ธุรกิจ
ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์
Motor Expo 2024 ปิดฉากสวย ดันยอดจองกว่า 5 หมื่นคัน
“มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” ร้อนแรงเกินคาด รถสันดาป ไฮบริด ยังฮิท รถไฟฟ้าตามติด จักรยานยนต์คึกคัก ผู้ชมกว่า 1.4 ล้านคน เงินสะพัด 5.5 หมื่นล้านบาท
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” เปิดเผยว่า “งาน Motor Expo 2024 ประสบความสำเร็จอย่างสูง และมีส่วนช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้ที่ซบเซาให้กลับมาคึกคัก พร้อมสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทย จึงขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้อุปถัมภ์ ผู้สนับสนุน ค่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้เข้าชมงานที่เมืองทองธานี และชมงานผ่านระบบออนไลน์”
สำหรับยอดจองรถในงาน แบ่งเป็นรถยนต์ 54,513 คัน จักรยานยนต์ 7,982 คัน และจากข้อมูลผู้ร่วมกิจกรรม “ซื้อรถ...ชิงรถ” พบว่า มีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่าปีที่แล้ว โดยเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ (สันดาป, ไฮบริด และพลัก-อิน ไฮบริด) 58.7 % และรถยนต์ไฟฟ้า 41.3 % รถยนต์ที่ผู้ซื้อเข้าร่วมกิจกรรมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Honda (ฮอนดา), BYD (บีวายดี), Toyota (โตโยตา) ส่วนรถเครื่องยนต์ที่มียอดจองสูงสุด ได้แก่ Honda, Toyota, Ford (ฟอร์ด) ด้านรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่มียอดจองสูงสุด ได้แก่ BYD, Aion (ไอออน), Geely (จีลี)
นอกจากนั้น ประเภทรถที่ได้รับความสนใจแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) 60.9 % รถเก๋ง 14.2 % รถท้ายลาด 12.0 % รถอเนกประสงค์ 6.9 % รถกระบะ 5.5 % และอื่นๆ 0.5 %
รถจักรยานยนต์ ที่ผู้ซื้อเข้าร่วมกิจกรรม “ซื้อมอเตอร์ไซค์...ชิงบิกไบค์” สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ Zontes (ซอนเทส), EM (อีเอม), Royal Alloy (รอยัล อัลลอย), Yamaha (ยามาฮา) และ Triumph (ทไรอัมฟ์)
ราคาเฉลี่ยของรถยนต์ที่ขายได้ในงาน 1,259,928 บาท รถจักรยานยนต์ ราคาเฉลี่ย 191,063 บาท เงินหมุนเวียนในงานราว 5.5 หมื่นล้านบาท ผู้เข้าชมงาน 1,426,044 คน ยอดดาวน์โหลด Motor Expo Application 30,808 คน และมีผู้ชมงานออนไลน์ 2,476,001 วิว
ด้านอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง และ Join Boat Platform สร้างยอดเงินสะพัด รวมกว่า 30 ล้านบาท ส่วนแพคเกจ Motor Expo Exclusive Visitor ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ชมงานระดับวีไอพีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นอย่างมาก
พบกันใหม่ในงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 42” อย่าพลาดติดตามรายละเอียดที่ motorexpo.co.th และทุกสื่อในเครือ “IMC สื่อสากล”
....................................................................................................................
6 ที่สุด ในงาน Motor Expo 2024
Motor Expo 2024 ปีนี้เเต่ละค่ายระดมรถยนต์ รถไฟฟ้า รวมไปถึงมอเตอร์ไซค์ และสิ่งที่น่าสนใจมาไว้ในงาน เมื่อเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแบบนี้ เราขอรวบรวม "6 ที่สุด" ในงานมาฝากกันสักหน่อย จะมีอะไรบ้างไปดูกัน…
รถเเพงที่สุด
แพงที่สุดในงานต้องยกให้ Mercedes-AMG G-Class G63 4x4 Squared (เมร์เซเดส-เอเอมจี จี-คลาสส์ จี 63 4x4 สแควร์) กับค่าตัว 30,200,000 บาท พวงมาลัยซ้าย ที่ถูกจับมาปรับโฉมให้เป็นสายลุย เครื่องยนต์เบนซิน V8 สูบ 4.0 ลิตร 3,982 ซีซี กำลังสูงสุด 585 แรงม้า ที่ 6,000 รตน.
