ดีเดย์ 5 เมย. นี้ วิ่งไหล่ทางบนทางด่วน "มีความผิด" ถูกปรับ 1,000 บาท หลังการทางพิเศษ ลุยติดกล้องสแกนรถในจุดเกิดอุบัติเหตุบ่อย พร้อมประสาน "ตำรวจ" ส่งหลักฐานภาพถ่ายถึงหน้าบ้าน !จากข้อมูลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่เก็บรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ในปี 2563 พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุบนทางพิเศษ (ทางด่วน) มากกว่า 800 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 440 คน เสียชีวิตถึง 7 ราย โดยสาเหตุของอุบัติเหตุ ร้อยละ 50 พบว่าเกิดจากการใช้ความเร็ว เปลี่ยนช่องทางจราจรกะทันหัน และวิ่งบนไหล่ทาง ดังนั้นเพื่อลดปัญหาจราจร และลดอุบัติเหตุ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจึงร่วมกับ กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดมาตรการคุมเข้มการใช้ความเร็ว และการวิ่งบนไหล่ทาง ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ลดอุบัติเหตุ และปัญหาการจราจร ด้วยกัน 2 มาตรการ คือ 1. ติดตั้งป้ายเเจ้งเตือนความเร็ว (Your Speed Sign) โดยป้ายแจ้งเตือนความเร็ว จะทำงานร่วมกับกล้องตรวจจับความเร็ว เพื่อให้ผู้ใช้ทางพิเศษ ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด โดยติดตั้งไปแล้ว 2 เส้นทาง คือ "ทางพิเศษบูรพาวิถี" จำนวน 4 จุด เเละ "ทางพิเศษเฉลิมมหานคร" จำนวน 5 จุด ส่วนในอีก 2 เส้นทาง อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งได้แก่ "ทางพิเศษกาญจนาภิเษก" (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 4 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2564 เเละ "ทางพิเศษฉลองรัช" จำนวน 4 จุด คาดว่าจะเเล้วเสร็จเดือนกันยายน 2565 รวมถึงมีการติดตั้งป้ายแจ้งเตือนความเร็ว และกล้องตรวจจับความเร็วทั้ง 4 เส้นทาง รวม 17 จุด 2. ติดตั้งกล้องตรวจจับรถวิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) เป็นการติดตั้งกล้องตรวจจับรถวิ่งไหล่ทางซ้าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณไหล่ทาง โดยตอนนี้ติดตั้งเสร็จไปแล้ว 1 เส้นทาง คือ "ทางพิเศษกาญจนาภิเษก" (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 10 จุด ส่วนอีก 3 เส้นทาง อยู่ระหว่างการติดตั้ง คือ 1. ทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 6 จุด 2. ทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 8 จุด และ 3. ทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 8 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ (2564) โดยเส้นทางเหล่านี้ เป็นเส้นทางที่พบการกระทำผิดบ่อยครั้ง จึงต้องติดตั้งกล้องเพื่อป้องปรามให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังไม่ทำผิดกฎหมาย โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมย. 64 เป็นต้นไป การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะส่งภาพถ่ายผู้กระทำผิดไปยังกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อดำเนินคดีต่อไป วิ่งบนไหล่ทางมีความผิด การขับรถบนไหล่ทาง ถือเป็นความผิดในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร "มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท" เพราะไหล่ทางมีไว้สำหรับ "กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน" เช่น รถพยาบาล หรือรถที่ประสบอุบัติเหตุจอดรอเจ้าหน้าที่ ผู้ขับขี่ทั่วไปจะวิ่งบนไหล่ทางไม่ได้ จะวิ่งได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจเปิดเป็นกรณีพิเศษ เช่น ช่วงจราจรติดขัด หรือชั่วโมงเร่งด่วน เป็นต้น ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ ตำรวจจราจรจะประสานไปยังการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งขอใช้ไหล่ทาง และงดเว้นการเอาผิดกับผู้ใช้ไหล่ทาง