ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงฯ ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจดทะเบียน ให้บริการรับจ้างผ่านแอพพลิเคชันเวบไซท์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเผยแพร่กฎกระทรวง รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดให้รถยนต์ หรือการนํารถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภท เป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การรับรองผู้ให้บริการ และแอพพลิเคชัน ที่จะนํามาให้บริการ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน (30 วัน) สาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ ได้แบ่งการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์เป็น 3 ประเภท คือ 1. ขนาดเล็ก มีกําลังในการขับเคลื่อนตั้งแต่ 50-90 กิโลวัตต์ 2. ขนาดกลาง มีกําลังในการขับเคลื่อนมากกว่า 90 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน 120 กิโลวัตต์ 3. ขนาดใหญ่ มีกําลังในการขับเคลื่อนมากกว่า 130 กิโลวัตต์ขึ้นไป ทั้งนี้ กรณีเป็นรถที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนต้องมีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กม./ชม. ทั้งนี้ ในการรับจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ ให้จดทะเบียนได้เพียงคนละ 1 คัน ขณะที่รถที่จะรับจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ ต้องเป็นรถที่มีประตูไม่น้อยกว่า 4 ประตู และต้องมีลักษณะเป็นรถเก๋ง 2 ตอน, รถเก๋ง 2 ตอนแวน, รถเก๋ง 3 ตอน, รถเก๋ง 3 ตอนแวน, รถยนต์นั่ง 2 ตอน, รถยนต์นั่ง 2 ตอนแวน, รถยนต์นั่ง 3 ตอน, รถยนต์นั่ง 3 ตอนแวน หรือรถยนต์ลักษณะอื่นตามที่อธิบดี ขบ. ประกาศกําหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ภายในรถต้องมีและใช้อุปกรณ์เครื่องสื่อสาร เพื่อการรับงานจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวรถ และผู้ขับรถ ระบบการแสดงตัวตนของผู้ขับรถ ระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า ระบบติดตามตัวรถ ระบบตรวจสอบเวลา และสถานที่รับส่ง และระบบแจ้งการร้องเรียน หรือขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ระบบอีเลคทรอนิคส์ดังกล่าวต้องดําเนินการโดยผู้ให้บริการระบบอีเลคทรอนิคส์ที่ ขบ. ให้การรับรอง และต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างน้อย 1 เดือน ตัวรถให้ใช้สีของตัวถังรถตามสีเดิมที่ปรากฏในใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ก่อนการจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ และให้มีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ในกรณีที่รถยนต์ครบอายุการใช้งาน 9 ปีแล้ว ให้เจ้าของรถนําใบคู่มือจดทะเบียนรถไปแสดงต่อนายทะเบียน เพื่อบันทึกหลักฐาน การระงับทะเบียน หรือเปลี่ยนประเภทรถ ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ครบอายุการใช้งาน ส่วนแผ่นป้ายทะเบียนรถของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ ได้มีการกำหนดให้มีขนาด ลักษณะ และสีเช่นเดียวกับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน โดยอาจให้ใช้แผ่นป้ายทะเบียน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนเดิมก็ได้ นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจสภาพรถตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 15 ทวิ รวมทั้งต้องรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งภายนอก และภายในตัวรถ อัตราค่าบริการ - รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอีเลคทรอนิคส์ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้กําหนดโดยถือเกณฑ์ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) แรก ไม่เกิน 50 บาท และ กม. ต่อๆ ไป กม. ละไม่เกิน 12 บาท ในกรณีที่ระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินสภาพการจราจรว่า ไม่สามารถเคลื่อนที่ หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัย ในอัตรานาทีละไม่เกิน 3 บาท ในส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสาร หรือระบบสื่อสารทางอีเลคทรอนิคส์ กําหนดได้ไม่เกิน 50 บาท และค่าบริการเพิ่มกรณีอื่น กําหนดได้ไม่เกิน 200 บาท - รถขนาดใหญ่ กำหนดค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร โดยถือเกณฑ์ระยะทาง 2 กม. แรก ไม่เกิน 200 บาท และ กม. ต่อๆ ไป กม. ละไม่เกิน 30 บาท ในกรณีที่ระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า ประเมินสภาพการจราจรว่าไม่สามารถเคลื่อนที่ หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัย ในอัตรานาทีละไม่เกิน 10 บาท ส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสาร หรือระบบสื่อสารทางอีเลคทรอนิคส์กําหนดได้ไม่เกิน 100 บาท และค่าบริการเพิ่มกรณีอื่นกําหนดได้ไม่เกิน 200 บาท อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารนั้น ให้เรียกเก็บตามจํานวนเงินซึ่งคํานวณโดยระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าที่ปรากฏในอุปกรณ์เครื่องสื่อสาร เพื่อการรับงานจ้าง โดยต้องแจ้งให้คนโดยสารทราบก่อนทําการขนส่งผู้โดยสารคนนั้น อ่านข่าวเพิ่ม : ครม. ไฟเขียว “รถส่วนบุคคล” วิ่งรับจ้างผ่านแอพพลิเคชันได้แล้ว !