ครม. เห็นชอบปรับโครงสร้างภาษี "รถยนต์-มอเตอร์ไซค์" บีบขึ้นภาษีรถใช้น้ำมัน เพื่อให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกระทรวงการคลัง เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทั้งระบบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. การปรับลดเกณฑ์การปล่อย CO2 เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น 2. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท HEV และ PHEV ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV ซึ่งมีการพิจารณาถึงสมรรถนะของเทคโนโลยี PHEV ในเรื่องระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range : ER) โดยสามารถวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง และขนาดถังบรรจุน้ำมัน (Oil Tank) เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน 3. ทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท ICE, HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี 2569 ปี 2571 และปี 2573 ตามลำดับ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตรา 8 % เหลืออัตรา 2 % 4. การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ (Product Champion) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อย CO2 และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และยังส่งเสริมให้เกิดการใช้ และผลิตรถยนต์กระบะไฟฟ้า (BEV) ในประเทศโดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 0 เป็นการชั่วคราวจนถึงปี 2568 5. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภท ให้มีการติดตั้งระบบ Advanced Driver-Assistance Systems (ADAS) มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 2 ระบบ จาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ และรถยนต์กระบะ ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 1 ระบบ จาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 2 จาก 6 ระบบ รวมทั้งปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ แบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2569 และปี 2573 ตามลำดับเช่นกัน ด้านกรมสรรพสามิต เผยว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ จะทำให้รถยนต์ที่ยังใช้น้ำมันอยู่ต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะการลดการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลง เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ถ้าไม่มีการปรับตัวก็จะเสียภาษีแพงขึ้น ตัวอย่าง เช่น รถยนต์ Toyota Fortuner ปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ 1.7 ล้านบาท/คัน มีการปล่อย CO2 ที่ 150-200 กรัม/กม. ปัจจุบันเสียภาษี 30 % อัตราใหม่เสีย 29 % ทั้งนี้ ถ้าไม่มีการปรับลดการปล่อย CO2 ลง ในปี 2571 จะเสียภาษี 31 % และในปี 2573 จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น 33 % หรือภาษีจะปรับเพิ่มขึ้นรอบละ 2 % ส่งผลให้ราคาขายปลีกที่ 1.7 ล้านบาท จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 3.4 หมื่นบาท/รอบภาษี หากค่ายรถไม่มีการปรับเทคโนโลยีอะไรเลย คาดว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ จะเร่งปรับตัว ปรับเทคโนโลยี เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างภาษี และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในอัตราที่ต่ำลง ให้สามารถทำราคาสู้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยโครงสร้างภาษีแบบใหม่ จะคิดภาษีตามการปล่อย CO2 เท่านั้น แต่ไม่คิดการปล่อยค่า PM โดยคาดว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่จะมีผลหลังประกาศในราชกิจนุเบกษา ประมาณ 2 สัปดาห์นี้ อ่านเพิ่ม : ส่องมาตรการ ! ครม. หนุนใช้รถ EV ทั้งลดภาษี ให้เงินอุดหนุน
บทความแนะนำ