แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ยังไม่ฟื้นตัวจากโรคระบาด COVID-19 แต่สภาอุตสาหกรรมฯ ก็ยังยืนยันเป้าการผลิตปีนี้เอาไว้ที่ 1,550,000 คัน โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 800,000-850,000 คัน และผลิตเพื่อขายในประเทศ 750,000 คันแม้จะยืนยันเป้าหมายประจำปีเอาไว้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า ทั้งมีปัญหาต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น จากการขาดชิพและชิ้นส่วนของรถยนต์จากการระบาดของ COVID-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้ผลิตชิพและชิ้นส่วนรถยนต์ต้องปิดโรงงานชั่วคราว แต่กระนั้น การส่งออก กลายมาเป็นพระเอก เพราะทำได้เพิ่มขึ้น 3.78 % จำนวน 59,571 คัน ขณะที่ยอดการขายรถยนต์ในเดือนสิงหาคม ลดลงไป 38.8 % ขายกันได้เพียง 42,176 คันเท่านั้น ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน จากการ ลอคดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้ากังวลรายได้ในอนาคต จึงถอนมัดจำ และเลื่อนการรับรถ ประกอบกับมีการชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่นที่ยังมีการจองอยู่ แต่ขาดชิพและชิ้นส่วน จึงไม่สามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้ ขายได้ลดลง 38.80 % แต่เมื่อรวมมูลค่า การส่งออกรถยนต์ 8 เดือนที่ผ่านมา รวมทุกอย่างแล้ว มีทั้งสิ้น 63,194.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.24 % ที่พอมาช่วยกู้หน้าเอาไว้ได้บ้าง แต่กระนั้น ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ท่านรองนายก สุพัฒนพงษ์ ก็ออกมาชี้ว่า มาตรการภาษี-ไม่ใช่ภาษี หนุนรถ EV ในไทยเตรียมคลอดเดือนกันยายน เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจผลิต-ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เดินหน้าหนุนพลังงานสะอาดสั่ง สนพ. เร่งทำแผนพลังงานสะอาด 50 % ลดการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ในปี 2065-2070 หลังจากที่คณะทำงานเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลได้ทำงานมาระยะหนึ่งในเดือนกันยายน จะมีความชัดเจนเรื่องของมาตรการสนับสนุน ทั้งในเรื่องมาตรการภาษี และมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยจูงใจทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้รถให้มีความสนใจในการใช้รถ EV มากขึ้น ทั้งนี้เพราะ รัฐบาลมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาพลังงานสะอาด และลดการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่สอดคล้องกับทิศทางของนานาชาติ โดยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับล่าสุดได้มีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้ที่ 50 % ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปกำหนดแผนและรายละเอียดต่างๆ แบ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี และ 10 ปี โดยแผนนี้จะต้องสอดคล้องกับแผนลดการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065-2075 ที่เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยประกาศเป็นเป้าหมายในการลด CO2 ให้เป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป้าหมายที่ชัดเจน คือ จะเริ่มจากการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถ EV ในสัดส่วน 30 % ภายในปี 2030 และแผนนี้จะต้องสอดคล้องกับแผนลดการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065-2075 ที่เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยประกาศเป็นเป้าหมายในการลด CO2 ให้เป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ "แผนพลังงานชาติจะเน้นในเรื่องของพลังงานสะอาด แผนเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในเขตเมือง โดยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ยังเป็นการใช้แกสธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำที่สุด" ขณะเดียวกัน ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 4.0-5.0 % โดยมีแรงสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (3) แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และ (4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 อย่างไรก็ตามการขยายตัวจะดําเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และรอความชัดเจนของการใช้วัคซีนที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2564 โดยรถยนต์ คาดว่า จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1,800,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.57 % โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจําหน่ายในประเทศ ประมาณ 40-45 % และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 55-60 % ด้านรถจักรยานยนต์คาดว่า การผลิตจะทรงตัว คิดเป็นปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน ทั้งนี้ จากปริมาณการผลิตที่คาดการณ์ไว้ข้างต้น จะเป็นการผลิตเพื่อจําหน่ายในประเทศ ประมาณ 85-90 % และการผลิตเพื่อการส่งออก 10-15 % ก็ยังพอมีข่าวดีในข่าวร้ายให้ได้ชุ่มชื่นใจกันบ้าง ไม่ใช่เป็นข่าวร้ายไปเสียหมดทุกอย่าง