เรื่องเด่น Quattroruote
PEUGEOT E-3008
แนวทางใหม่สู่รถยนต์ไฟฟ้า
รูปแบบตัวถังภายนอก คือ การผสมผสานระหว่างสไตล์ของมีนีแวน และเอสยูวี ขณะที่ภายในห้องโดยสารมีการออกแบบที่แปลกตาอย่างมีเอกลักษณ์ นั่นคือ จุดเปลี่ยนในเบื้องต้นที่เรามองเห็น 3008 รุ่นล่าสุด มีเส้นสายที่โฉบเฉี่ยว ผสมผสานความปราดเปรียวแบบสปอร์ทคูเป มาพร้อมกับแผงหน้าปัดแบบ I-COCKPIT กลมกลืนกับห้องโดยสารที่มีการออกแบบได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แทนที่รูปแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคยกันมา นับเป็นจุดเด่นด้านการออกแบบที่ค่าย PEUGEOT ทำได้อย่างน่าพอใจ ผสมผสานความทันสมัยอย่างลงตัว (รวมถึงระบบใช้งานแบบ AI)
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของรถยนต์รุ่นนี้ คือ โครงสร้างตัวถังที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่สำหรับรถยนต์ขนาดกลาง และถูกนำมาใช้งานในรถยนต์หลายรุ่นของกลุ่มค่ายรถจาก STELLANTIS (สเตลแลนทิส) เน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าตามสมัยนิยม รวมถึงรถที่ใช้เครื่องยนต์ประเภทอื่นๆ เพื่อความหลากหลายของการทำตลาดที่ยอดจำหน่ายยังคงมีความสำคัญ ไม่แพ้การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยควบคู่กัน ในกรณีของรถยนต์ไฟฟ้า กับยอดจำหน่ายโดยรวมที่มีอัตราส่วนอยู่ในช่วงของการเติบโตในภูมิภาคยุโรป การพัฒนารถยนต์ที่มีขุมพลังหลากหลายอย่างระบบไฮบริดก็ยังมีความจำเป็นเช่นกัน ดังนี้แล้ว PEUGEOT E-3008 (เปอโฌต์ อี-3008) จึงยังคงมีทางเลือกของเครื่องยนต์ระบบไฮบริดด้วย (นำเสนอในหน้าถัดไป) ซึ่งเราคาดหมายว่าจะเป็นรุ่นย่อยที่สร้างยอดจำหน่ายได้มากที่สุดให้แก่ค่ายรถแห่งนี้ และมีความน่าสนใจมากที่สุดเช่นกัน อย่างน้อยก็ในช่วงเวลา 2-3 ปีจากนี้ ระบบไฮบริดจึงยังน่าสนใจเสมอมา โดยรุ่นย่อยที่ใช้ระบบดังกล่าวจะไม่มีตัวอักษร E นำหน้า
ถึงอย่างนั้น รุ่นย่อยที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าก็มีจุดเด่นอีกหลายประการเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้า รวมถึงค่าใช้จ่ายของการชาร์จไฟฟ้าที่ยังต่ำกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง ตัวถังถูกออกแบบให้มีหลักอากาศพลศาสตร์ที่ดี กับตัวเลขอัตราการลู่ลมที่ 0.28 เท่านั้น แม้ตัวเลขของอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าจะยังไม่ได้ถูกประเมินออกมาโดยตรง ทางทีมงานของเราจะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มาทดสอบเต็มตัวในภายหลัง รถยนต์ไฟฟ้าของ PEUGEOT จำหน่ายเต็มตัวแล้วในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางผู้ผลิตระบุว่าระยะทำการสูงสุดของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ คือ 512 กม. เมื่อชาร์จเต็ม (ภายใต้แบทเตอรีความจุ 73 กิโลวัตต์ชั่วโมง) แม้ระยะทำการสูงสุดจะไม่มากมายอะไรจากการรับรู้ข้อมูลในทีแรก แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ทีมงานของเราหลังจากเห็นตัวเลขที่แสดงผลบนแผงหน้าปัด คือ ระยะทำการที่ 350 กม. ภายใต้แบทเตอรีที่ 70 % ถือว่าน่าพอใจไม่น้อยเลยทีเดียว
รูปแบบใหม่ของหน้าปัด I-COCKPIT
เมื่อเข้ามานั่งในห้องโดยสาร เราได้พบกับความน่าตื่นตาตื่นใจของการออกแบบโดยทันที จุดเด่นอย่างแรก คือ จอแสดงผลหลักขนาดใหญ่ถึง 21 นิ้ว ติดตั้งเป็นแนวยาวบนแผงคอนโซลหน้า ภายใต้การออกแบบที่มีเอกลักษณ์ของค่ายรถสัญชาติฝรั่งเศสแห่งนี้ ตำแหน่งของแผงหน้าปัดจะอยู่ค่อนข้างสูงขึ้นมาจากระดับสายตาของผู้โดยสาร พวงมาลัยที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก และทำมุมในแนวตั้ง ตำแหน่งการติดตั้งก็อยู่ต่ำลงมามากกว่ารถยนต์หลายรุ่น ปุ่มใช้งานต่างๆ ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ แตกต่างจากในอดีตที่มีการใช้งานที่ซับซ้อน เมื่อผู้ขับปรับตำแหน่งเบาะนั่งได้อย่างเหมาะสมแล้ว เราพบว่าการแสดงผลบนหน้าจอ และแผงหน้าปัด สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และทำความเข้าใจได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งของหน้าจอค่อนข้างใกล้กับผู้ขับเล็กน้อย และการผ่านข้อมูลที่แสดงผลบนหน้าจอในบางครั้งต้องทำความคุ้นเคยพอสมควร ต่างจากหน้าจอของรุ่นก่อนหน้านี้ที่จะแสดงผลแบบซ้อนกัน
สิ่งที่พบจากการเป็นรถยนต์ไฟฟ้ายุคปัจจุบัน คือ การลดจำนวนปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมออกไป แต่สำหรับ PEUGEOT การออกแบบกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม (นับเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ) หรือทำได้ใกล้เคียงกับแนวคิดดังกล่าว แต่อย่าได้คิดว่าระบบใช้งานจะล้าสมัย เราพบว่าระบบความบันเทิงถูกออกแบบได้อย่างทันสมัย เหมาะกับการใช้งานในปัจจุบันได้อย่างครบถ้วน การออกแบบดังกล่าวช่วยให้ผู้ขับไม่จำเป็นต้องควบคุมระบบใช้งานต่างๆ ผ่านหน้าจอ การออกแบบที่ชาญฉลาดมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก ปุ่มใช้งานที่อยู่ด้านล่างของหน้าจอหลักมีขนาดใหญ่ ใช้งานได้สะดวก ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลาย และทำความเข้าใจได้ง่าย ผู้ใช้งานสามารถเลื่อนคำสั่งการใช้งานได้สะดวก แม้ในขณะขับรถก็ตาม การใช้งานโดยรวมมีความเรียบง่าย ลงตัวสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างครบถ้วน รวมถึงการปรับทิศทางของกระจกมองข้างก็ยังใช้งานผ่านปุ่มแบบดั้งเดิม เป็นความเหมาะสมที่ควรจะเป็นเสมอมา ตำแหน่งการติดตั้งบนแผงประตูด้านใน รวมถึงก้านของปุ่มใช้งานต่างๆ ถูกติดตั้งหลังพวงมาลัย สำหรับการใช้งานของการแสดงผล ระบบไฟส่องสว่าง และที่ปัดน้ำฝน
โครงสร้างตัวถังของรถยนต์ขนาดกลางช่วยให้ตัวถังมีความยาวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเอสยูวีรุ่นที่ 3 คันนี้ มีความยาวเพิ่มขึ้น 90 มม. ความกว้างเพิ่มขึ้น 60 มม. และระยะฐานล้อเพิ่มขึ้น 50 มม. แต่ไม่ส่งผลโดยตรงกับพื้นที่ห้องโดยสารเสียทีเดียว ทีมงานของเราพบว่า พื้นที่ใช้งานโดยรวมของห้องโดยสารไม่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้มากนัก แม้ตามสเปคแล้วพื้นที่โดยรวมมีความแตกต่างกันเล็กน้อยก็ตาม พื้นที่ของผู้โดยสารบนเบาะด้านหลังก็เพิ่มขึ้นเช่นกันตามสเปคจากผู้ผลิต ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มีพื้นที่ห้องโดยสารที่น่าพอใจไม่น้อย เรานึกถึงรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ เช่น HYUNDAI IONIQ 5 (ฮันเด ไอโอนิก 5) และ VOLKSWAGEN ID.5 (โฟล์คสวาเกน ไอดี.5) และยังรวมไปถึง TESLA MODEL 3 (เทสลา โมเดล 3) โดยรายละเอียดของคู่แข่งแต่ละรุ่น รวมถึงจุดแข็ง และจุดอ่อนแต่ละหัวข้อ เรานำมาแจกแจงในหน้าถัดๆ ไป หากเทียบกันในหัวข้อพื้นที่เก็บสัมภาระ จะพบว่าทาง 3008 ทำได้ดีไม่แพ้คู่แข่งรายอื่นๆ พื้นที่เหนือศีรษะที่ทำได้น่าพอใจเกินคาด ข้อมูลจากการทดลองขับของเรากับความจุของที่เก็บสัมภาระ คือ 428 ลิตร (เทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ทำได้ที่ 450 ลิตร)
การเดินทางที่สะดวกสบาย
ในแง่การขับขี่บนท้องถนนของ E-3008 ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล และผ่อนคลายดีมาก กำลังสูงสุด 213 แรงม้า จากมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้มีอัตราเร่งที่ฉับไว และไหลลื่นต่อเนื่อง ภายใต้แรงบิดสูงสุดที่ 35.2 กก.-ม. ทำให้การเร่งแซงทำได้ง่ายดาย หากต้องเลือกจุดเด่นที่แท้จริงของรถยนต์รุ่นนี้มาหนึ่งข้อ เราขอเลือกเรื่องความสะดวกสบายมากเป็นลำดับแรก แม้จะยังไม่ได้ประเมินผลออกมาเป็นตัวเลขเหมือนการทดสอบเต็มตัว (การทดสอบจะมีขึ้นเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน) แต่เราพิจารณาจากการปรับแต่งระบบรองรับทั้งด้านหน้า และด้านหลัง รวมถึงเสียงจากยางขนาด 20 นิ้ว เมื่อตัวรถกำลังแล่นอยู่ รวมถึงเสียงลมปะทะจากตัวถังที่ลู่ลมของรถรุ่นนี้ ผลลัพธ์ของระดับเสียงรบกวนยังถือว่าต่ำมาก รถคันนี้มีความสวยงามลงตัว ทางทีมงานของเรามีความเห็นว่า รถคันนี้ดูสวยงามเกินคาด ขนาดที่ไม่กล้าจะจอดเอาไว้นอกบ้านเลยทีเดียว การขับขี่ในเบื้องต้นเราใช้โหมดปกติ นั่นคือ โหมด G สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ การตอบสนองของพวงมาลัยมีน้ำหนักที่เบาะแรงอย่างเหมาะสม พร้อมหักเลี้ยวได้ตามความต้องการของผู้ขับ โดยเฉพาะบนพื้นผิวถนนเรียบ แต่ในแง่ความเฉียบคมของการหักเลี้ยวอาจยังไม่มากพอ ความรู้สึกในเบื้องต้น ถือว่ารถยนต์รุ่นนี้มีการตอบสนองที่ลงตัวอย่างน่าพอใจ ส่วนในรายละเอียด เราจะนำมาทดสอบในภายหลัง
การใช้งานที่เรียบง่าย
แม้การออกแบบห้องโดยสารจะมีรูปแบบที่แปลกตา แต่ทางผู้พัฒนารถยนต์รุ่นนี้ก็ยังคำนึงถึงการใช้งานที่ลงตัวเป็นอย่างดี เห็นได้จาก ปุ่มสำหรับเลือกโหมดเกียร์ (ตามภาพด้านข้าง) บริเวณใกล้กับพวงมาลัย และถัดจากปุ่มสตาร์ทระบบไฟฟ้า ต่างก็อยู่ในระยะเอื้อมมือถึงได้ง่ายดาย ถัดไปทางฝั่งขวามือ เป็นกลุ่มของปุ่มลัดแบบสัมผัสสำหรับการใช้งานระบบต่างๆ สามารถตั้งค่าได้อย่างหลากหลาย รวมถึงการใช้งานกับระบบความบันเทิง ด้านล่างจากฝั่งซ้ายมือ เป็นที่เก็บของบริเวณคอนโซลเกียร์ตรงกลาง ต้องปลดลอคฝาปิดด้านบนออกก่อน ซึ่งอาจจะไม่สะดวกนักสำหรับการใช้งานขณะขับรถ ปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิม (มีขนาดเล็กเกินไปเล็กน้อย) สำหรับใช้งานระบบความอุ่นให้กับชุดกระจกหน้า และกระจกบานท้าย ระบบหมึนเวียนอากาศในห้องโดยสาร และการใช้งานระบบปรับอากาศ
ปรับการโอบกระชับสรีระได้
หากเลือกออพชันเสริม นั่นคือ เบาะนั่งหุ้มด้วยชุดหนังชั้นดี คุณภาพสูง เบาะคู่หน้าแบบปรับทิศทางด้วยไฟฟ้า ระบบทำความอุ่นตัวเบาะ (รวมถีงเบาะด้านหลัง) ระบบระบายความร้อนเบาะ พร้อมระบบนวดในตัว และระบบปรับระดับการรองรับสรีระด้านข้างของผู้โดยสารด้านหน้า สามารถปรับความนูน หรือลดระดับลงมาเพื่อให้รองรับสรีระได้เหมาะสมยิ่งขึ้น และปรับระดับความอุ่นของตัวเบาะได้ พร้อมช่องต่อไฟฟ้าแบบ USB หรือ 12 โวล์ท
ทางเลือกขุมพลังไฮบริด
3008 มีทางเลือกของขุมพลังอย่างหลากหลาย รวมถึงระบบไฮบริด มีชื่อรุ่นว่า HYBRID E-DCS6 ประกอบด้วยเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 1.2 ลิตร (ตามรูปซ้ายมือ) และมอเตอร์ไฟฟ้าที่ประกบกับชุดเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 6 จังหวะ มีกำลังสูงสุดที่ 136 แรงม้า และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ 18.2 กม./ลิตร กับราคาที่ 38,700 ยูโร ในรุ่น ALLURE และราคา 43,200 ยูโร ในรุ่น GT ทำให้มีราคาย่อมเยากว่ารุ่นรถยนต์ไฟฟ้าที่ 11,580 ยูโร มีจุดที่น่าสนใจ คือ ทางผู้ผลิตระบุว่า ระยะทางของการซ่อมบำรุงครั้งแรกของเครื่องยนต์ทั้ง 2 รูปแบบ คือ 25,000 กม. แต่ในแง่ของระยะเวลากลับต่างกัน โดยรุ่นรถยนต์ไฟฟ้ากำหนดให้เข้าศูนย์ที่ 2 ปีต่อครั้งเป็นอย่างน้อย แต่รุ่นไฮบริด คือ 1 ปีต่อครั้ง
การออกแบบเพื่ออากาศพลศาสตร์
ทีมงานผู้ออกแบบรถยนต์รุ่นนี้ นำโดย MATTIAS HOSSANN มีการออกแบบที่น่าสนใจหลายจุด โดยไม่ละเลยฟังค์ชันการใช้งานที่ลงตัวเช่นกัน เห็นได้จาก ส่วนของสปอยเลอร์ท้าย และล้อแมกขนาด 20 นิ้ว มีรูปแบบที่ปิดทึบ ต่างจากรถรุ่นอื่นๆ ที่จะมีลวดลายเป็นก้าน ช่วยให้อากาศพลศาสตร์บริเวณดังกล่าวดีขึ้นด้วย ภาพด้านล่างทางซ้ายมือ เป็นรูปแบบอันซับซ้อนของกระจังหน้า ลวดลายบริเวณดังกล่าวจะดูใหญ่ขึ้นหากเลื่อนการมองถัดมาจากโลโกตรงกลาง มุมมองจากตรงกลางก็ให้รูปแบบที่แปลกตาอย่างน่าสนใจ และเป็นรูปแบบที่ถูกใช้รถยนต์ของ PEUGEOT หลายรุ่นในปัจจุบัน รูปแบบของชุดไฟท้ายแบบ แอลอีดี เล่นมุมได้อย่างสวยงาม (ภาพด้านล่างฝั่งขวามือ) มีรูปทรงที่ดูคล้ายกับเขี้ยวเล็บของสิงโตนั่นเชียว
รุ่น GT
ข้อมูลจากผู้ผลิต
มอเตอร์ไฟฟ้า
วางด้านหน้า แบบแม่เหล็กไฟฟ้า
กำลังสูงสุด
157 กิโลวัตต์/213 แรงม้า
แรงบิดสูงสุด
345 นิวตัน-เมตร/35.2 กก.-ม.
แบทเตอรี
ลิเธียม-ไอออน ความจุ 73.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง
การชาร์จไฟฟ้า
แบบ AC 11 กิโลวัตต์/DC 160 กิโลวัตต์
ระบบขับเคลื่อน
แบบ 2 ล้อหน้า
ระบบส่งกำลัง
ระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดคงที่
สมรรถนะ
ความเร็วสูงสุด 170 กม./ชม. (ถูกจำกัดโดยผู้ผลิต)
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 8.8 วินาที
อัตราสิ้นเปลืองพลังงาน
5.7 กม./กิโลวัตต์ชั่วโมง
ระยะทำการสูงสุด
512 กม.
มิติตัวถัง และน้ำหนัก
ระยะฐานล้อ 2,740 มม.
ความยาว 4,540 มม. กว้าง 1,900 มม. สูง 1,640 มม.
น้ำหนัก
2,108 กก.
ราคา
54,780 ยูโร (ประมาณ 2,123,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
หากตัวถังแบบเอสยูวีกำลังมาแทนที่แบบคูเป
โลโกของ PEUGEOT
ท่ามกลางประวัติศาสตร์อันยาวนานของค่ายรถแห่งนี้ โลโกถูกปรับเปลี่ยนมาหลายครั้งแล้ว โดยเวอร์ชันล่าสุด ถูกใช้งานตั้งแต่ปี 2021 กับการกลับมาใช้งานรูปหัวสิงโตในโล่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เคยถูกใช้งานในปี 1960
3008
รุ่นที่ 1 (ปี 2009)
เส้นสายมีความเรียบง่าย มีความลงตัวพอสมควร ต่อมาถูกปรับโฉมเล็กน้อย (ในปี 2013) ได้รับการตอบรับที่ยอดเยี่ยมขณะทำตลาด
3008
รุ่นที่ 2 (ปี 2016)
เส้นสายมีความสวยงามลงตัวมากกว่าเดิม ก่อนการเริ่มทำตลาดอย่างเป็นทางการในเวลานั้น ได้รับยอดสั่งจองสูงถึง 100,000 คันเลยทีเดียว โดยกว่าครึ่งหนึ่งของยอดจอง คือ ลูกค้าที่ไม่เคยครอบครองรถของ PEUGEOT มาก่อน
