หน้าฝนแบบนี้ มักมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่าปกติ เพราะน้ำฝนจะฉาบผิวถนนจนลื่น และม่านฝนจะลดทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ลง ดังนั้น การเตรียมรถให้พร้อมจะช่วยให้เรารับมือกับฝนได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัยยิ่งขึ้นเปลี่ยนใบปัดน้ำฝน เติมน้ำยาฉีดกระจก ผู้ขับขี่ต้องตรวจสอบยางปัดน้ำฝน ว่าปัดแล้วไม่เกิดคราบน้ำบนกระจก เพราะหากเจอฝนตกหนัก คราบน้ำจะบดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ หรือเพื่อความมั่นใจ ให้เปลี่ยนยางใบปัดน้ำฝนใหม่ทุกปีเมื่อเข้าสู่หน้าฝน ส่วนน้ำยาฉีดกระจก ต้องหมั่นเติมให้เต็มตลอด และทำความสะอาดกระจกให้ใสอยู่เสมอ เวลาเจอน้ำฝนจะได้ไม่เป็นคราบสกปรก พร้อมทาน้ำยาเคลือบกระจก ช่วยป้องกันเม็ดฝนเกาะ เชคสภาพยาง ยางรถยนต์เพื่อรับมือหน้าฝนต้องอยู่ในสภาพดี โดยผู้ขับขี่ต้องตรวจสอบว่า เนื้อยางไม่แห้งแข็ง แก้มยางไม่ชำรุด และดอกยางยังหนา หากพบเนื้อแตกลายงา หรือดอกสึกจนเลยสะพานยาง ต้องเปลี่ยนใหม่ทันที และต้องเติมลมยางให้อยู่ในระดับที่ผู้ผลิตรถกำหนดเสมอ ตรวจสอบระบบเบรค ขับรถหน้าฝน เจอถนนเปียกลื่นบ่อยๆ ระบบเบรคสำคัญสุดๆ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ผู้ขับขี่ต้องหมั่นตรวจเชคความหนาของผ้าเบรค และตรวจสอบรอยรั่วของน้ำมันเบรคตามสาย และข้อต่อต่างๆ หากพบความผิดปกติให้รีบเปลี่ยนทันที เครื่องยนต์ก็ต้องเตรียมนะ ตรวจเชคเครื่องยนต์ให้พร้อมก่อนลุยฝน โดยตรวจเชคจุดต่อสายไฟ และอุปกรณ์ที่อาจเกิดความเสียหายจากน้ำ และความชื้นได้ เช่น คอยล์จุดระเบิด จานจ่าย สายหัวเทียน และกล่องอีเลคทรอนิคส์ ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้หรือไม่ มีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปทำความเสียหายได้หรือเปล่า และควรพกสเปรย์ครอบจักรวาลไว้ในรถ เพื่อกันความชื้นด้วยเสมอ ใส่ใจกับไฟส่องสว่าง เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุในช่วงหน้าฝน ผู้ขับขี่ต้องตรวจเชคให้ละเอียดว่า ระบบไฟส่องสว่างทั้งคัน ตั้งแต่ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรค ไฟเลี้ยว ไฟฉุกเฉิน ไฟตัดหมอก รวมถึงไฟห้องโดยสาร ทำงานครบถ้วนเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้าพบดวงใดชำรุด หรือไม่สว่างดังเดิม ต้องเปลี่ยนทันที เลิกเปิดไฟฉุกเฉินได้แล้ว ! สิ่งที่ต้องย้ำกันทุกหน้าฝน คือ ห้ามเปิดไฟฉุกเฉินวิ่งขณะฝนตก หลายคนอาจคิดว่า การเปิดไฟฉุกเฉินจะช่วยให้คันอื่นเห็นรถตัวเองง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริง การเปิดไฟฉุกเฉินวิ่งท่ามกลางสายฝน จะทำให้รถคันอื่นไม่สามารถรู้ได้เลยว่า รถของคุณจะเปลี่ยนเลน หรือจะเลี้ยวตอนไหน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้น แค่เปิดไฟหน้าเพื่อเพิ่มทัศนวิสัย และให้รถคันอื่นมองเห็นรถคุณง่ายขึ้นก็เพียงพอแล้ว ขับช้าๆ ยามฝนหนัก ขณะฝนตก เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ให้ขับช้าๆ อย่ารีบร้อน และไม่ขับชิดรถคันหน้ามากเกินไป เว้นระยะห่างสัก 10-15 เมตร ซึ่งการใช้ความเร็วต่ำจะทำให้ยางยึดเกาะกับพื้นถนนได้แนบสนิท และสมบูรณ์มากที่สุด ช่วยลดการลื่นไถล ถ้าฝนตกหนักจนมองไม่เห็นทาง ให้หาที่จอดที่ปลอดภัย รอจนฝนซาแล้วค่อยเดินทางต่อ ระวัง “เหินน้ำ” อาการรถเหินน้ำ (Hydroplaning หรือ Aquaplaning) มักเกิดเมื่อขับรถด้วยความเร็วสูงผ่านบริเวณแอ่งน้ำท่วมขัง ทำให้ยางไม่สามารถรีดน้ำออกจากหน้าสัมผัสได้ทัน ส่งผลให้ล้อหมุนลอยอยู่บนน้ำ ไม่สัมผัสกับพื้นถนน เป็นเหตุให้ผู้ขับไม่สามารถควบคุมรถ หรือเบรคได้ และมักเกิดได้บ่อยในขณะฝนตก และจะอันตรายมากที่สุดในช่วงที่ฝนเพิ่งตกไม่เกิน 10 นาที เนื่องจากน้ำจะผสมกับน้ำมัน และฝุ่น ที่ตกค้างอยู่บนผิวจราจร ทำให้ถนนลื่น และเกิดชั้นน้ำระหว่างพื้นถนนกับยางรถ รับมืออย่างไร เมื่อรถเหินน้ำ ! ผู้ขับจะรับรู้ได้ทันทีเมื่อเกิดการเหินน้ำ เพราะทิศทางของรถจะผิดปกติ เครื่องยนต์จะส่งเสียงดังขึ้น พวงมาลัยจะเบา และช่วงท้ายรถจะปัด ส่วนใหญ่ผู้ขับจะตื่นตระหนกกับเหตุการณ์นี้ และสัญชาตญาณจะสั่งให้เหยียบเบรค แต่การเหยียบเบรคยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลง ดังนั้น ต้องตั้งสติ ค่อยๆ ลดความเร็ว ด้วยการถอนคันเร่งช้าๆ และเปลี่ยนเกียร์ต่ำ ถ้าเป็นรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ลดและรักษาความเร็วให้คงที่ จับพวงมาลัยให้มั่นคง จนกว่ารถจะทรงตัวได้ จากนั้นจึงค่อยๆ เบรคจนรถหยุด อ่านเพิ่มเติม : "อาการเหินน้ำ" ภัยอันตราย ที่อย่ามองข้าม !
บทความแนะนำ