ตั้งอยู่ที่ทองหล่อ และขณะนี้เรามีสโตร์ทั้งหมด 26 แห่ง และภายในสิ้นปีงบประมาณ 2563 เราจะมีสโตร์ทั้งหมด 36 แห่งในประเทศไทย
“บแรนด์ Royal Enfield ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีในตลาดประเทศไทย ในปีแรกยอดขายอยู่ที่ 889 คัน และในปีที่ 4 ยอดขายโตขึ้นเป็น 3,146 คัน ขณะนี้เรามีผู้ขับขี่ Royal Enfield กว่า 7,000 คัน ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทำให้สังคมนักขับขี่ Royal Enfield เติบโตอย่างต่อเนื่อง รถมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield เหมาะสำหรับการตกแต่ง ด้วยการออกแบบที่เปลือยเปล่า และเรียบง่ายเอื้อต่อการตกแต่งที่แสดงความเป็นตัวตนของผู้ขับขี่ ประเทศไทยนับเป็นตลาดที่มีวัฒนธรรมการตกแต่งรถ ผู้ขับขี่มีความกระตือรือร้น และไม่ลังเลที่จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นส่วนเสริมบุคลิกของเขา หรือเธอ ดังนั้น เมื่อรวมเอา 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกันทำให้มั่นใจได้ว่าในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาเรามีรถมอเตอร์ไซค์ที่ตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใครจากประเทศไทยกว่า 30 คัน ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้เรามีทั้ง K-Speed, Zeus custom, Ranger Korat และนักคัสตอมมอเตอร์ไซค์อีกมากมายที่สร้างสรรค์ผลงานจากรถของ Royal Enfield ”
“ผลิตภัณฑ์ของเราดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย และนี่คือ สิ่งที่เรามองเห็นได้ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่รวมถึงในตลาดอื่นๆ ในโลกส่วนใหญ่ที่เราดำเนินการอยู่ โดยลูกค้าเรามีช่วงอายุที่กว้าง มีตั้งแต่อายุ 25-50 ปี และมีทั้งผู้ชาย และผู้หญิง การขับขี่อันแท้จริง หรือ Pure Motorcycling คือ ปรัชญาของบแรนด์ของ Royal Enfield เราต้องการให้ลูกค้าของเราได้สัมผัสกับรูปแบบการขับขี่ที่ไม่เร่งรีบ เรียบง่าย และมีส่วนร่วมเป็นสังคมแห่งการขับขี่ ซึ่งเราเรียกประสบการณ์เหล่านี้ว่าเป็นการขับขี่ที่แท้จริง ซึ่งเรียบง่าย และเข้าถึงได้ไม่ยาก เรากำลังดึงดูดลูกค้า Younger ทั้งชาย และหญิงด้วยรุ่น Himalayan (หิมาลายัน) และ Twins (ทวินส์) เนื่องจากดีไซจ์นที่เป็นมิตรกับนักขับขี่ทุกกลุ่ม และราคาที่เข้าถึงได้ ผลิตภัณฑ์ของเราถูกออกแบบเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่รักการขับขี่ทุกช่วงวัย”
วิมัล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เชื่อมั่นในความพยายามในการสร้างบแรนด์ในทุกตลาด มันเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง และการสร้างบแรนด์นี่แหละ คือ การลงทุน รวมทั้งเชื่อมั่นในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงง่าย และโดนใจกลุ่มชาวไทยยุคใหม่ จึงเป็นเหตุให้ Royal Enfield ให้ความสำคัญกับดิจิทอลเป็นอันดับแรก มีการนำพแลทฟอร์มดิจิทอลมาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มการเข้าถึง และการรับรู้ถึงบแรนด์ ไม่ว่าจะเป็นบนพแลทฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟศบุค อินสตาแกรม ไลน์ หรือการนำเสนอบนเวบไซท์หลัก มีการทำการโฆษณาบแรนด์ และผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางดิจิทอลเหล่านี้ รวมทั้งเป็นบแรนด์ที่มุ่งมั่นมอบประสบการณ์ เราให้ความสำคัญอย่างมากกับการมีส่วนร่วมที่แท้จริง เช่น การให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์เป็นศูนย์กลาง พโรแกรมการดูแลหลังการขาย กิจกรรมการขับขี่รายสัปดาห์ รวมถึงการจัดฝึกอบรมการขับขี่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ และแฟนของบแรนด์ได้ทดสอบรถมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield ตัวอย่างบางส่วนที่สามารถอ้างถึงได้ เช่น งาน “Himalayan Trails” จัดเพื่อผู้ขับขี่ Royal Enfield Himalayan ได้มาสัมผัสความยอดเยี่ยมของมอเตอร์ไซค์ และ “Twins Weekend Rush” ซึ่งเป็นงานเน้นความสนุกสนาน และความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคมนักขี่มอเตอร์ไซค์
