ผู้เชี่ยวชาญ เฉลยแล้ว "จอดรถตากแดด" ทำฟีล์มรถยนต์ติดไฟ ได้จริงหรือไม่ ?
จากกรณีไฟไหม้รถยนต์ ที่จอดตากแดดบริเวณหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ถนนเลียบชายหาดบางแสน ต. แสนสุข อ. เมืองชลบุรี จนมีควันไฟลุกออกมาจากกระจกหน้ารถยนต์ และเพลิงกำลังไหม้ภายในคอนโซลหน้ารถ ก่อนพลเมืองดีช่วยกันหาน้ำ และถังดับเพลิงมาช่วยกันดับไฟ ส่วนสาเหตุ ยังไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร อาจจะเป็นความร้อนจากแสงแดด ที่ฟีล์มติดรถยนต์หรือไม่ ?
ล่าสุด ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความรู้ประเด็นดังกล่าวผ่านทาง Facebook Jessada Denduangboripant ว่า ตากแดดร้อน จนไฟไหม้ฟีล์มรถ "อันนี้เป็นไปไม่ได้ครับ"
องค์ประกอบหลักของฟีล์มกรองแสงติดรถยนต์ มักจะเป็นพลาสติคประเภทโพลีเอสเตอร์ (polyester) ซึ่งถ้าจะติดไฟ จะต้องใช้อุณหภูมิประมาณ 450 องศาเซลเซียส เลยทีเดียว ที่เป็นไปได้มากกว่า คือ น่าจะมีของบางอย่าง วางไว้ตรงคอนโซลหน้า และเกิดลุกไหม้ติดไฟขึ้น จนกระจกหน้าแตกร้าว ทำให้ควันพุ่งออกมาด้านหน้า จนดูเหมือนว่าฟีล์มกระจกติดไฟเอง
จากภาพประกอบคลิพด้านในรถ ก็พบว่ามีการเผาไหม้รุนแรง จนทำให้คอนโซลหน้ารถกลายเป็นหลุมเลย (แต่รอฟังข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีอะไรตรงนั้นไหม) อย่างไรก็ตาม สิ่งของที่เคยมีรายงานว่าติดไฟเองในรถที่จอดตากแดดร้อนๆ ได้แก่ ไฟแชค เพาเวอร์แบงค์ สเปรย์กระป๋อง ลูกโป่งอัดแกส ฯลฯ สรุปแล้ว "ฟีล์มติดรถยนต์ จอดตากแดด ติดไฟเองไม่ได้ครับ"
บทความแนะนำ