ผ่านพ้นกันมา จะครบ 5 เดือนอยู่แล้ว รู้สึกเสมือนเป็นการช่วยชาติในปี 2564 เพราะได้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่ในแคมพ์คนงานก่อสร้าง ไม่มีการหยุดเชื้อ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อประจำวัน ยังอยู่ระดับเกิน 2,000 คน ทุกวัน ส่วนประชาชนผู้ให้การสนับสนุนการทำงานของแพทย์ และรัฐบาล ก็ยังคงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กันทั้งนั้นใน 4 เดือนแรกของปี มกราคม-เมษายน แม้ว่ายอดการผลิตรถยนต์นับแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2564 ผลิตทั้งสิ้น 570,188 คัน เพิ่มขึ้น 19.19 % แต่ยอดขายเพิ่มนิดเดียว 9.6 % ขายได้ 252,269 คัน เพราะลูกค้าที่จอง ขอเลื่อนการรับรถยนต์ไปก่อน เพราะไม่มั่นใจเรื่องรายได้ในอนาคตจากการระบาดของ COVID-19 รวมทั้งบริษัทปล่อยสินเชื่อก็เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนมีวันทำงานน้อย เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ภาคการผลิตส่วนใหญ่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้านี้ รวมทั้งการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนเมษายน อยู่ที่ 84.3 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทั้งการค้า การลงทุน การเดินทางท่องเที่ยว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่มาตรการ Work From Home ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาดูความคิดเห็นของกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ประธานกลุ่ม มองว่าการผลิตรถยนต์ในปี 2563 อยู่ที่ 1.42 ล้านคัน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2 ล้านคัน หรือลดลงเกือบ 30 % ขณะที่แผนการผลิตรถยนต์ในไทยปี 2564 คาดอยู่ที่ 1.5 ล้านคัน สูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย แต่จากภาพโดยรวมเศรษฐกิจและการตอบรับการจองรถยนต์จากงานแสดงรถยนต์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทำให้ไตรมาสแรกของปีนี้ การผลิตรถยนต์สูงขึ้นเฉลี่ยเกือบ 20 % และคาดการณ์ครึ่งปีก็เป็นไปตามนั้น แต่น่าเสียดายที่มาเจอการระบาดของ COVID-19 รอบล่าสุด ทำให้ยอดตกลงมา แต่ก็คงไม่ต่ำกว่าแผนรายปีที่วางไว้ตั้งแต่แรก คาดว่าจะกลับมาได้ที่ 2 ล้านคันอีกครั้ง ราวๆ ปี 2568 แต่การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ น่าจะกลับมาเทียบเท่าปี 2562 ภายในปี 2564-2565 นี้ อย่างไรก็ตาม การผลิตรถยนต์จะกลับไปที่ 2 ล้านคันได้ ส่วนหนึ่งจะต้องมีมาตรการกระตุ้นยอดขาย ซึ่งยอดผลิตชิ้นส่วนจะขึ้นอยู่กับการขายรถใหม่เป็นหลัก สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วย คือ มาตรการกระตุ้นยอดขายรถที่เคยเสนอไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีข่าวออกมาบ้าง เช่น รถใหม่ แลกรถเก่า เป็นต้น ขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็น Disruptive Technology ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างแท้จริง คือ ของเก่าไม่สามารถนำมาใช้กับของใหม่ได้ โดยที่ชิ้นส่วนรถไฟฟ้า หรือ ZEV จะมีน้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE เกือบ 10 เท่า ถ้ารถไฟฟ้ามาจริง ก็ต้องปรับตัวกันอย่างมากโดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วน ICE จำพวกเครื่องยนต์, อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องยนต์ เช่น กรองอากาศ กรองน้ำมัน ท่อไอเสีย หม้อน้ำ หรือแม้แต่เกียร์ ก็จะต้องปรับตัวเอง ผันไปทำงานอย่างอื่นแทน “ผมมองว่า จากเดิมที่เราผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพียงอย่างเดียว แต่จากนี้ไป อาจจะต้องทำหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน ซึ่งแม้ผู้ผลิตยังสามารถผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าได้ เช่น ตัวถัง กระจกเองก็ตาม ก็ยังต้องปรับตัวในส่วนของกระบวนการผลิตที่มุ่งไปที่ Industry 4.0 เปลี่ยนจาก Manual เป็นอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน” “ถามว่าแนวโน้มครึ่งหลังปีนี้ จะขยับตัวดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ยังไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ แต่ถ้าดูจากสถานการณ์การเร่งฉีดวัคซีนของทางราชการ และแนวร่วมทางเอกชน น่าจะช่วยให้การแพร่ระบาดลดลงได้ และถ้าดีขึ้นถึงขั้นเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวได้ คิดว่ายอดผลิตก็น่าจะดีกว่าแผนที่วางไว้ตั้งแต่แรก แต่ก็คงยังไม่เทียบเท่าปี 2562 ก่อนเกิด COVID” นั่นคือความเห็นของประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ยอมรับว่า ต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงการทำงานของผู้ผลิตชิ้นส่วน ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลก ที่มุ่งเน้นไปด้านรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนจะพัฒนากันอย่างไร จะเก็บเอามาเล่าให้ฟังในวันหลังครับ แต่ยังคง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ต่อไปอีกนานเชียวล่ะ