ฮิเดอาคิ มิอุระ (Hideaki Miura) กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็คนิก้าไซเทค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลขับเคลื่อนอัตโนมัติรุ่นนี้ดัดแปลง และพัฒนาต่อยอดมาจากรถยนต์ไฟฟ้า เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันแรกของประเทศไทยที่ผลิตจากรถยนต์ไฟฟ้า 100 % ติดตั้งคันเร่งไฟฟ้าแบบ Drive By Wire รวมถึงกล้อง ระบบสร้างแผนที่ HD Map และเซนเซอร์อื่นๆ ใช้ซอฟท์แวร์ Autoware ทำให้รถสามารถวิ่งอัตโนมัติได้ พร้อมฟังค์ชันตรวจจับสิ่งกีดขวาง ชะลอความเร็ว เบรค หรือเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ
"กลุ่มเป้าหมายของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติรุ่นนี้ คือ ทุกคนที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม ซึ่งระบบสามารถนำไปใช้ได้กับยานพาหนะหลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่ใช้ในพื้นที่ส่วนตัว หรือพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงงานนิคมอุตสาหกรรมโรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว สนามบิน เหมืองแร่ เป็นต้น เพราะเป็นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องเป็นยานพาหนะแบบไหน หรือใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ลูกค้าสามารถออกแบบตามความต้องการใช้งาน เส้นทางการวิ่ง และคุณสมบัติที่ต้องการ ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย นับเป็นโมเดลการพัฒนายานยนต์ไร้คนข้บที่ยืดหยุ่นที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน"
ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทฯ มีการขยายตลาดสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในหลายจังหวัด ทั้งในรูปแบบของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์ขนาดเล็ก (Compact Car) รถกอล์ฟ รวมไปถึงรถบัส (Shuttle Bus) ที่ให้บริการในลักษณะของ Mobility as a service (Maas) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริหารเมือง และคนในชุมชนที่ได้ใช้งาน เราหวังว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือ และทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาครัฐ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ และมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้ประชาชน หรือภาคเอกชน มีความมั่นใจในการนำเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับนี้ได้รับความสะดวก และขยายไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับเมกาทเรนด์ทั่วโลกในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน
โครงการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหาาร และจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของรัฐบาลไทย ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าวในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ภายใต้งบประมาณสนับสนุน 17 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด บริษัทออกแบบพัฒนาผลิต และจำหน่ายรถ AGV สัญชาติไทย ผู้นำด้านระบบเคลื่อนที่ไร้คนขับ สำหรับธรุกิจอุตสาหกรรม คลังสินค้า โดย เจ็นเซิฟฯ รับหน้าที่เป็นผู้ทำการติดตั้งฮาร์ดแวร์ และระบบออโทเมชันอื่นๆ ทั้งหมดภายในรถยนต์ไร้คนขับ ทำให้การสั่งการระบบอัตโนมัติจากซอฟท์แวร์ (ออโทแวร์) สามารถเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างราบรื่นตามข้อกำหนดในการส่งมอบ ผลการทดสอบพบว่ารถยนต์สามารถขับเคลื่อนได้เองโดยสมบูรณ์ในระยะทางมากกว่า 100 กม. ด้วยความเร็วสูงสุด 40 กม./ชม.
วรีมน ปุรผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด กล่าวว่าความร่วมมือในการพัฒนายานยนต์อัตในมัติเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทฯ จะได้แสดงศักยภาพในฐานะผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมสร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำสมัยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ทั้งบุคคลทั่วไป และองค์กรต่างๆ ขณะที่ Macnica Cytech ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ขับขี่อัตในมัติที่มีบทบาท และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศไทย เชื่อว่าการผนึกกำลังของทั้ง 2 บริษัทฯ จะช่วยส่งเสริม และผลักดันการเติบโตของตลาดรถยนต์ไร้คนขับได้เป็นอย่างดี
ภาพรวมด้านความพร้อมของสินค้าที่จะออกสู่ตลาด การดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์อัตโนมัติ เป็นเรื่องที่เริ่มทำได้เลย เพราะในประเทศไทยปัจจุบัน มีรถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกนำมาดัดแปลงได้ทันทีหลายรุ่น ประกอบกับมีแหล่งผลิตชิ้นส่วน และเทคโนโลยีที่พร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเซกเมนท์รถยนต์นั่งสวนบุคคล ถือว่าปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่งในประเทศ หากมีความต้องการให้ผลิตเชิงพาณิชย์ก็พร้อมเดินหน้าได้ทันที ตัวเทคโนโลยีเองก็ยังเดินหน้าพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศ เชื่อว่าภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันสนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้พัฒนาไปอีกขั้น เพื่อให้เติบโต และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
บริษัท แม็คนิก้า ไซเทค (ประเทศไทย) จำกัด จะร่วมแสดงนวัตกรรมในงาน Future Mobility Asia Exhibition & summit 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) กรุงเทพฯ
นอกจากจะได้พบกับบูธของ บริษัท แม็คนิก้า ไซเทค (ประเทศไทย) จำกัด (MH34) แล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำ และองค์กรที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 100 ราย ร่วมแสดงสินค้า และจัดแสดงเทคโนโลยียานยนต์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต
ในส่วนจัดแสดงของ Macnica Cytech จะมีทั้งหมด 3 โซน ได้แก่ บูธ MH34 จะมีการฉายวีดีโอเกี่ยวกับรถอัตโนมัติที่บริษัทเคยพัฒนามา ซึ่งรวมถึงโครงการที่ญี่ปุ่นด้วย Mobility Hub จะจัดแสดงรถยนต์จริง และ Innovation Stage จะนำเสนอผลงานของวิศวกรซอฟท์แวร์ชาวฝรั่งเศสที่มาจากบริษัทแม่ (โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น) ผู้ซึ่งจะมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับ Autoware (ซอฟท์แวร์โอเพนซอร์ศที่ใช้ในรถอัตโนมัติ)