ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรน่า ก็ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อสภาอุตสาหกรรมฯ ปรับเป้าการผลิตของปี 2564 ที่แต่เดิมเมื่อตอนต้นปี ประกาศไว้ว่า ในปีนี้จะมียอดผลิตรถยนต์ เป็น 1,550,000-1,600,000 คัน และปรับเป้ายอดส่งออกรถยนต์ปี 2564 จากเดิม 750,000 คัน เป็น 800,000-850,000 คัน ส่วนยอดขายรถยนต์ปี 2564 ภายในประเทศคงเดิมที่ 750,000 คันแม้ว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้น จะยังคงเป็นความคาดหมายที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจในบางประเทศ เริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดัคเตอร์ก็ตาม ส่วนยอดขายในประเทศยังตั้งเป้าไว้คงเดิม 750,000 คัน ซึ่งน่าจะเป็นข่าวดีที่สุดของวงการในปัจจุบัน ขณะที่ยอดขายเดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 61,758 คัน เพิ่มขึ้น 15.07 % จากฐานต่ำเมื่อปีที่แล้ว ในการระบาดของ COVID-19 ยอดขายอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 ที่รุนแรงมากขึ้น มีการจำกัดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ และรถยนต์บางรุ่นผลิตไม่พอกับความต้องการ เพราะขาดชิ้นส่วน แต่เมื่อรวม 6 เดือน มกราคม-มิถุนายน 2564 ยอดขาย 373,193 คัน เพิ่มขึ้น 13.57 % มาลงในรายละเอียดกันว่า ชิ้นส่วนที่ขาดแคลนน่ะ คือ อะไร ในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้งานเซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญ เพื่อนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนชิพสำหรับอุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์ ที่จำแนกตามการใช้งาน มีอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง, อุปกรณ์ควบคุมการทำงานของรถยนต์ และระบบสาระบันเทิงภายในรถยนต์ ในโลกใบนี้ มีผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ รายใหญ่ จำนวน 17 ราย มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90 % ของตลาดเซมิคอนดัคเตอร์ ในปี 2563 และมี 7 ราย เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มียอดจำหน่ายสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 24 % ของยอดจำหน่ายทั้งหมดในโลกใบนี้ แต่ยังมีสาเหตุอีกหลายประการที่ทำให้เกิดการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวคือ ประการแรก ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 โรงงานผลิตยานยนต์ทั่วโลกได้หยุดการผลิตชั่วคราว เพื่อดำเนินการตามมาตรการลอคดาวน์ของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ทำให้คำสั่งซื้อเซมิคอนดัคเตอร์สำหรับยานยนต์ขาดช่วงไป ประกอบกับความต้องการใช้งานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอีเลคทรอนิคส์ที่กำลังเติบโต ทำให้ผู้ผลิตปรับสายการผลิตไปผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าอีเลคทรอนิคส์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้กับระบบ 5G คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเครือข่าย แต่เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ฟื้นตัวกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง แต่กระบวนการสั่งซื้อเซมิคอนดัคเตอร์ ต้องใช้เวลานานหลายเดือน ต้องการเวลาล่วงหน้าถึง 4 เดือน ในขณะที่ผู้ผลิตรายเดิมต้องการเวลาตั้งสายการผลิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 เดือน และหากผู้ผลิตรถยนต์ต้องการเปลี่ยนผู้ผลิตรายใหม่ ต้องใช้เวลาเตรียมการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี หรือมากกว่า วิกฤตการณ์ขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 เกิดไฟไหม้โรงงานในสหรัฐอเมริกา จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เกิดเหตุพายุหิมะถล่มรัฐเทกซัส ในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ระบบสาธารณูปโภคไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ผู้ผลิต 3 ราย ที่ตั้งโรงงานอยู่ในรัฐเทกซัส ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว และในเดือนมีนาคม 2564 ยังเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตอีกรายหนึ่ง ตามมาด้วยการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้รัฐบาลหลายประเทศดำเนินมาตรการจำกัด/ห้ามการเดินทางของผู้คน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทต้องหยุดลงชั่วคราว ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมชะลอตัวทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการลอคดาวน์ ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์ของ McKinsey.com ได้คาดการณ์ยอดขายเซมิคอนดัคเตอร์สำหรับการใช้งานในอุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์จะเติบโต 5-10 % เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่า อัตราการเติบโตเพิ่มเป็น 10-20 % ซึ่งเป็นตัวเร่งความขาดแคลนอีกทางหนึ่ง นั่นคือเหตุการณ์สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่บรรดา กูรู ทั้งหลายประเมินกันว่า ผลกระทบนี้ จะยืนยงไปจนถึงปลายปีหน้า 2565 จึงจะคลี่คลาย แต่แนวทางที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ การผลิตรถยนต์ที่ใช้เซมิคอนดัคเตอร์ให้น้อยที่สุด เรียกว่าถอดเอาอุปกรณ์สมัยใหม่ที่เกี่ยวข้อง ออกจากตัวรถ อย่างน้อยก็จะได้มีรถวิ่งออกจากสายการผลิตกันโดยเร็ว