เชื่อว่าผลกระทบหนักจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ประชาชนจำนวนมากรายได้หดหาย จนไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ และค้างชำระในที่สุด “autoinfo.co.th” จะมาแนะนำทางออกหากผ่อนรถต่อไม่ไหว จะต้องทำอย่างไรให้จบหนี้1. ขายดาวน์ เป็นทางออกที่ได้รับความนิยม สำหรับผู้ที่ไม่สามารถผ่อนรถต่อได้ โดยการขายดาวน์ให้ผู้สนใจซื้อรถต่อ และเปลี่ยนชื่อในสัญญา (มีค่าเปลี่ยนสัญญา หรือบางแห่งอาจไม่ยอมให้เปลี่ยนสัญญา) แม้ราคาที่ได้อาจไม่เท่ากับเงินดาวน์ และค่างวดที่จ่ายไปแล้ว แต่ก็ไม่ต้องเจ็บตัวเพิ่ม เพราะหากโดนปล่อยยึด อาจต้องตามใช้หนี้ส่วนต่างอีกไม่น้อย และการขายดาวน์ยังทำให้ได้เงินก้อนมาหมุน และไม่ต้องเสียเครดิททางการเงิน แต่จะต้องระบุในสัญญาซื้อขายให้ชัดเจนว่า หลังจากนี้ผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีก 2. ขายรถ ยอมตัดใจขายรถ ซึ่งจะต้องไปติดต่อกับไฟแนนศ์ เนื่องจากเล่มทะเบียนรถอยู่ที่ไฟแนนศ์ โดยตกลงกันว่า ต้องใช้เงินเท่าไรในการปิดยอดสินเชื่อ จากนั้นจึงไปตกลงราคาขายกับผู้ซื้อ นำเงินมาปิดยอดที่ค้าง พร้อมโอนชื่อเจ้าของรถให้ผู้ซื้อ แม้จะดูยุ่งยาก แต่ก็เป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่าไม่น้อย 3. คืนรถ ไปเจรจากับไฟแนนศ์ เพื่อขอคืนรถ โดยจะต้องตกลงให้ชัดเจนว่าหากคืนรถแล้วจะต้องจ่ายอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ หากมีต้องจ่ายเท่าไร และทำสัญญาให้ชัดเจนว่าจะไม่รับผิดชอบอะไรอีกหลังจากนี้ ถ้าไม่มียอดค้างชำระ จะเป็นการคืนรถโดยไม่ผิดสัญญา ไฟแนนศ์อาจคิดค่าส่วนต่างเวลาที่ขายรถขาดทุนเท่านั้น *การคืนรถแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่าง ต้องมีข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ดังนี้ 1. ผู้เช่าซื้อต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นขอคืนรถกับผู้ให้เช่าซื้อก่อนผิดนัดครบ 3 งวด 2. ผู้ให้เช่าซื้อติดต่อตกลง และนัดหมายรับรถที่เช่าซื้อคืนจากผู้เช่าซื้อ และรับรถเช่าซื้อแล้ว 3. ผู้เช่าซื้อจะต้องไม่มีค้างชำระค่างวดเช่าซื้อ (เป็นลูกหนี้ชั้นดี ) 4. ไม่ปรากฏว่า ขณะที่ผู้ให้เช่าซื้อรับรถคืนแล้ว ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อภายหลัง “ถูกยึดรถ” ต้องเสียค่าส่วนต่างหรือไม่ ? เมื่อผ่อนรถไม่ไหว จนโดนไฟแนนศ์ยึดรถ หรือแม้เราจะคืนรถเอง คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า นอกจากจะเสียรถแล้ว ยังต้องเป็นหนี้ค่าส่วนต่างจากราคาขายต่อ กรณีนี้ เพจ “ทนายพี พัชรพล” ยืนยันว่า ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะหากคืน หรือถูกยึดรถตอนที่ยังค้างค่างวดไม่เกิน 3 งวดติดต่อกัน “ไม่ต้องเสียค่าส่วนต่าง” ตามตัวอย่างดังนี้ * ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่ 11 แบบนี้ไม่มีการค้างค่างวด และไม่เสียค่าส่วนต่าง - ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่ 12 จะมีการค้างค่างวดที่ 11 (1 งวด) ไม่เสียค่าส่วนต่าง - ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่ 13 จะมีการค้างค่างวดที่ 11, 12 (2 งวด) ไม่เสียค่าส่วนต่าง - ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่ 14 จะมีการค้างค่างวดที่ 11, 12, 13 (3 งวด) ไม่เสียค่าส่วนต่าง * ผ่อนมาได้ 10 งวด ถูกยึดรถก่อนถึง งวดที่ 15 จะมีการค้างค่างวดที่ 11, 12, 13, 14 (4 งวด) หากครบ 30 วัน ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว จะเสียค่าส่วนต่าง (ถ้าไฟแนนศ์มายึดรถก่อนครบระยะเวลา 30 วันตามหนังสือบอกเลิกสัญญา หากไฟแนนศ์ฟ้องมา ให้ยื่นคำให้การสู้คดี ผลลัพธ์ คือ ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่าง) แต่ถ้าค้างค่างวดเกิน 3 งวด จนถูกบอกเลิกสัญญา แล้วไม่นำรถไปคืนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ไฟแนนศ์สามารถติดตามยึดทรัพย์สินของผู้เช่าซื้อ และผู้ค้ำประกันได้ หลังฟ้องคดีต่อศาล และศาลตัดสินให้เจ้าหนี้ชนะคดีเท่านั้น ผ่อนชำระปกติ หรือจะพักชำระหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปว่าการผ่อนปรน คือ การเลื่อนชำระหนี้ออกไป ภาระหนี้จะยังคงอยู่ และในช่วงที่ผ่อนปรน ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ ซึ่งแต่ละคนอาจได้รับผลกระทบแตกต่างกัน และสามารถเลือกวิธีผ่อนชำระให้เหมาะสมกับรายได้ ซึ่งคนกลุ่มที่ยังพอมีศักยภาพ อาจเลือกชำระตามปกติเพราะจะช่วยให้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเติม หนี้ไม่เพิ่ม และบางธนาคารให้สิทธิพิเศษปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ มีสภาพคล่องไม่พอ แนวทางการเลื่อน หรือพักชำระหนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกสำหรับวิกฤตในช่วงนี้ ทางด้าน ดร. พีรภัทร ฝอยทอง ที่ปรึกษากฎหมาย และนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล แนะนำว่า สำหรับเจ้าของรถที่ยังผ่อนไหว แนะนำให้กัดฟันผ่อนต่อไป แต่ถ้าอยากลดภาระจริงๆ ควรใช้การรีไฟแนนศ์ เพราะจะช่วยลดดอกเบี้ย เนื่องจากปัจจุบันหลายธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว ดีกว่าพักชำระหนี้ชั่วคราว ซึ่งกลายเป็นดินพอกหางหมู และต้องกลับมาชำระเพิ่มภายหลังอยู่ดี อ่านเพื่มเติม : >>> รวมมาตรการพักชำระหนี้รถยนต์ ปี 2564 <<< : ผ่อนรถไม่ไหว ! ไปงานนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์ : ธปท. ช่วยลูกหนี้รายย่อย ผ่อนไม่ไหวคืนรถได้