“จากการระบาดของโรค COVID-19 ตลาดรถ 2 ล้อโดยรวมได้ลดลง 22 % ในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2563 ตลาดได้เริ่มฟื้นตัวแบบเดือน/เดือนในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม เราคาดการณ์ว่าแนวโน้มจะดีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีปริมาณการขายใกล้เคียงกับผลดำเนินงานของปีที่แล้วด้วย Royal Enfield มียอดจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ในปี 2019 จำนวนกี่คัน และคิดว่าในปี 2020 จะเป็นอย่างไรเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นปีที่ค่อนข้างยากลำบาก เมื่อปีที่แล้วยอดขายมอเตอร์ไซค์ของเรา คือ 3,146 คัน ถือว่าเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มียอดขายที่ 1,487 คัน จากปีงบประมาณ 2561-2562 จนถึงปีงบประมาณ 2562- 2563 เราเติบโตเพิ่มขึ้น 112 % ปีนี้ถือเป็นปีที่คาดไม่ถึง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างไรก็ตาม เรากำลังมุ่งเน้นไปที่การขยายเครือข่าย และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของเราอย่างต่อเนื่องผ่านการส่งเสริมการตลาดด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านทั้งแบบ Above The Line และ Below the Line ตลอดจนมุ่งเสริมสร้างการบริการหลังการขาย และกระบวนการทางธุรกิจของเราให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”
“ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดของเราอยู่ที่ 5.5 % ในกลุ่มมอเตอร์ไซค์ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 250-750 ซีซี) ในประเทศไทย เรามียอดจอง 321 คัน ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ในขณะที่งานปีที่แล้วเรามียอดจองทั้งหมด 314 คัน นอกจากนี้ ในงานมอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมาเราได้เปิดตัว Royal Enfield Classic 500 Stealth Black (คลาสสิค 500 สเตลธ์ บแลค) สีใหม่ มาตรฐานไอเสียยูโร 4 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเช่นเดียวกัน สำหรับรุ่นที่ได้รับความนิยมที่มีการจองมาที่สุด คือ รุ่น Interceptor (อินเตอร์เซพเตอร์) รองลงมา คือ รุ่น Classic และ Himalayan สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดในประเทศไทยในปีต่อๆ ไป เรามีเป้าหมายหลัก คือ การขยายตลาดรถมอเตอร์ไซค์ขนาดกลาง และเราก็เริ่มเห็นความสนใจของลูกค้าที่ต้องการจะอัพเกรดมาใช้มอเตอร์ไซค์ของเรา ในขณะเดียวกัน Royal Enfield ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักขี่มอเตอร์ไซค์ที่นิยมเครื่องยนต์ซีซีสูง สำหรับแผนดำเนินงานของโรงงานประกอบ หรือ CKD ในประเทศไทย ของเราจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณหน้า คือ ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ปี 2564 แน่นอนว่าเราเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในความสำเร็จระดับภูมิภาคอาเซียน” มร. วิมัล กล่าว
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
บรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม รักการอ่าน ขอบงานเขียน ชอบพบปะผู้คน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารในวงการยานยนต์ไทย ท่องเที่ยว เป็นประสบการณ์ที่ดี พร้อมได้ เปิดโลก ได้พัฒนาตัวในแวดวงสื่อสารมวลชน
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตคอลัมน์ Online : ธุรกิจ (บก. ออนไลน์)