สภาองค์กรของผู้บริโภค เร่งบริษัทรถยนต์ 8 ยี่ห้อ เปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่ไม่ได้มาตรฐานจาก Takata หลังพบว่ามีรถยนต์ในไทยยังใช้งานถุงลมนิรภัยดังกล่าวกว่า 6 แสนคันสาเหตุ สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุว่า เหตุการณ์การเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยยี่ห้อ Takata เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งได้รับการยืนยันจากการชันสูตรว่าเกิดจากเศษโลหะของชิ้นส่วนถุงลมนิรภัยที่ตกมาตรฐาน และได้มีการเรียกคืนรถจำนวนเกือบ 100 ล้านคัน เพื่อเปลี่ยนถุงลมนิรภัยตั้งแต่ปี 2551 ส่วนในประเทศไทยมีการขายรถหลายยี่ห้อหลายรุ่น กว่า 1.7 ล้านคัน ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยดังกล่าว และได้มีการเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนถุงลมไปแล้ว แต่ยังมีรถถึง 6 แสนคัน ที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลม รถยนต์ 8 ยี่ห้อ มีอะไรบ้าง ทั้งนี้ จึงเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์ทั้ง 8 บริษัท ได้แก่ Honda BMW Nissan Toyota Mitsubishi Mazda Chevrolet และ Ford ที่ได้มีการขายรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยอันตรายยี่ห้อดังกล่าวในประเทศไทยมากว่า 10ปี เร่งดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค โดยไม่มีค่าใช้จ่าย การเรียกคืน สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก เผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้รับรายงานปัญหาถุงลมนิรภัยบกพร่องดังกล่าวตั้งแต่เริ่มมีข่าวการประกาศเรียกคืน (Recall) ในต่างประเทศ และจากการตรวจสอบพบรถที่มีถุงลมนิรภัยบกพร่องจำนวนทั้งสิ้น 1,725,816 คัน ในปี 2561 จึงร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ใช้รถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยที่บกพร่อง นำรถไปเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหลังจากมีการติดตามการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถแก้ไขชุดถุงลมนิรภัยไปได้จำนวน 1,045,336 คัน คิดเป็นร้อยละ 60.6 แต่ยังคงเหลือรถอีกจำนวน 680,480 คัน ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัย ปัจจุบันกำลังเตรียมดำเนินการในระยะที่ 2 คือ บูรณาการข้อมูลรถที่ยังไม่ได้แก้ไขชุดถุงลมนิรภัยเข้ากับฐานข้อมูลการชำระภาษีของกรมการขนส่งทางบก เมื่อรถที่อยู่ในข่ายต้องเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยทำการชำระภาษีผ่านช่องทางใดก็ตาม จะมีการแจ้งเตือนให้นำรถไปเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยเพื่อความปลอดภัย โดยคาดว่า ระบบจะสามารถใช้งานได้ภายในปลายปี 2565 นี้ ช่องทางตรวจสอบยี่ห้อถุงลมนิรภัย เจ้าของรถสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านเวบไซท์สภาองค์กรของผู้บริโภค https://www.tcc.or.th เวบไซท์ของกรมการขนส่งทางบก, เวบไซท์ www.checkairbag.com หรือนำรถเข้าไปที่ศูนย์บริการทุกสาขา หรือติดต่อผ่านฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ หรือติดต่อสายด่วน 1584 เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถุงลมนิรภัย Takata บรรจุสารแอมโมเนียมไนเตรท ถุงลมนิรภัยของ Takata เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 1990 มีลักษณะเป็นกล่องเหล็กขนาดเล็ก ภายในจะบรรจุสารสารแอมโมเนียมไนเตรท (Ammonium Nitrate) เป็นส่วนประกอบหลัก เนื่องจากขณะนั้นสารแอมโมเนียมไนเตรทมีราคาถูก และผลิตได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก แต่ Takata ไม่ได้สนใจเรื่องสภาพแวดล้อมภายในห้องโดยสาร ซึ่งมีทั้งความร้อน และชื้น แตกต่างกันไปทุกช่วงเวลา ทำให้สารเคมีที่บรรจุอยู่ภายในมีค่าไม่เสถียร เมื่อถุงลมนิรภัยทำงาน จะถูกจุดระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ชิ้นส่วนของถุงลมที่เป็นโลหะแตกตัว เป็นอันตรายต่อผู้ขับ และผู้โดยสารภายในรถ