อันนี้อันตรายของจริง ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ใน 10 จังหวัด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน คงไม่ต้องบอกว่าจะมีผลกระทบกับยอดการขายรถยนต์ประจำเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม อย่างไรกันบ้างก็ทำได้แค่ทำใจ เพื่อให้สามารถควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่บรรดาผู้บริหารราชการ กินเงินเดือนแพงๆ น่าจะมีความสามารถในการบริหารได้ดีกว่านี้ ตั้งแต่เริ่มเกิดคลัสเตอร์ แคมพ์คนงาน ทีแรกๆ เมื่อนานมาแล้ว พูดไปก็เท่านั้น ขนาดประกาศของหน่วยงานแต่ละแห่ง ยังซ้ำซ้อนกันก็เยอะ มาช่วยกันทำให้สุขอนามัยส่วนตัว รวมทั้งครอบครัว ให้สามารถลดการติดเชื้อลงไปจะดีกว่า มาดูเรื่องของเรา ที่ค่อนข้างจะเป็นข่าวดีบ้าง จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีทั้งสิ้น 140,168 คัน เพิ่มขึ้น 150.14 % เพิ่มขึ้นจากฐานต่ำเมื่อปีที่แล้ว ที่มีการลอคดาวน์ในเดือนเมษายน และห้ามจัดงานแสดงรถยนต์เมื่อปลายเดือนมีนาคม ปีที่แล้ว ทำให้สตอครถยนต์ในโชว์รูมยังมีจำนวนมาก บางบริษัทจึงยังไม่มีการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม แต่เมื่อคิดโดยรวม 5 เดือนของปี มกราคม-พฤษภาคม 2564 ผลิตทั้งสิ้น 710,356 คัน เพิ่มขึ้น 32.92 % แต่ที่ดีไปกว่านั้น คือ การส่งออกของเรา สามารถส่งออกได้ 79,479 คัน เพิ่มขึ้น 165.87 % ส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเพราะฐานที่ต่ำเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งประเทศคู่ค้า เริ่มมียอดขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น เช่น ออสเตรเลีย ขายรถยนต์ เพิ่มขึ้น 68.3 %, เวียดนาม ขายในประเทศเพิ่มขึ้น 34.1 %, ญี่ปุ่น ขายเพิ่มขึ้น 46.3 % อินโดนีเซีย ขายเพิ่มขึ้น 1,443 % เป็นต้น รวมแล้ว 5 เดือน มกราคม- พฤษภาคม ส่งออก 390,467 คัน เพิ่มขึ้น 29.94 % ขณะเดียวกัน คณะกรรมการร่วม กกร. มองว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังสดใส ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดที่มีความคืบหน้าด้านการกระจายวัคซีนอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เกือบ 40 % ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ต่อเนื่องจากในช่วง 4 เดือนแรกของปี ที่มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวขยายตัวได้มากกว่า 10 % โดย กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวในกรอบ 0.5-2.0 % ด้านการส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 5.0-7.0 % สิ่งที่ กกร. เป็นห่วง เหมือนกับภาคเอกชนรายอื่นๆ อีกเยอะ ก็คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว ไปพร้อมกับการเร่งแผนสนับสนุนการท่องเที่ยวตามรูปแบบของ Phuket Sandbox ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนเรียบร้อย และทยอยขยายขอบเขตไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป ซึ่งหากสามารถทำได้สำเร็จ เชื่อว่าจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ แทนที่จะเป็นไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ขณะที่การวิจัยและตรวจสอบของสถาบันต่างๆ อาทิ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พฤษภาคม อยู่ที่ 44.7 % จากเดือน เมษายน 2564 ซึ่งอยู่ที่ 46.0 % โดยดัชนีลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุก็เพราะยังมีความกังวล COVID-19 ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตต่อประชาชนและภาคธุรกิจ, การกระจายวัคซีน COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 1/2564 ติดลบ 2.6 % และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 เหลือโต 1.5-2.5 %, ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ, กังวลภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ, เงินบาทแข็งค่า อันที่จริง ไม่ต้องสำนักวิจัยที่ไหนจะมาบอกได้ง่ายไปกว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่ทำธุรกิจ ร้านอาหาร ที่เจอคำสั่งห้ามนั่งทานอาหารภายในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น เป็นเวลา 30 วัน ที่จำไม่ได้แล้วว่าเป็นรอบที่เท่าไร แค่นี้ก็หยิบเอาไปพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกันสบายๆ ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ, การฉีดวัคซีนในประเทศเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5 %, การส่งออกเดือนเมษายน ขยายตัว 13 %, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น รู้สึกว่าปัจจัยบวก จะมีน้อยไปหน่อย นะเนี่ย อย่าลืมรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บกันนะจ๊ะ