คุณรู้หรือไม่ว่า ทุกๆ 2 นาทีจะมีรถ Ford Ranger (ฟอร์ด เรนเจอร์) ประกอบเสร็จจากสายพานของโรงงาน ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง หรือ เอฟทีเอม เพื่อส่งไปยังผู้แทนจำหน่ายของ Ford (ฟอร์ด) ใน 28 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
ตั้งแต่วินาทีแรกที่ Ford Ranger แต่ละคันเดินทางเข้าสู่สายพานจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิต พนักงานของ เอฟทีเอมทุกคนต่างทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานส่วนของตนให้ดีเยี่ยม เพื่อให้มั่นใจว่ารถกระบะทุกคันจะมีคุณสมบัติ และสมรรถนะตรงตามมาตรฐานระดับโลกของFord
ไม่เพียงการดูแลคุณภาพบนสายการผลิตเท่านั้น Ford ยังมีทีมงานตรวจสอบคุณภาพประจำอยู่ที่ศูนย์ประเมินรถยนต์ หรือ Vehicle Evaluation Centre-VEC ทำหน้าที่ตรวจสอบทุกขั้นตอนการผลิตให้ตรงตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพราะ Ford มีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ การส่งมอบรถกระบะคุณภาพที่ลูกค้าไว้วางใจ ให้เป็นเพื่อนร่วมทาง เพื่อการทำงาน เป็นรถของครอบครัว และตอบสนองไลฟ์สไตล์ด้านต่างๆ ได้ตลอดอายุการใช้งาน
ผู้ตรวจสอบคุณภาพมีหน้าที่อะไรบ้าง ?
ในทุกๆ วัน ผู้ตรวจสอบคุณภาพจะสุ่มเลือกรถ Ford Ranger ที่ผลิตใหม่ในแต่ละวันมาตรวจสอบคุณภาพโดยใช้การทดสอบ วัดผล และตรวจเชคหลากหลายขั้นตอน เพื่อความมั่นใจว่ารถที่ผลิตในแต่ละวันผ่านมาตรฐานอันเข้มงวดของ Ford
ทีมตรวจสอบคุณภาพซึ่งมีผู้ตรวจสอบที่มีประสบการณ์การทำงานด้านนี้มาโดยเฉลี่ยคนละมากกว่า 10 ปี ทำหน้าที่ดูแลการทดสอบที่สุดแสนหฤโหดมากมาย อาทิ
แต่ละวัน ผู้ทดสอบจะเลือกรถทุกรุ่น รุ่นละอย่างน้อย 1 คัน มาตรวจด้วยการใช้เลเซอร์วัดว่าล้อแต่ละล้อได้รับการติดตั้งอย่างสมมาตรหรือขนานกันหรือไม่ จากนั้นจึงส่งรถไปยังสนามทดสอบจริงเพื่อพิสูจน์ว่าพวงมาลัยของรถตั้งตรงตามค่าที่กำหนด และรถขับเคลื่อนไปข้างหน้าเป็นเส้นตรง ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง
จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจไฟหน้าอย่างละเอียด โดยผู้ตรวจสอบจะขับรถเข้าไปในพื้นที่ปิด ปราศจากแสงจากภายนอกเพื่อให้มีความมืดเพียงพอ เมื่อจอดรถตรงจุดที่กำหนดแล้ว จึงเปิดไฟหน้ารถ กล้องที่ติดไว้เหนือบริเวณที่ทดสอบจะแสดงให้เห็นว่าแสงจากไฟหน้าส่องไปในทิศทางที่กำหนด มีลำแสง และความสว่างสม่ำเสมอหรือไม่
ห้องโดยสารที่ปิดสนิทเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนถึง "ความประณีต" ในการประกอบรถ Ford Ranger และยังช่วยป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาในรถ
ผู้ตรวจสอบจะอัดอากาศเข้าไปในห้องโดยสารของ Ford Ranger คันที่ถูกสุ่มตรวจ เพื่อให้มั่นใจว่าขอบยางริมประตู และหน้าต่างรถ รวมถึงการหมุนเวียนอากาศของระบบปรับอากาศ จะป้องกันไม่ให้อากาศไหลเข้าออกได้ เมื่อมีการเติมอากาศเข้าไปในห้องโดยสาร ผู้ตรวจสอบจะต้องคอยจับตาดูระดับความดันภายในห้องโดยสาร เพื่อสังเกตว่ามีอากาศรั่วออกมาจากขอบประตู-หน้าต่างหรือไม่
หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการทดสอบคุณภาพรถ คือ การทดสอบความสามารถในการป้องกันการรั่วซึมของขอบสูญญากาศบริเวณประตู และหน้าต่าง ทีมผู้ตรวจสอบจะฉีดน้ำกว่า 17,000 ลิตรเข้าไปที่ตัวรถ และรถบางคันยังต้องผ่านการอัดน้ำแรงดันสูงต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 20 นาที เพื่อจำลองสถานการณ์ฝนกระหน่ำแบบที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ หลังจากปิดน้ำ ทีมงานจะต้องตรวจสอบทุกรายละเอียด เริ่มจากการตรวจด้วยสายตาเพื่อให้แน่ใจว่ากรอบไฟหน้า ไฟท้าย และไฟตัดหมอก ไม่มีน้ำรั่วซึม จากนั้นจึงเปิดประตูรถ และตรวจเชคขอบยางว่ามีน้ำเกาะหรือไม่ และยังมีการใช้เครื่องมือพิเศษตรวจสอบเพิ่มเติมบริเวณพรม และพื้นห้องโดยสารด้วย โดยเครื่องมือนี้จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อดักจับพบความชื้น
ในขั้นตอนสุดท้าย Ford Ranger จะต้องผ่านการจำลองประสบการณ์ลูกค้า หรือ Ford Customer Product Audit ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การทดสอบแบบไดนามิค หรือการทดสอบขับ และการทดสอบขณะจอด โดยใช้ประสาทสัมผัสของผู้ตรวจสอบ
ในการทดสอบแบบไดนามิค ผู้ตรวจสอบจะขับรถ Ford Ranger ไปตามเส้นทางที่กำหนดขึ้นโดยทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อทดลองใช้ทุกระบบบนรถ ตั้งแต่ระบบแจ้งเตือนขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงระบบช่วยขับขี่ระดับสูง (Advanced Driver-Assistance Systems)
ส่วนการทดสอบรถขณะจอดนั้น จำเป็นต้องให้ทีมผู้ตรวจสอบสัมผัสทุกพื้นผิวของรถด้วยตนเอง เพื่อหาจุดบกพร่องของตัวรถ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องมือพิเศษช่วยตรวจดูความสม่ำเสมอของรอยต่อตัวถังทั่วทั้งคัน และยังสอดส่องไปถึงห้องเครื่องเพื่อให้มั่นใจว่าทุกชิ้นส่วนติดตั้งมาตรงกับมาตรฐาน และมีความแน่นหนาพอ
“ลูกค้า คือ หัวใจในทุกขั้นตอนการทำงานของ Ford” คริส คอลลินส์ ผู้จัดการฝ่ายควบคุมคุณภาพ โรงงาน ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง กล่าว “เรามีเป้าหมายที่จะส่งมอบรถกระบะคุณภาพสูงให้สมกับที่ Ranger ได้รับสมญานามว่า "เกิดมาแกร่ง" เพื่อที่ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่เหนือระดับจากการขับรถ Ford Ranger และแบรนด์ Ford”