ทดสอบ(formula)
MERCEDES-EQ EQE 350 4MATIC SUV ELECTRIC ART รถยนต์ไฟฟ้าที่หรู สบาย ล้ำสมัย
ค่ายดาว 3 แฉกทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ MERCEDES-EQ (เมร์เซเดส-อีคิว) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงในบ้านเรา หนึ่งในนั้น คือ รถยนต์สไตล์เอสยูวีขนาดใหญ่ นั่นคือ EQE 350 SUV (อีคิวอี 350 เอสยูวี) กับรุ่นย่อยที่หลากหลายแม้เป็นรถยนต์นำเข้าทั้งคัน รุ่นที่เรามาทดสอบครั้งนี้ คือ รุ่นย่อยเริ่มต้น ELECTRIC ART (อีเลคทริค อาร์ท) เส้นสายมีความเรียบง่าย แต่พละกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าเท่ากันทุกรุ่นย่อย มาดูการทดสอบกันเลย
EXTERIOR ภายนอก
รถยนต์ไฟฟ้าภายใต้บแรนด์ MERCEDES-EQ จะถูกพัฒนาเป็นเอกเทศจากรถยนต์ของค่ายหลักอย่าง MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) รวมถึงเส้นสาย และองค์ประกอบของตัวถังภายนอก ดังนี้แล้ว EQE 350 SUV จึงมีเส้นสายที่มีเอกลักษณ์ ไม่มีส่วนใดถูกใช้งานร่วมกับเอสยูวีร่วมค่ายอย่าง GLE (จีแอลอี) แม้แต่นิดเดียว สิ่งที่ยังดูคุ้นตา คือ รูปทรงในแบบฉบับของ EQ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนหน้ารถที่ปิดทึบ รวมถึงส่วนกระจังหน้าที่ใช้วัสดุที่มีลวดลายดาว 3 แฉก และมีความต่อเนื่องกับชุดไฟหน้า ส่วนกันชนเน้นสันเหลี่ยมที่พอเหมาะ ช่องรับอากาศตรงกลางด้านล่างสำหรับชุดมอเตอร์ไฟฟ้า รุ่นย่อย ELECTRIC ART จะติดตั้งล้อแมกขนาด 20 นิ้ว มีฝาปิดด้านนอกเพื่อลดอากาศหมุนวนขณะแล่น เส้นสายโดยรวมเน้นความเรียบหรู ทันสมัย ตามแบบฉบับรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ มือเปิดประตูแบบเรียบเสมอกับประตู (จะยกตัวขึ้นมาเมื่อปลดลอค หรือเข้าไปใกล้พร้อมกุญแจ) อย่างไรก็ตาม การเป็นรุ่นย่อยแบบเริ่มต้นทำให้บางออพชันไม่ถูกติดตั้งเข้าม เช่น ชุดราวหลังคา รวมถึงกระชนท้ายที่มีรูปทรงไม่โดดเด่นมากนัก อย่างไรก็ตาม ไฟท้ายที่พาดตลอดช่วงความกว้างของตัวรถช่วยเพิ่มความทันสมัยได้ไม่น้อย
INTERIOR ภายใน
ห้องโดยสารของ MERCEDES-EQ EQE 350 4MATIC SUV ELECTRIC ART ถูกออกแบบให้มีความล้ำสมัยอย่างที่สุด สมกับการเป็นรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ โดดเด่นด้วยหน้าจอดิจิทอลพาดยาวตลอดช่วงความกว้างของคอนโซลหน้า ทุกส่วนสามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอสำหรับผู้โดยสารข้างผู้ขับ ใช้งานได้หลากหลาย (และจะใช้งานได้เมื่อมีผู้โดยสารนั่งบนเบาะเท่านั้น) ตรงกลางเป็นหน้าจอขนาดใหญ่ สำหรับการแสดงผลหลัก รวมถึงจอดิจิทอลหน้าผู้ขับ ทำหน้าที่เป็นมาตรวัด และการแสดงผลของระบบต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลาย (แม้จอส่วนหน้าปัดจะทำมุมเงยมากไปเล็กน้อย สำหรับการมองโดยผู้ขับ) จุดที่น่าพอใจ คือ ความคมชัดของหน้าจอมีความน่าพอใจในทุกส่วน สีสันสดใส ความละเอียดสูง และการตอบสนองที่ทำได้ดีมาก ผนวกกับระบบใช้งาน MBUX รุ่นล่าสุด มีการทำงานกับระบบ AI ที่ชาญฉลาด รวมถึงสามารถบันทึกข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคนได้ แม้ในช่วงแรกต้องทำความคุ้นเคยเล็กน้อย แต่หากใช้งานได้คล่องแล้ว ช่วยให้การใช้งานโดยรวมมีความสะดวกสบายไม่น้อย
ในส่วนของความกว้างขวางของห้องโดยสาร เราพบว่าเบาะนั่งคู่หน้ามีความกว้างขวางดีมาก ตัวเบาะมีขนาดใหญ่ พื้นที่โดยรวมทำได้น่าพอใจมาก ข้อดีของการเป็นเอสยูวี คือ ทัศนวิสัยโดยรอบผู้โดยสารมีความปลอดโปร่ง ทั้งจากกระจกด้านหน้า และกระจกหน้าต่าง ระยะเหนือศีรษะมีให้เหลือเฟือ ตำแหน่งของพวงมาลัยมีความเหมาะสม จัดเป็นรถยนต์ที่ลงตัวสำหรับการขับขี่อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม รูปทรงของตัวรถที่เน้นความปราดเปรียว ส่วนหลังคาที่ลาดเท ผสมความ สปอร์ทในตัวทำให้พื้นที่ของเบาะหลังค่อนข้างจำกัดเล็กน้อย แม้ยังคงนั่งได้สบาย ระยะช่วงขามีให้พอสมควร แต่ยังห่างไกลกับเอสยูวีร่วมค่ายอย่าง MERCEDES-BENZ GLE รุ่นล่าสุด (มีขนาดใหญ่ระดับติดตั้งเบาะนั่ง 3 แถว 7 ตำแหน่งได้) และไม่สามารถเอนพนักพิงเบาะหลังได้ เราคิดว่า รถยนต์ไฟฟ้าสายพันธุ์ EQ ยังคงเน้นการขับขี่ด้วยตนเอง
ENGINE เครื่องยนต์
MERCEDES-EQ EQE 350 SUV ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด กำลังสูงสุดทั้งระบบที่ 292 แรงม้า ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา (แต่เราพบว่า การขับเคลื่อนส่วนใหญ่จะมาจากล้อคู่หลังเป็นหลัก แต่ในบางกรณี เช่น การกดคันเร่งสุดเพื่อเรียกอัตราเร่ง ล้อคู่หน้าจะเริ่มขับเคลื่อนด้วย) คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ อีกหนึ่งรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์เอสยูวีจากค่ายคู่แข่ง นั่นคือ BMW IX XDRIVE 40 (บีเอมดับเบิลยู ไอเอกซ์ เอกซ์ดไรฟ 40) มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด และขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาเช่นกัน กำลังสูงสุดทั้งระบบที่ 326 แรงม้า มาดูอัตราเร่งกันเลย
เริ่มจากอัตราเร่งตีนต้น 0-100 กม./ชม. EQE 350 SUV ทำเวลาที่ 6.4 วินาที ขณะที่ IX XDRIVE 40 คือ 6.1 วินาที นับว่าสูสีกันมาก แม้ตัวเลขกำลังสูงสุดของแต่ละคันจะมีความแตกต่างกัน ถัดมาที่ความเร็วช่วงตีนปลายที่ระยะ 0-1,000 ม. เอสยูวีพลังไฟฟ้าของ MERCEDES-EQ ทำเวลาได้ที่ 36.9 วินาที (ที่ความเร็ว 195.6 กม./ชม.) ส่วนทาง BMW คือ 26.2 วินาที (ที่ความเร็ว 198.5 กม./ชม.) จะเห็นว่าความเร็วในช่วงตีนปลายของทาง BMW มีความได้เปรียบเล็กน้อย ผยวกกับพละกำลังที่มากกว่า แต่เอสยูวีของ MERCDDES-EQ ก็ไม่ได้ถูกทิ้งห่างแต่อย่างใด แม้วิ่งเป็นระยะทางยาวเช่นนี้
ส่วนอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. MERCEDES-EQ EQE 350 SUV ทำเวลาที่ 3.5 และ 4.5 วินาที ตามลำดับ ส่วนคู่แข่งอย่าง BMW IX XDRIVE 40 มีตัวเลขที่ 3.1 และ 4.0 วินาที อัตราเร่งในแต่ละส่วนแสดงให้เห็นว่า กำลังสูงสุดของแต่ละคันที่แตกต่างถูกบ่งบอกผ่านตัวเลขวัดสมรรถนะในแต่ละหัวข้ออย่างชัดเจน การขับขี่บนถนนจริงของ EQE 350 SUV เน้นการส่งกำลังที่ไหลลื่น ต่อเนื่อง แต่ขณะกดคันเร่งสุดขณะออกตัวก็ตาม เป็นการปรับแต่งของทางผู้ผลิตให้รถยนต์ไฟฟ้าคนนี้มีการขับขี่ที่สะดวกสบาย การหน่วงความเร็วขณะถอยเท้าจากคันเร่งมีไม่มากนัก (ขึ้นอยู่กับโหมดขับเคลื่อนที่ใช้ และโหมดการใช้งานของรบบไฟฟ้าด้วย) เราคิดว่าการขับขี่ภายใต้โหมด NORMAL ของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ทำได้เหมาะสมกับการเป็นรถยนต์ระดับหรู
ขณะที่ความจุของของแบทเตอรี ทาง MERCEDES-EQ EQE 350 SUV คือ 89.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง กับระยะทำการสูงสุดที่ 558 กม. เมื่อชาร์จเต็มที่ (มาตรฐาน WLTP) ส่วน BMW IX XDRIVE 40 มีความจุที่ 76.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุดที่ 425 กม. เมื่อชาร์จเต็มที่ (มาตรฐาน WLTP) จุดได้เปรียบของรถยนต์ไฟฟ้าจาก MERCEDES-EQ จึงอยู่ที่ระยะทำการที่มากกว่าคู่แข่ง (และยังรองรับการชาร์จไฟฟ้าแบบ DC สูงสุดที่ 170 กิโลวัตต์ ส่วนทาง BMW คือ 150 กิโลวัตต์) และรองรับการชาร์จไฟฟ้าได้มากกว่า ในแง่นี้แล้ว การชาร์จไฟฟ้าของทางรหัส EQ จึงมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ไม่ต้องชาร์จบ่อยเกินไป และใช้เวลาในการชาร์จไม่นาน (ขึ้นกับประสิทธิภาพของสถานีชาร์จไฟฟ้าด้วย)
SUSPENSION ระบบรองรับ
MERCEDES-EQ EQE 350 SUV ติดตั้งชุดแบทตอรีบริเวณด้านล่างของพื้นห้องโดยสาร นอกจากนี้การเป็นเอสยูวีหรู เน้นความนุ่มนวล สะดวกสบาย ระบบรองรับแบบเน้นความหนึบนุ่ม (มีเพียงรุ่นทอพ AMG DYNAMIC (เอเอมจี ไดนามิค) เท่านั้นที่ใช้ระบบรองรับแบบถุงลม) แต่ยังคงรองรับการขับช่วงความเร็วสูงได้ดี การเข้าโค้งอาจมีอาการโคลงเล็กน้อย แต่ยังควบคุมได้สบาย แม้ไม่ใช่เอสยูวีสไตล์สปอร์ทเต็มตัวเหมือนลหายรุ่น แต่ในแง่การใช้งานทั่วไป สามารถรองรับได้สบาย
ส่วนระยะเบรคที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. EQE 350 SUV มีตัวเลขที่ 15.1/26.1/40.9 ม. ตามลำดับ ส่วน IX XDRIVE 40 ทำได้ที่ 14.2/24.3/38.4 ม. แม้ความแตกต่างจะไม่มากเกินไป แต่ในแง่การเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่เน้นความนุ่มนวล ยังถือว่าทำได้ดีอย่างน่าพอใจตามมาตรฐานการทดสอบของเรา (ยางที่ใช้ คือ GOODYEAR EAGLE F1 (กูดเยียร์ อีเกิล เอฟ วัน) ขนาด 255/45 R20) ขนาดของล้อแมกก็มีส่วนสำคัญ เพราะทาง BMW IX ใช้ล้อแมกขนาดใหญ่ถึง 22 นิ้ว
รถยนต์ไฟฟ้าที่พร้อมเป็นอีกทางเลือก
บรรดาผู้ใช้งานรถยนต์ระดับหรู อาจมีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปอยู่ที่บ้านแล้ว (รวมถึงรถยนต์ไฮบริด) การมองหารถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานสักคัน อาจเป็นรถยนต์ที่ใช้งานเพิ่มเติมจากรถยนต์ที่มีอยู่ ดังนี้แล้ว การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ ควรมีความสะดวดกสบาย และความคุ้นเคยจากรถยนต์ที่ใช้งานอยู่เดิม เราคิดว่า MERCEDES-EQ EQE 350 SUV มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน ทั้งในเรื่องของความสะดวกสบาย ความกว้างขวางโดยรวม การใช้งานที่อเนกประสงค์แบบเอสยูวี ตลอดจนการขับขี่ลงตัว ใกล้เคียงกับรถยนต์ทั่วไป สามารถแล่นเป็นระยะทางไกล ไม่ต้องแวะชาร์จไฟฟ้าบ่อยเกินควร โดยไม่ลืมถึงคุณสมบัติที่รถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ควรมี นั่นคือ ความทันสมัยของการใช้งาน ออพชันที่ติดตั้งมาให้ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายดาว 3 แฉกรุ่นนี้ทำได้ดีเช่นกัน ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกรถยนต์ไฟฟ้าระดับหรูที่น่าสนใจ พร้อมทางเลือกรุ่นย่อยถึง 3 รุ่นด้วยกัน กับราคาที่ 4,850,000-5,650,000 บาท รุ่นย่อย ELECTRIC ART (ที่นำมาทดสอบในครั้งนี้) จึงเหมาะสมกับผู้ที่มีงบในระดับไม่เกิน 5 ล้านบาท