คมนาคม เดินหน้าเร่งรัดเปิดให้บริการ M-Flow ทางด่วนไร้ไม้กั้น เริ่มทดสอบใช้ กย. นี้ คาดได้ใช้จริง ตค. 64กระทรวงคมนาคม ติดตามและเร่งรัดการพัฒนา และการเปิดให้บริการระบบ M-Flow ของกรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดย ทล. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 เพื่อแก้ไขปัญหารถติดหน้าด่าน โดยวางระบบให้สามารถบูรณาการกับ กทพ. ในการพัฒนา M-Flow ให้เป็นรูปแบบ และมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) ซึ่งเป็นระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติในรูปแบบการอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ ร่วมกับระบบการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (Automatic Vehicle Identification: AVI) ผู้ใช้รถยนต์สามารถขับขี่ผ่านบริเวณด่านฯ ที่จะมีการติดตั้งโครงเสาแขวนสูงเหนือศีรษะ (Overhead Gantry) พร้อมอุปกรณ์ระบบตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (AVI) ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ (Automated License Plate Recognition: ALPR) โดยไม่ต้องหยุด หรือชะลอรถ ขณะนี้การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ บน M-Flow Gantry ทั้ง 4 ด่าน (ด่านทับช้าง 1, 2 และด่านธัญบุรี 1, 2) การเชื่อมต่อข้อมูลกับทะเบียนรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบก และทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครองแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงกายภาพบริเวณช่องทาง การเชื่อมต่อระบบ M-Flow Back Office ทั้งนี้ ทล. จะมีการกำหนดกลยุทธ์ แนวทาง และแผนประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับระบบ M-Flow ภายใต้ภารกิจ “สร้างเอกลักษณ์ความเป็น M-Flow” “สร้างประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้าผู้ใช้งาน M-Flow” และ “สร้างความตระหนักรู้และจดจำ M-Flow” โดยจะทดสอบระบบลงทะเบียนการใช้บริการระบบ M-Flow ระหว่างวันที่ 24-30 กค. 64 จากนั้นจะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้บริการลงทะเบียนในช่วงกลางเดือน สค. 64 ก่อนดำเนินการทดสอบเสมือนจริงในเดือน กย. 64 และคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือน ตค. 64 สำหรับการพัฒนาระบบ M-Flow ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ระยะที่ 1 บริเวณทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 3 ด่าน (จตุโชติ, สุขาภิบาล 5-1 และสุขาภิบาล 5-2) ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกผู้รับจ้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในต้นปี 65 และระยะที่ 2 บริเวณทางพิเศษฉลองรัช บูรพาวิถี และกาญจนาภิเษก จำนวน 60 ด่าน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดขอบเขตงาน (TOR) คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในต้นปี 66 นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ ทล. และ กทพ. พิจารณาเพิ่มเติมช่องทางการลงทะเบียนระบบ M-Flow ให้มากขึ้น เช่น Modern Trade สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ชุมชน เป็นต้น และให้ ทล. วางระบบติดตาม และประเมินผลระบบ M-Flow รวมทั้งการบริหารจัดการจราจรเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ให้สำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันให้ ทล. เร่งรัดประชาสัมพันธ์การเปิดลงทะเบียน และเปิดใช้ระบบ M-Flow เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้แก่กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บริการอย่างชัดเจน รวมทั้งจัดทำโฆษณา/สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจในการใช้ระบบด้วย อีกทั้งให้ ทล. และ กทพ. พิจารณาเกี่ยวกับการตีเส้นสีเพื่อแบ่งระหว่างช่อง M-Flow กับ EasyPass/M Pass ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกัน รวมถึงการติดตั้ง Barrier/Guidepost เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้ช่องทาง M-Flow ได้อย่างถูกต้อง และไม่ให้เกิดการตัดกระแสการจราจรบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง นอกจากนี้ ยังให้ กทพ. พิจารณาการเปลี่ยนถ่ายจากระบบ EMV ไปเป็นระบบ M-Flow ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน และให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด