โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ETRAN PROM รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะคันแรกของโลก ได้รับรางวัล “Reddot Winner 2020 Innovative Product” จาก Red Dot Design Award ในประเภทผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยอดเยี่ยม และได้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย อันนำไปสู่การลดต้นทุน และสร้างมาตรฐานของรถไฟฟ้าสัญชาติไทยให้สามารถแข่งขันในประเทศได้เป็นอย่างดี
ส่วน ETRAN KRAF ที่มีการเปิดตัวในรุ่น Limited Edition ไปเมื่อปี 2562 มีการตอบรับที่ดี จากกลุ่มผู้รักการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ในปัจจุบัน ETRAN กำลังพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยบนท้องถนน และอรรถรสในการขับขี่เพิ่มเติม เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งาน และสังคม รวมถึงการพัฒนา การผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ตั้งเป้าส่งมอบรถรุ่นนี้ปลายปี 2564
ในปีนี้ ETRAN จะส่งรุ่นใหม่บุกตลาด เน้นกลุ่มขนส่งในรุ่น ETRAN MYRA รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ที่ออกแบบเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะ ระยะทางต่อการชาร์จ 180 กม. ทำความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนรองรับอุปกรณ์พิเศษ เช่น กล่องขนส่ง ตู้เย็น อุปกรณ์ติดตาม และระบบบริหารจัดการเครือข่ายขนส่งขนาดใหญ่ มาพร้อมระบบเปลี่ยนแบทเตอรีใน ETRAN Power Station ที่จะติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล 100 จุด มองเป้าหมายเติบโตไปกับภาคการขนส่ง Last mile delivery กว่า 10,000 คัน ภายในปี 2567 โดยตามแผนการดำเนินธุรกิจ ETRAN ในปี 2565 ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ประมาณ 400-500 ล้านบาท และในปี 2566 คาดว่ารายได้จะเติบโตก้าวกระโดดแตะ 1,000 ล้านบาทได้
ด้าน อาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังมีความพยายามพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กับภาคนโยบาย (Policy) เพื่อผลักดัน EV ในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ตลาด EV ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ภาครัฐเดินหน้านโยบายจริงจังผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) วางเป้าหมายผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียน (EV Hub) พร้อมทั้งวางเป้าหมายสนับสนุนให้มีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ EV ในประเทศจำนวน 1,800,000 คัน ภายใน 3 ปี 2. ภาคผู้ผลิต เริ่มมีรถ EV ในแผนการพัฒนา และผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการตลาดในประเทศมากขึ้น ซึ่ง ETRAN เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่พร้อมจะร่วมเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น EV Hub อย่างเต็มรูปแบบ 3. ภาคผู้บริโภค เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นประกอบกับเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจต่อศักยภาพของรถ EV และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้รถ EV ในภาพรวม
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ และเตรียมพร้อมรับโอกาสจากแนวโน้มตลาด EV ที่จะเติบโต ETRAN ได้วางแผนปรับองค์กร ก้าวจากสตาร์ทอัพสู่องค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบ ด้วยการวางแผน พัฒนาองค์กร และสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการ การเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต ด้วย ETRAN มีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเป็นเพียงผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำให้เกิดขบวนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
อนึ่ง ETRAN ได้เผยรายชื่อคณะกรรมการบริหาร (Board of Directors) เพิ่มเติมจำนวน 3 ท่าน ได้แก่
1. ศิโรตม์ เสตะพันธุ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Managing Partner บริษัท เอ็กซ์ฟอร์แม็ท จำกัด มีประสบการณ์ด้านการเงิน และการลงทุนมากกว่า 25 ปี เคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงการคลัง และบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด
2. ฐิติ ตวงสิทธิตานนท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ Dole Packaged Foods มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาธุรกิจ และการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มากกว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่งใน Coca-Cola, Mars, และ Royal Canin
3. ธันวา มหิทธิวาณิชชา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Partner บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด มีประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมาย และมาตรการภาษีมากกว่า 15 ปี เคยดำรงตำแหน่งใน บริษัท PricewaterhouseCoopers
ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเข้าทำรายการซื้อหุ้นสามัญใน บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 157,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 100 บาท ในราคา 382.22 บาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 35 % ของทุนจดทะเบียนของ ETRAN ด้วยมูลค่ารวม 60.20 ล้านบาท ซึ่งจะชำระค่าหุ้นสามัญของ ETRAN โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทในลักษณะการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) แทนการชำระด้วยเงินสด จำนวนไม่เกิน 31.5 ล้านหุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในราคาเสนอขายหุ้นละ 2.72 บาท คิดเป็นมูลค่า 60.20 ล้านบาท (Share Swap) โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนหุ้นเท่ากับ 1 หุ้นใหม่ของ ETRAN ต่อ 140.52 หุ้นใหม่ของบริษัท
ทั้งนี้ การเข้าลงทุนใน ETRAN สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ในการมองหาธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตเพื่อสร้าง New S-curve ซึ่งเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการ Growth Cycle ซึ่งการร่วมลงทุนครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น เป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ และต่อยอดจากธุรกิจเดิม อีกทั้งจะช่วยสนับสนุนให้ผลดำเนินการของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง และก้าวกระโดดได้ในอนาคต โดยคาดว่า ETRAN จะสามารถสร้างรายได้ และผลกำไรได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด
อาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR