ธุรกิจ
กระทรวงคมนาคม รณรงค์ป้องกัน และลดอุบัติเหตุ
กระทรวงคมนาคม จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 “สงกรานต์สุขใจ เดินทางสะดวก ปลอดภัย บนโครงข่ายคมนาคม” ผนึกกำลังทุกหน่วยงานในสังกัด เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน
กระทรวงคมนาคม จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 “สงกรานต์สุขใจ เดินทางสะดวก ปลอดภัย บนโครงข่ายคมนาคม” สาธิตการปฏิบัติงานของจุดบริการที่กรมการขนส่งทางบกบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ บริเวณด้านหน้าอาคารศูนย์นวัตกรรมฯ เช่น “อาชีวะ-ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน” บูรณาการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้บริการตรวจสภาพ และซ่อมแซมยานพาหนะในกรณีฉุกเฉิน ให้คำแนะนำเส้นทาง รวมถึงจัดเตรียมน้ำดื่ม ชา กาแฟ ผ้าเย็น เตียงพักผ่อนแก่ผู้ที่อ่อนเพลียจากการขับขี่ยานพาหนะ 150 จุดทั่วประเทศ และกิจกรรม “ตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัย” บูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ให้บริการเชคความพร้อมของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ให้ประชาชนฟรีกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ
สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งยกระดับการเดินทางของพี่น้องประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ให้มีความปลอดภัย และประทับใจในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ โดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินการอย่างเข้มข้นในทุกมิติ บูรณาการระบบขนส่งทั้งทางถนน และทางราง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และถึงที่หมายอย่างปลอดภัย สำหรับเทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้ แบ่งการดำเนินการเป็น 2 มิติสำคัญ ประกอบด้วย
1) มิติด้านการอำนวยความสะดวก และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน เป้าหมาย คือ ประชาชนต้องได้เดินทางทุกคน ไม่มีใครตกค้าง ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหารถโดยสาร และขบวนรถไฟเสริมให้เพียงพอ รวมถึงดูแลการเดินทางให้เกิดการเชื่อมต่อระบบโดยสารสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้า รถประจำทาง ขสมก. แบบไร้รอยต่ออย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละสถานี เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารการเดินทาง และรับเรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งลดภาระค่าโดยสาร 10 % ทุกเส้นทางทั่วประเทศ ให้แก่ประชาชนที่เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ในช่วงเวลาตามมาตรการไปก่อน-กลับทีหลังของกระทรวงคมนาคม
2) มิติด้านความปลอดภัย ดำเนินมาตรการคุมเข้มตรวจความพร้อมของยานพาหนะที่จะนำมาให้บริการประชาชน ตรวจสอบสภาพรถโดยสาร ตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง (จุด Check Point) และปลายทาง ตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถในระบบขนส่งสาธารณะ แอลกอฮอลต้องเป็น “ศูนย์” ต้องไม่มีการเจ็บป่วย มีไข้ หรืออ่อนล้า ควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ผ่านระบบ GPS เช่น การใช้ความเร็ว ชั่วโมงการทำงาน รถโดยสารไม่ประจำทาง ที่วิ่งตั้งแต่ 400 กม. ขึ้นไป ต้องมีคนขับรถ 2 คนขึ้นไป การกำหนดเส้นทางจุดเสี่ยง (Zoning) ห้ามรถโดยสารไม่ประจำทาง 2 ชั้น เข้าใช้เส้นทาง เบื้องต้นจะกำหนด 7 จุดเสี่ยง พร้อมทั้งดูแลความความปลอดภัย ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร และรถสถานีรถไฟ โดยขอให้ผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสาร และรถบรรทุก ผู้ประกอบการรถร่วม และพนักงานขับรถต้องดำเนินการตามมาตรการด้านความปลอดภัยทุกด้านอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันมอบความสะดวก ความปลอดภัย และความประทับใจในการเดินทางให้แก่ประชาชนในเทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้
สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม คาดการณ์ปริมาณการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 (วันที่ 11-17 เมษายน 2568 รวม 7 วัน) จะมีปริมาณผู้โดยสาร 2.52 ล้านคน-เที่ยว แบ่งเป็นเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ (บขส.) จำนวน 993,188 คน การเดินทางทางอากาศ จำนวน 770,198 คน เดินทางโดยระบบรางรถไฟระหว่างเมือง จำนวน 757,292 คน จึงได้กำชับให้ ขบ. และ บขส. จัดการเดินรถในเส้นทาง และรถเสริมทุกเส้นทางตลอดวัน ซึ่งรถโดยสารทั้งหมดต้องได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย และให้มีการบังคับใช้กฎหมายสูงสุดทันที อำนวยความสะดวกจัดจุดบริการรถ ขสมก. รับ-ส่ง บริการประชาชน รวมทั้ง Shuttle Bus บริการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต MRT สวนจตุจักร ในส่วนของการดำเนินการ ณ จุดตรวจ Check Point และ Rest Area ต้องมีความครอบคลุมทั้งที่อยู่ในสถานี และนอกสถานีขนส่ง โดยให้สอดคล้องกับจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ และความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารแต่ละคันตลอดเส้นทาง ควบคู่กับการรณรงค์ด้านความปลอดภัยบนรถโดยสาร เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย แนะนำการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยให้มีการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ทั้งบริเวณพื้นที่สถานี และบนรถโดยสารทุกคัน
ส่วนของการเดินทางในระบบราง จากการคาดการณ์จะมีประชาชนเดินทางด้วยระบบรางในเทศกาลสงกรานต์รวมประมาณ 9 ล้านคน-เที่ยว แบ่งเป็นรถไฟฟ้า 8,222,414 คน-เที่ยว และรถไฟระหว่างเมือง 757,292 คน-เที่ยว ได้มีการเตรียมพร้อมพ่วงตู้โดยสารเพิ่ม 2-3 ตู้ไปกับขบวนรถปกติ หรือพ่วงเต็มหน่วยลากจูงในขบวนรถไฟเสริมที่มีการเดินทางหนาแน่น รวมถึงจัดเดินขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร 5 เส้นทาง 26 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี ศิลาอาสน์ และยะลา (สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 15,000 คน-เที่ยว) ในส่วนของของระบบรถไฟฟ้าเพิ่มความถี่ในการให้บริการโดยเฉพาะช่วงเร่งด่วนในตอนเย็นของวันที่ 11 และ 12 เมษายน 2568 และช่วงเร่งด่วนในตอนเช้าของวันที่ 17 และ 18 เมษายน 2568 ซึ่งคาดว่าเพียงพอต่อความต้องการเดินทางประชาชน พร้อมตรวจตราความปลอดภัยบริเวณสถานี เฝ้าระวังจุดตัดรถไฟ และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงร่วมกับภาคีส่วนท้องถิ่น
จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 กรมการขนส่งทางบกให้ความสำคัญกับมาตรการด้านความปลอดภัยสูงสุด โดยได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจความพร้อมของสภาพตัวรถโดยสารที่จะนำมาให้บริการ ณ สถานประกอบการ และกำชับผู้ประกอบการเข้มงวดการปฏิบัติหน้าที่ของ TSM และรายงานการตรวจความพร้อมของตัวรถ และพนักงานขับรถก่อนออกเดินทางผ่านระบบ “เชคชัวร์ ready to go” และระหว่าง 11-17 เมษายน 2568 จะมีการตรวจสอบความพร้อมรถโดยสาร และพนักงานขับรถตาม Checklist ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร และจุดจอด รวม 169 จุด Rest Area 13 จังหวัด 16 จุด และ Checking Point 26 จังหวัด 28 จุด ทั่วประเทศ อาทิ ความพร้อมของระบบ GPS ในการติดตามรถตลอดการเดินทาง ความถูกต้องของใบอนุญาตขับรถของพนักงานขับรถทุกคน ชั่วโมงการทำงานขับรถต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถขับติดต่อได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง หยุดพักไม่น้อยกว่า 30 นาที และขับต่ออีกได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง หรือมีพนักงานขับรถอย่างน้อย 2 คน โดยเฉพาะรถโดยสารไม่ประจำทางที่นำมาเสริมในเส้นทางที่มีแผนการเดินทางระยะทางเกินกว่า 400 กม. ขึ้นไป ต้องมีพนักงานขับรถ 2 คนขึ้นไป และชั่วโมงการทำงานขับรถต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ได้กำหนดเส้นทางจุดเสี่ยง (Zoning) ห้ามรถโดยสารไม่ประจำทาง 2 ชั้น เข้าใช้เส้นทาง โดยเบื้องต้นได้บูรณาการร่วมกับกรมทางหลวง เพื่อกำหนดจุดที่มีความเสี่ยงสูง พิจารณาจากถนนทางหลวงที่มีความลาดชันตั้งแต่ 8 % ขึ้นไป เส้นทางมีความยาวตั้งแต่ 5 กม. มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเบื้องต้นจะกำหนด 7 จุดเสี่ยง คือ จังหวัดปราจีนบุรี ทางหลวงหมายเลข 304 สี่แยกกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว จังหวัดพัทลุง ทางหลวงหมายเลข 4 เขาพับผ้า-พัทลุง จังหวัดแพร่ ทางหลวงหมายเลข 103 แม่ยางฮ่อ-แม่ตีบ จังหวัดเชียงใหม่ ทางหลวงหมายเลข 118 เชียงใหม่-ดอยนางแก้ว จังหวัดเลย ทางหลวงหมายเลข 2013 บ่อโพธิ์-โคกงาม จังหวัดเพชรบูรณ์ ทางหลวงหมายเลข 2331 โจ๊ะโหวะ-อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดน่าน ทางหลวงหมายเลข 1256 ปัว-อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โดยกรมการขนส่งทางบกจะตรวจสอบผ่านระบบ GPS เมื่อพบรถโดยสารไม่ประจำทาง ฝ่าฝืนเข้าเส้นทางดังกล่าว จะดำเนินการออกหนังสือเรียกตัว แจ้งการกระทำผิดกับผู้ประกอบการ และพนักงานขับรถ ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
ชัชวาล พรอมรธรรม กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กล่าวว่า บขส. ได้เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย รองรับการเดินทางประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2568 รวม 9 วัน โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นจากเทศกาลสงกรานต์ 2567 ประมาณ 15 % ซึ่งได้เตรียมรถเสริม ซึ่งเป็นรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถทะเบียน 30) ประมาณ 700-1,000 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารให้เพียงพอต่อความต้องการในการเดินทางทั้งเที่ยวไป และกลับ โดยไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง นอกจากนี้ ยังจัดจุดบริการรถเมล์ ขสมก. บริการรับ-ส่งประชาชนภายในสถานีขนส่งฯ หมอชิต 2 จำนวน 15 เส้นทาง และในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ขสมก. ได้จัดรถ Shuttle Bus บริการเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งฯ หมอชิต 2, สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต และ MRT สวนจตุจักร ช่วงเวลา 04.00-22.00 น. (ช่วงเวลา 04.00-08.00 น. รถออกทุก 15 นาที) เพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ตลอดจนมาตรการด้านความปลอดภัยทั้งสถานีขนส่งผู้โดยสาร ได้ประสานขอความร่วมมือตำรวจ ทหาร เข้ามาอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัย รวมถึงตรวจสอบสภาพรถโดยสาร และพนักงานขับรถ จะต้องมีความพร้อมก่อนให้บริการ มีอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้