3008
รุ่นปรับโฉม (2020)
การปรับโฉมให้กระจังหน้ามีรูปแบบคล้าย “เขี้ยวสิงโต” เป็นรูปแบบจากรุ่น 208 และ 508 เป็นรูปทรงแบบใหม่ของตัวถังจากค่ายรถแห่งนี้
E-3008
รุ่นที่ 3 (ปี 2024)
3008 รุ่นล่าสุดมีจุดเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ประการแรก คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบตัวถังเป็นแบบ เอสยูวี-คูเป มิติตัวถังมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีเส้นสายที่เน้นสันเหลี่ยมมากขึ้น แทนที่รูปทรงที่เน้นความอ่อนช้อยแบบรุ่นก่อนหน้านี้ มีทางเลือกสีตัวถังแบบทูโทน พร้อมหลังคาสีดำ แต่จุดที่น่าสนใจ คือ การออกแบบระยะโอเวอร์แฮงที่กระชับสั้นของรถยนต์รุ่นนี้ โดยมีระยะของด้านหน้า และด้านหลังใกล้เคียงกัน พร้อมลายของล้อแมกที่สวยไม่เบา !
“การออกแบบโดยรวมของรุ่นล่าสุด เน้นเส้นสายที่มีความสปอร์ทมากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ มาพร้อมการออกแบบห้องโดยสารที่น่าตื่นตาตื่นใจ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า คงเป็นการยากที่รถรุ่นล่าสุดจะประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามเหมือนรุ่นที่ 2 ของสายพันธุ์ ซึ่งได้รับรางวัล CAR OF THE YEAR ของปี 2017 มาแล้ว”
E-3008
รายละเอียดด้านห้องโดยสารของรุ่นรถยนต์ไฟฟ้า คือ สิ่งที่เห็น และคุ้นกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอขนาด 21 นิ้ว ติดตั้งแบบลอยตัวได้อย่างน่าสนใจ แตกต่างจากจอแสดงผลทั่วไปที่จะติดตั้งตรงกลาง คอนโสลดเกียร์มีการออกแบบที่ลงตัวเช่นกัน การปราศจากคันเกียร์แบบดั้งเดิม มีการออกแบบในแนวตั้ง วัสดุตกแต่งแบบโครเมียมเป็นอลูมิเนียมชั้นดี มีความสวยลงตัวดีมาก !
E-3008
รูปทรงของไฟด้านหน้ามีความสยงามกว่าเดิม ยังคงมีไฟในแนวตั้งดูคล้ายเขี้ยวของสิงโต มีรูปทรงที่มีสไตล์ยิ่งขึ้น และลงตัวกว่าเดิม เส้นสายบริเวณส่วนท้ายของตัวรถเพิ่มความปราดเปรียวอย่างได้ผล สันเหลี่ยมตัดกันกับ “สันเหลี่ยมในแนวนอน” อย่างเข้ากัน ขณะที่บริเวณที่ติดตั้งแผ่นป้ายทะเบียนแลดูค่อนข้างหนา และมีน้ำหนักอย่างชัดเจน
E-3008
กระจังหน้ามีรูปทรงที่ซับซ้อน ใช้สีเดียวกับตัวถัง โดดเด่นด้วยโลโกของ PEUGEOT ตรงกลาง เสริมความแปลกตาด้วยองค์ประกอบที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น ไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ แอลอีดี จากชุดไฟในแนวตั้งดูคล้ายรอยข่วนของกรงเล็บสิงโต ช่องรับอากาศด้านล่างมีขนาดใหญ่ คล้ายกับรุ่นก่อนหน้านี้ เป็นส่วนที่ใช้ร่วมกับรุ่นเครื่องยนต์ไฮบริด ไฟส่องสว่างด้านหน้ามีขนาดเล็กมาก และยังสวยลงตัวอีกด้วย