มีผลแล้ว ! ประกาศเพิ่มเกณฑ์ตรวจปัสสาวะ-ตรวจเลือด ทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ นักดื่มเมาแล้วขับ
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเพิ่มวิธีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี่ พศ. 2567 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม ที่น่าสนใจ ดังนี้
สำหรับขั้นตอนการตรวจเมาแล้วขับ ยังคงเหมือนเดิม โดยการตรวจวัดจากลมหายใจด้วยเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจากการเป่าลมหายใจ และอ่านค่าของแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซนต์ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถทดสอบผู้ขับขี่ด้วยวิธีตรวจวัดจากลมหายใจได้ ให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี่โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มวิธีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่จากเดิม (ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ขับขี่ก่อนจึงจะดำเนินการได้) คือ
เจ้าพนักงานต้องจัดให้มีภาชนะที่เหมาะสมสำหรับเก็บตัวอย่างปัสสาวะพร้อมฝาปิดให้แก่ผู้ขับขี่ และจัดให้ผู้ขับขี่ขับถ่ายปัสสาวะในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว โดยมีการควบคุมการเก็บตัวอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งจะต้องให้ผู้ถูกตรวจสอบลงลายมือชื่อกำกับ จากนั้นเจ้าพนักงานจะส่งตัวอย่างปัสสาวะไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์
เจ้าพนักงานส่งตัวผู้ขับขี่ที่คาดว่าเมาแล้วขับ ไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงด้วยความรวดเร็วตามเวลาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดด้วยวิธีทางการแพทย์ ซึ่งต้องไม่เป็นอันตรายอย่างอื่นต่อร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลนั้น ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม
- ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ในผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ให้ถือว่าเมาสุรา
- ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สำหรับผู้ขับขี่ ซึ่งไม่ใช่ผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ให้ถือว่าเมาสุรา
สรุปแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่มีใบขับขี่ตลอดชีพแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ มีความผิดตามกฎหมาย เช่นเดียวกับกลุ่มที่อายุไม่ถึง 20 ปี หรือผู้ที่มีใบขับขี่ชั่วคราว หรือผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ถ้าแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ก็ถือว่าเมาแล้วขับต้องรับโทษตามกฎหมาย