เป็นกระแสให้พูดถึงในบ้านเรา ที่เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่าประเทศไทยอาสาเป็นเจ้าภาพจัดแข่ง Formula E ในปี 2025 ซึ่งวันนี้เราจะไปทำความรู้จักรถแข่งพลังงานไฟฟ้า ที่ปราศจากมลพิษ ไร้เสียงรบกวน ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์
การแข่งขัน Formula E หรือ ABB FIA Formula E Championship คือ การแข่งขันรถล้อเปิดชิงแชมพ์โลก ที่นั่งเดี่ยว ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100 % ภายใต้การดูแลของสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) ซึ่งเป็นองค์กรเดียวกับที่ดูแลการแข่งขัน Formula 1 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนารถแข่งควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ใช้กำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ปราศจากมลพิษ และไร้เสียงเครื่องยนต์รบกวน โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นในปี 2011 ก่อนจะเริ่มจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี 2014 ประเดิมสนามแรกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และแข่งขันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
Formula E เป็นการประลองความเร็ว ที่ใช้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า 100 % จึงเป็นการแข่งขันแบบไร้มลพิษ ไม่ปล่อยควันเสีย และปลอดเสียงรบกวน ทำให้สามารถจัดการแข่งขันใจกลางเมืองได้สบายๆ (Street Circuit) และยังกลายเป็นไฮไลท์ดึงดูดผู้ชมที่หลงใหลในวงการมอเตอร์สปอร์ทเข้ามาเป็นจำนวนมาก แถมมีกระแสเติบโตจากบรรดาแฟนๆ ที่ติดตามทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว
เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2014 ที่การแข่งขันรถสูตรพลังงานไฟฟ้า Formula E ได้ถือกำเนิด และเริ่มต้นแข่งขัน โดยจุดเริ่มต้นมาจากความคิดร่วมกันของ ฌอง ทอดต์ (Jean Todt) ที่ตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นประธานสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) และอเลฮานโดร อาแกก (Alejandro Agag) นักธุรกิจชาวเสปน เขาทั้งสองจดบันทึกไอเดียนี้ลงบนผ้าเช็ดปากเมื่อปี 2011 ด้วยความเชื่อที่ว่าอยากเห็นวงการรถแข่งสร้างความยั่งยืนให้โลก ผ่านการใช้พลังงานสะอาด นอกเหนือไปกว่าการแข่งขันที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป
การแข่งขันรถยนต์สูตร 1 (Formula 1) เป็นการแข่งขันรถยนต์ประเภท 1 ที่นั่ง และเปิดล้อทั้ง 4 แข่งด้วยความเร็วสูงถึง 360 กม./ชม. กับเครื่องยนต์ที่ 18,000 รตน. การแข่งขัน F1 และ FE (Formula E) อยู่ภายใต้การควบคุมของ FIA
ข้อแตกต่างใหญ่ คือ Formula 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน Formula E ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างอีกหลายประการระหว่าง Formula 1 และ Formula E ไม่ว่าจะเป็นระบบการ Vote เพื่อเพิ่มกำลังรถแข่ง (Fan Boost) รวมถึงการอนุญาตให้ใช้รถได้คนละ 2 คันในการแข่งขันของนักขับ 1 คน
เป็นระบบโหวท ที่เปิดโอกาสให้แฟนๆ หรือผู้ติดตามทั่วโลกได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันว่าใครจะเป็นผู้ชนะ โดยสามารถโหวทให้นักแข่งที่ตนเองชื่นชอบ ผ่านเวบไซท์ของ FIA ก่อนเริ่มการแข่งขันประมาณ 2 สัปดาห์ โดยนักแข่ง 3 คนที่ได้รับคะแนนโหวทจากแฟนคลับมากที่สุด จะได้สิทธิพิเศษสามารถกดปุ่มบูสต์พลังงานไฟฟ้าจากแบทเตอรีเพิ่มขึ้นอีก 100 กิโลจูลส์ ขณะแข่งขัน แต่ก็จะใช้พลังบูสต์นี้ได้เพียง 5 วินาทีเท่านั้น
ระหว่างการแข่งขัน Formula 1 รถแข่งต้องเข้าพิทเพื่อเปลี่ยนยาง ตรวจสอบระบบต่างๆ รวมถึงเติมน้ำมัน ซึ่งต้องใช้เวลาเพียงน้อยนิดให้คุ้มค่า ก่อนออกไปแข่งต่อ แต่รถ Formula E ใช้พลังงานไฟฟ้า และไม่ต้องการให้เสียเวลา FIA จึงกำหนดให้นักแข่งแต่ละคน สามารถใช้รถแข่งได้ทั้งหมด 2 คัน ในการแข่งขันแต่ละสนาม ดังนั้น เมื่อแบทเตอรีของรถแข่งคันแรกใกล้หมด นักแข่งก็จะเอารถเข้าพิท แล้วเปลี่ยนเป็นรถคันที่ 2 ซึ่งชาร์จแบทเตอรีเต็มได้ทันที
รัฐบาลไทยต้องการปักหมุดประเทศไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน Formula E ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2025 พร้อมวางสังเวียนแข่งไว้ว่าจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อไม่นานมานี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ได้หารือกับ ฌอง ทอดต์ นักแข่งรถระดับโลก อดีตผู้บริหาร Ferrari และประธาน FIA เพื่อพูดคุยถึงวงการแข่งรถยนต์ รวมถึงการนำเอา Formula E เข้ามาจัดในประเทศไทย ซึ่งฌอง ทอดต์ก็สนใจถึงความร่วมมือดังกล่าว และพร้อมสนับสนุนการจัดการแข่งขันเต็มที่
เรียกได้ว่า เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไทยต้องรีบเดินหน้าเพื่อวางแผนในการนำเอาการแข่งขันมาแข่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยล่าสุดได้สำรวจไปแล้ว 2 สถานที่ คือ อุทยานหลวงสวนราชพฤกษ์ และสนามกีฬา 700 ปี ซึ่งมีความกว้างขวางเพียงพอจะดัดแปลงให้เป็นสนามแข่งรถ (Street Circuit) ความยาวต่อรอบการแข่งขัน 2-3 กม.
ข้ามฝั่งมาทางรถแข่งสูตร 1 หรือ Formula 1 ที่ชาวไทย และคอมอเตอร์สปอร์ท เตรียมรับข่าวดี เมื่อรัฐบาลไทยออกโรงเจรจาขอเป็นเจ้าภาพจัดศึกรถสูตร 1 ชิงแชมพ์โลกในบ้านเรา หลังเดินทางไปเยี่ยมชม สนามแข่งรถ Autodromo Enzo e Dino Ferrari ที่เมืองโบโลญา ประเทศอิตาลี และพบกับผู้บริหารสนาม (Formula One Group) โดยรัฐบาลไทยต้องการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ให้มีการแข่งขันกีฬาระดับโลก ซึ่ง Formula 1 ใน 1 ปี จะมีการแข่งขันกว่า 20 สนาม ตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก แต่ไม่เคยจัดขึ้นที่ไทย ดังนั้น จึงต้องการที่จะให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นที่ประเทศไทย
ทั้งนี้ หากได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสนามแข่งขัน จะใช้ที่ดินบริเวณอู่ตะเภา โดยรัฐบาลให้ความมั่นใจว่าไทยมีความพร้อมในการสร้างสนามแข่งขันอย่างเร็วที่สุด ในปี 2027 หรืออย่างช้าที่สุดปี 2028 และนอกจากจะมีการแข่งขัน Formula 1 แล้ว จะมีการจัดการแข่งขัน Formula 2 ซึ่งเป็นลีกรองลงมา ซึ่งมีการจัดการแข่งขัน 3 วันเช่นเดียวกัน รวมถึงนักแข่งประเภทเยาวชนอีกด้วย ขณะนี้ยังมีรายละเอียดเชิงลึกที่จะต้องหารือกัน และคอมอเตอร์สปอร์ท คงต้องรอติดตามข่าวดีกันอย่างใกล้ชิด