มอเตอร์ไซค์เเพงที่สุด
รถมอเตอร์ไซค์แพงที่สุดในงานต้องยกให้ Harley-Davidson Road Glide ST (ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน โรด กไลด์ เอสที) ที่มาพร้อมดีไซจ์นดุดัน และสง่างาม มีสมรรถนะเชิงอากาศพลศาสตร์ และความสะดวกสบายของผู้ขับขี่ เครื่องยนต์ Milwaukee-Eight 121 high output 1,977 ซีซี ความเร็วยกระดับขึ้นไปถึง 5,900 รตน. ราคาอยู่ที่ 3,153,500 บาท
เร็วเเรงที่สุด
รถที่ขึ้นชื่อว่าเร็วแรงที่สุดในงาน ตำแหน่งนี้ตกเป็นของ Zeekr 001 FR (ซีเคอร์ 001 เอฟอาร์) รถยนต์ไฟฟ้าสไตล์สปอร์ทสมรรถนะสูง มาพร้อมมอเตอร์ Silicon Carbide E-Motor 4 ตัว พละกำลังสุดเร้าใจ 1,300 แรงม้า ทำความเร็ว 0-100 กม./ชม. ภายในเวลาเพียง 2.02 วินาที ขึ้นแท่นรถที่แรงที่สุดในงาน
รถยนต์ที่มีอายุมากที่สุด
ตำแหน่งนี้ตกเป็นของ Austin Seven (ออสติน เซเวน) ที่จัดแสดงภายในบูธรถโบราณ เป็นรถ 2 ประตู เปิดประทุนคันจิ๋ว จากประเทศอังกฤษ เครื่องยนต์ 747 ซีซี ผลิตเมื่อปี 1929 ภายนอกรูปทรงเรียบง่าย ผลิตด้วยเหล็กเหนียว และอลูมิเนียมแผ่น ประกอบบนโครงไม้แอช เบาพิเศษ เป็นรถที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และรถแข่งของชาวอังกฤษยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ 1
สองล้อขนาดเล็กที่สุด
รถขนาดเล็กที่หลายคนต้องสะดุดตา ต้องให้ Felo M1 (เฟโล เอม 1) มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ที่โดดเด่นด้วยการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ มีฟังค์ชันการใช้งานที่หลากหลาย โครงสร้างทำจากอลูมิเนียม และมีน้ำหนักเบาเพียง 45 กก. แบทเตอรี 48V20Ah กำลังมอเตอร์ขนาด 700 วัตต์ ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 45 กม./ชม.
รถคันใหญ่ที่สุด
BYD eMIXER T25 รถผสมคอนกรีท หรือรถโม่ปูนไฟฟ้า ที่มาพร้อมกับขนาดใหญ่โตอลังการ ห้องโดยสารสามารถปรับได้ด้วยระบบไฟฟ้า และไฮดรอลิค ระบบกันสะเทือน และเหล็กกันโคลง ชาร์จ DC ได้ 2 หัวพร้อมกัน ใช้เวลาชาร์จ 1 ชม. เต็ม ครบเครื่องที่สุด และเป็นรถที่ใหญ่ที่สุดในงาน
......................................................................................................................
Toyota ประกาศเปลี่ยนถุงลมฟรี
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ติดตามผลการติดต่อรถยนต์ของ Toyota (โตโยตา) จำนวน 5 รุ่น และรถยนต์ Lexus (เลกซัส) จำนวน 1 รุ่น ที่อยู่ในข่ายร่วมกิจกรรมรณรงค์การบริการพิเศษ ซึ่งบริษัทฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อติดตามลูกค้าให้นำรถยนต์ที่อยู่ในข่าย เข้ารับบริการตรวจสอบ และเปลี่ยนชิ้นส่วนชุดถุงลมเสริมความปลอดภัยของผู้โดยสารด้านหน้าที่ผลิตโดย Takata (“ชุดถุงลมเสริมความปลอดภัยฯ”) จากกรณีพบการทำงานบกพร่องของชุดถุงลมเสริมความปลอดภัยฯ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของผู้โดยสาร อันเป็นมาตรการเชิงป้องกันเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของลูกค้า Toyota
จากการตรวจสอบผลการติดตามในปัจจุบัน บริษัทฯ พบว่า ยังมีลูกค้าอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำรถยนต์ที่อยู่ในข่าย มาเข้ารับบริการตรวจสอบ และเปลี่ยนชิ้นส่วนชุดถุงลมเสริมความปลอดภัยฯ ตามกิจกรรมรณรงค์การบริการพิเศษนี้ โดยมีรุ่นรถ ยนต์ที่อยู่ในข่ายซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสอบ และเปลี่ยนชิ้นส่วนชุดถุงลมเสริมความปลอดภัยฯ ประกอบด้วย
1) Toyota Alphard รุ่นปี 2008-2014
2) Toyota Camry รุ่นปี 2001-2006
3) Toyota Altis รุ่นปี 2001-2013
4) Toyota Vios รุ่นปี 2003-2004 และรุ่นปี 2007-2013
5) Toyota Yaris รุ่นปี 2006-2013
6) Lexus IS รุ่นปี 2006-2012
(โปรดตรวจสอบว่ารถยนต์ของท่านอยู่ในข่ายของกิจกรรมรณรงค์การบริการพิเศษนี้หรือไม่ จากหมายเลขตัวถังของรถยนต์อีกครั้ง)
สำหรับกิจกรรมรณรงค์การบริการพิเศษนี้ บริษัทฯ ได้จัดเตรียมชุดถุงลมเสริมความปลอดภัยฯ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ใหม่ ที่ได้รับการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ไว้สำหรับให้บริการลูกค้าที่ศูนย์บริการมาตรฐานทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา เพื่อให้บริการรถยนต์ที่อยู่ในข่ายที่ต้องได้รับการตรวจสอบ และเปลี่ยนอะไหล่ โดยลูกค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการแต่อย่างใด
บริษัทฯ จึงขอเชิญชวนลูกค้าที่ยังไม่ได้นำรถยนต์เข้ารับรับบริการตรวจสอบ และเปลี่ยนชิ้นส่วนชุดถุงลมเสริมความปลอดภัย ฯ ตามกิจกรรมรณรงค์การบริการพิเศษนี้ สามารถนัดหมายเพื่อเข้ารับบริการ ได้ที่ศูนย์บริการ Toyota ศูนย์บริการ Lexus และ Lexus Corner (สำหรับรถยนต์ Lexus) ที่ลูกค้าสะดวกทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
......................................................................................................................
บอร์ด EV เคาะมาตรการลดภาษีหนุน HEV-MHEV เปิดประตูเข้า EV 3.5
มาตรการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างสมดุล
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงนโยบาย และมีมติเห็นชอบในส่วนของมาตรการของรถยนต์พลังงานใหม่ถึง 2 เรื่อง ได้แก่ 1. มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับผลิตรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) และ 2. การขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 โดยให้สามารถโอนไปผลิตชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการ EV 3.5 และระงับการให้เงินอุดหนุน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบถ้วน โดยทั้ง 2 มาตรการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสมดุลการแข่งขัน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิต และส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกในทุกประเภท” ในระยะยาว
กำหนดภาษีใหม่เริ่มใช้เป็นเวลา 7 ปี
สำหรับ “มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” บอร์ดอีวี ได้เห็นชอบการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบ HEV และ MHEV ซึ่งผลิตในประเทศ
1. มาตรการสนับสนุนรถยนต์ HEV กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ ตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569-2575) ตามมติบอร์ดอีวีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยมีอัตรา และเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้
1.1 ต้องมีการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร
- การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6
- การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101-120 กรัม/กิโลเมตร กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9
1.2 ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัทในเครือไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567-2570
1.3 ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิต หรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบทเตอรีที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2571 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น ได้แก่ Traction Motor, Reduction Gear, Inverter แต่หากลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง ร่วมกับกลุ่มมูลค่าปานกลางได้ เช่น BMS, DCU, Regenerative Braking System เป็นต้น
1.4 ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ ดังนี้ ระบบเบรคฉุกเฉินขั้นสูง, ระบบเตือนการชนด้านหน้า, ระบบดูแลในช่องจราจร, ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจร, ระบบตรวจจับจุดบอด และระบบควบคุมความเร็ว
2.มาตรการสนับสนุนรถยนต์ MHEV ซึ่งเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง และไฟฟ้า โดยมีแรงดันไฟฟ้าในการขับเคลื่อนต่ำกว่า 60 โวลท์ และอาศัยเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเซกเมนท์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตในระดับโลก บอร์ดอีวีได้กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ ตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569-2575) โดยมีอัตรา และเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้
2.1 ต้องมีการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร
- การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10
- การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101-120 กรัม/กิโลเมตร กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 12
2.2 ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567-2569 และไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567-2571
2.3 ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิต หรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบทเตอรีที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Traction Motor หรือชิ้นส่วนที่มีลักษณะการทำงานเพื่อเสริมแรงขับเคลื่อน ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป
2.4 ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ เช่นเดียวกับเงื่อนไขของ HEV
ไฟฟ้าล้วน ยันไม่อนุมัติให้ขยายเวลามาตรการ
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบทเตอรี (BEV) บอร์ดอีวีได้พิจารณาเรื่อง “การขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3” ซึ่งเป็นข้อเสนอจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้พิจารณาขยายเวลาเงื่อนไขการผลิตชดเชยสำหรับผู้ผลิตที่ได้รับเงินสนับสนุนตามมาตรการ EV3 ซึ่งเดิมกำหนดว่าต้องผลิตให้ครบถ้วนตามสัญญาภายในปี 2567-2568 เนื่องจากยอดขายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะหดตัว จากปัญหาความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
ทั้งนี้ได้หารือข้อเสนอดังกล่าว โดยพิจารณาสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทยในปัจจุบันที่อาจมีความเสี่ยงจากภาวะอุปทานล้นตลาด (Oversupply) ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามราคาที่รุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ บอร์ดจึงมีมติให้ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการ EV3 ที่เดิมกำหนดให้ต้องผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1:1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 1 คัน) ภายในปี 2567 หรือ 1:1.5 เท่า ภายในปี 2568 โดยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ไปผลิตชดเชยภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ EV3.5 ได้ (ผลิตชดเชย 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือ 3 เท่า ภายในปี 2570) โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการขยายเวลาข้างต้นจะไม่ได้รับเงินอุดหนุน รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าในส่วนที่นำเข้า หรือผลิตภายใต้มาตรการ EV 3.5 ก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนเช่นเดียวกัน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบตามจำนวนที่ได้รับสิทธิขยายเวลา และอนุญาตให้นำรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่นำเข้าภายใต้ EV3 ที่ยังไม่จำหน่าย ส่งออกไปต่างประเทศโดยไม่นับเป็นยอดที่ผลิตชดเชย
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาข้อเสนอการขอขยายเวลาการผ่อนผันให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ซึ่งต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศมากกว่าร้อยละ 40 สามารถนับมูลค่าเซลล์แบทเตอรีที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นมูลค่าของชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2568 เป็นสิ้นสุดในปี 2570 โดยบอร์ดอีวีมีมติไม่อนุมัติให้ขยายเวลามาตรการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเร่งให้เกิดการผลิต และใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และนโยบายเร่งดึงดูดให้เกิดการลงทุนผลิตแบทเตอรีระดับเซลล์ในประเทศไทย
บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตรถยนต์ BEV แบทเตอรี และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมเงินลงทุนกว่า 81,000 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการ EV3 และ EV 3.5 โดยกรมสรรพสามิต มีผู้เข้าร่วมมาตรการจำนวน 26 บริษัท คิดเป็นจำนวนยานยนต์ทุกประเภทรวมกันกว่า 133,000 คัน สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ในช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม 2567) มีจำนวน 59,746 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จดทะเบียน 21,657 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน